เมื่อภาพ.. ประกอบ…

สันติ ลอรัชวี
PS±D — PRACTICAL school of design 
ต.ค. 2023

ทศวรรษที่ผ่านมานี้ สังเกตได้ว่าความแพร่หลายของงานกลุ่ม illustration จะขยับขยายอย่างเด่นชัดในบ้านเรา เริ่มสังเกตได้จากการได้หัวข้อโครงการศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาศิลปะและการออกแบบ เหล่าแบรนด์สินค้าบริการและสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมเทศกาลต่างๆ หันมาใช้ illustration มากขึ้นอย่างสังเกตได้ รวมถึงนิทรรศการ เทศกาล และงานแฟร์ที่เปิดพื้นที่ให้เหล่านักสร้างสรรค์มาจัดแสดงผลงานและต่อยอดโอกาสก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ปรากฏการณ์ทั้งหลายนี้ทำให้ความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์ illustration นั้นขยับขยายจากเดิมไปไม่น้อย โดยเฉพาะป้ายกำกับที่เรียกว่า “illustrator” หรือ “นักวาดภาพประกอบ” นั้นกลับความหมายระหว่างคำภาษาอังกฤษกับภาษาไทยอาจไม่ตรงกันซะทีเดียว และในความลักลั่นของคำนี่เองที่ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในการทำความเข้าใจขอบเขตและบทบาทของ illustration และ ภาพประกอบ ไปพร้อมๆ กัน

คำถามที่ว่า…
เมื่อเราสร้างสรรค์ภาพขึ้นมาเฉยๆ 
ไม่ได้ตั้งใจหรือกำหนดว่าจะต้องไปประกอบอยู่กับเนื้อหาอะไร
มันจะเป็นภาพประกอบหรือไม่? 
หากมันไม่ได้เป็นภาพประกอบ 
แล้วมันเป็น illustration หรือไม่ 
ถ้าผลงานนั้นได้ illustraed บางอย่างออกมา
?
แล้วถ้าสิ่งที่ถูก illustrate ออกมานั้น 
ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสิ่งที่ดูแล้วเข้าใจได้ทันที (figurative / representative)
อย่างงานที่ถูกเรียกว่า abstract
เรายังคิดว่ามันเป็น illustration อยู่หรือไม่
?
หรือทำไมถึงเรียกคนนี้ว่าเป็นนักวาดภาพประกอบ
แต่เรียกอีกคนว่าเป็นศิลปินหรือจิตรกร
ทั้งๆ ที่ผลงานก็เป็นการวาดรูปออกมาเหมือนกัน
ถ้าผู้ที่สร้างสรรค์ภาพประกอบด้วยวิธีการอื่น แต่ไม่วาด จะเรียกว่าอะไรดี
ส่วนศิลปินที่สร้างผลงานให้แบรนด์สินค้านั้นจัดเป็นนักวาดภาพประกอบหรือไม่
?
illustrator ที่ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์และแท๊ปเล็ต 
ต่างจาก graphic designer อย่างไร
ทั้งๆ ที่หลายครั้งก็ทำงานบนสื่อคล้ายๆ กัน

หากจะพยายามตอบคำถามเหล่านี้ออกมาให้ชัด ก็น่าจะเป็นเรื่องอึดอัดและชวนปวดหัวไม่น้อย และย่อมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปอย่างแน่นอน แต่ถ้าใช้ข้อสงสัยเหล่านี้มาเป็นข้อสังเกต ว่าคำที่เราใช้เรียกนั้นไม่สามารถครอบคลุมศักยภาพและขอบเขตการสร้างสรรค์ของคนหนึ่งคนไว้ได้ มันจึงเกิดการทับซ้อนกันอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้น้ำหนักตรงไหนมากกว่ากัน 

ศิลปินยังจำเป็นต้องออกแบบและแสดงความคิดออกมาให้เห็นเป็นภาพ
นักออกแบกราฟิกใช้ศิลปะการใช้ภาพร่วมกับตัวอักษรเพื่อนำเสนอความคิดสร้างสรรค์และสื่อสารออกไปเช่นกัน
นักสร้างสรรค์ภาพประกอบก็ออกแบบภาพที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาหรือความรู้สึกออกไปให้ผู้คนได้สัมผัสรับรู้ได้เช่นกัน ที่กล่าวมาย่อมไม่ใช่สิ่งแน่นอนตายตัว ต่างสลับสับกันไปตามแต่โอกาสของแต่ละคน

หากพิจารณาดูแล้ว…
นักสร้างสรรค์แต่ละแขนงนั้น… 
มีพื้นฐานการสร้างสรรค์คล้ายคลึงกัน 
มีวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ร่วมกัน
มีพื้นที่แสดงออกและสื่อสารร่วมกัน
มีผู้คนที่เป็นผู้รับชมผลงานร่วมกัน
มีแบรนด์สินค้าร่วมกันที่อย่างว่าจ้างเรา

บางทีเราอาจแยกออกจากกันไม่ขาด
หรือเราอาจไม่เคยแยกออกจากกันมาแต่แรก

หากที่ผ่านมาเกิดการแบ่งแยกและจำกัดมันไว้ได้ ก็อาจเป็นเพราะยุคสมัยที่การสื่อสารยังถูกจำกัดมากกว่าในปัจจุบัน หรือไม่ก็เป็นเพราะอยู่ภายใต้การแบ่งแยกจัดการให้แต่ละทักษะที่หน้าที่ของตนเองบนสายพานการผลิตอย่างชัดเจน ไม่เว้นแม้แต่ในระบบการศึกษา สุดท้ายแล้วมันอาจยังคงความจำเป็นในเชิงสังคมแบบกว้างๆ แต่อาจจะกลายเป็นกำแพงกักขังว่าเราทำอะไรได้และไม่ได้โดยไม่รู้ตัว ถึงตรงนี้ก็คงเป็นแค่ตัวเราเท่านั้นที่จะให้คำตอบตัวเองว่ากล่องกำกับชื่อทางอาชีพของเรานั้นเริ่มคับแคบมีรอยปริร้าวหรือยัง

กลับมาที่คำว่า “ภาพประกอบ” แล้ว 
จึงอาจไม่ใช่ประเด็นหลักของข้อบันทึกนี้ว่า
มันควรเป็นคำแปลของ illustration หรือไม่
มันเป็นคำที่ทำให้การสร้างสรรค์มันคับแคบหรือไม่
หากอ้างอิงถึงแนวคิดว่าภาษาก็เป็นเพียงระบบตัวแทนความคิด
ภายใต้ “รูปแบบตัวแทน” หนึ่ง ย่อมไม่อาจคงความแน่นิ่งทางความหมายได้ตลอดไป
“คำเรียก” หนึ่ง ย่อมไม่สามารถกำหนดอาณาเขตตายตัวของความหมายข้ามยุคข้ามสมัยไปได้

ดังนั้น… หากเราเป็นหนึ่งในผู้ที่สังกัดภายใต้คำเรียกนั้น
นักสร้างสรรค์ภาพประกอบก็มีความจำเป็นที่จะปรับนิยามของ “คำๆ นั้น” อยู่เสมอ
นิยามที่เราเชื่อว่ามันมีความหมายเช่นนั้น ไม่ใช่นิยามจากตำราหรือมาสเตอร์ใดๆ 
อันจะส่งผลต่อมายังอาณาเขตของสิ่งที่เราสามารถทำได้ เดินทางไปได้ มีส่วนร่วมได้

หากลองพิจารณาคำที่ประกอบกัน…
นัก-สร้างสรรค์-ภาพ-ประกอบ
ทำให้มีข้อสังเกตชวนคิดเป็นคำๆ ได้ว่า
“นัก” คือผู้สร้างงาน ชวนคิดว่าเราเป็นใครแบบไหน มีความคิด ความเชื่อ ทัศนคติอย่างไร รสนิยมและไลฟ์สไตล์เป็นแบบไหน และมันส่งผลต่อการสร้างสรรค์ของเราอย่างไร และคำว่า “สร้างสรรค์” หมายถึง รูปแบบ วิธีการ เทคนิค วัสดุ-อุปกรณ์ ต่างๆ ที่ใช้สร้างสรค์ผลงาน (ภาพ) เป็นแบบใด (การวาดจึงเป็นเพียงแค่หนึ่งในวิธีสร้างสรรค์) ส่วนคำว่า “ภาพ” หากนิยามคำนี้ให้กว้างในความหมายสิ่งที่ตามองเห็นได้ ขอบเขตของการสร้างสรรค์ก็ย่อมเปิดกว้างยิ่งขึ้น ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่ความเป็น pictorial เท่านั้น หากยังเปิดโอกาสให้รูปแบบหรือสไตล์อื่นๆ สามารถเข้ามาสังกัด “ภาพประกอบ” ได้ และคำว่า “ประกอบ” นั้น หากมองผิวเผินอาจทำให้ข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ ว่าทุกครั้งที่ทำงานจำเป็นจะต้องไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งกับสื่อใดสื่อหนึ่ง เราไม่สามารถสร้างผลงานโดยเสรี โดยไม่ต้องไปประกอบกับสิ่งอื่นได้หรือไม่ หากเรามองในมุมนี้ก็คงน่าอึดอัดกว่าการเรียกมันว่า illustration แน่ๆ แต่ถ้าเราลองถอยออกมาอีกนิดและคิดถึงเหตุที่มนุษย์สร้างสรรค์ภาพให้เกิดขึ้นมา ตั้งแต่ผนังถ้ำลาส์โก ลวดลายบนเครื่องถ้วยชามโบราณ จิตรกรรมและภาพพิมพ์ในยุคสมัยต่างๆ ภาพเหล่านั้นย่อมประกอบหรือเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม บางครั้งภาพเป็นส่วนประกอบมาเติมเต็มสิ่งที่เราคิด อารมณ์ที่เรารู้สึก บางครั้งภาพของเราไปประกอบเข้ากับผู้คนอื่นให้พวกเขาได้รับรู้บางสิ่งจากการมองภาพนั้น 

ดังนั้นการคิดว่า ภาพที่เรากำลังสร้างสรรค์นั้นมันเป็นส่วนประกอบกับตัวเราอย่างไร (ในฐานะผู้สร้างสรรค์) และมันไปประกอบกับผู้คนอื่นๆ อย่างไร รวมไปถึงว่ามันไปประกอบสังคม ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมอย่างไร ก็อาจทำให้พื้นที่ความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ของเราขยับขยายออกไปได้มากทั้งในด้านกว้างและด้านลึก

คำว่า “illustration” มาจากรากภาษาละตินคำว่า “lux” หมายถึง “to shine light upon” 
การส่องให้เกิดความสว่างและความกระจ่างต่อการรู้สึกนึกคิด 
อาจจะเป็นแนวทางที่การสร้างสรรค์ภาพประกอบกำลังมุ่งหน้าไปโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบหนึ่ง
เป็นบทบาทแสนสำคัญและน่าตื่นเต้นสำหรับผู้สร้างสรรค์
เป็น “พลัง” ที่รู้สึกได้ดังที่มาสเตอร์โยดากล่าวกับเจได
เป็น “พลัง” ที่ทำให้ “ภาพประกอบ (illustration)” นั้นยังประกอบอยู่กับโลกไม่ว่าจะเป็นยุคใด
เป็น “พลัง” ที่ถูกนำไปใช้ในวิถีแห่งเจไดที่ว่า “uses the force for knowledge and defence, never for attack”

Realated Content

11 Apr 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note – Epilogue
02 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #3
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #2
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #1
HASHTAG