FRAGILITY Exhibition 


Solo Exhibition by BallPiyaluk (Piyaluk Benjadol)

17 April – 7 May 2021

at ± PRACTICAL space
Cutrator: Kanoknuch Sillapawisawakul

Organizer: PRACTICAL school of design
ชวนชมผลงานศิลปะที่แสดงความพยายาม “การอยู่รอด” และ “การคงอยู่” ออกมาในรูปลักษณ์ของวัตถุ ที่จะทำให้เราเห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิต ผลงานสร้างสรรค์ชุด “Fragility” เป็น self portrait ที่ บอลล์ ปิยลักษณ์ ใช้เวลาในช่วงที่เจ็บป่วยมองกลับเข้าไปในตัวเอง เพื่อสำรวจกายภาพของร่างกายและความรู้สึกนึกคิดของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา ทั้งความคิดเกี่ยวกับร่างกาย ชีวิตและความตาย สิ่งที่หลงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ รวมทั้งผู้คนรอบข้าง

ศิลปินนำสิ่งของสะสมที่เรียงรายอยู่รอบตัวมาสร้างผลงาน 3 มิติด้วยเทคนิคหลากหลายที่มีความถนัดหรือเป็นทักษะที่เคยทำได้ในอดีต โดยเลือกวิธีการสร้างผลงานที่เอื้อต่อสภาพร่างกายในแต่ละช่วงของความเจ็บป่วย และสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นปกติธรรมดาในแต่ละวัน

ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้จึงเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของห้วงเวลาเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ชีวิตของศิลปินที่พยายาม “อยู่รอด” หรือ “คงอยู่” ในรูปลักษณ์ของวัตถุที่จับต้องได้ และอาจทำหน้าที่เป็นเครื่องระลึกถึงศิลปินเมื่อความตายมาเยือน

Artist Statement:

ผลงานสร้างสรรค์ชุด “Fragility” เป็น self portrait ที่ศิลปินใช้เวลาในช่วงที่เจ็บป่วยมองกลับเข้าไปในตัวเอง เพื่อสำรวจกายภาพของร่างกายและความรู้สึกนึกคิดของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา ทั้งความคิดเกี่ยวกับร่างกาย ชีวิตและความตาย สิ่งที่หลงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ รวมทั้งผู้คนรอบข้าง

ศิลปินนำสิ่งของสะสมที่เรียงรายอยู่รอบตัวมาสร้างผลงาน 3 มิติด้วยเทคนิคหลากหลายที่มีความถนัดหรือเป็นทักษะที่เคยทำได้ในอดีต โดยเลือกวิธีการสร้างผลงานที่เอื้อต่อสภาพร่างกายในแต่ละช่วงของความเจ็บป่วย และสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นปกติธรรมดาในแต่ละวัน

ในการสร้างผลงานส่วนหนึ่ง ศิลปินกลับมาใช้การถักโครเชต์ซึ่งเป็นทักษะที่เคยทำเมื่อตอนยังเด็กและได้รับแรงบันดาลใจจากคุณแม่ที่เคยถักโครเชต์เป็นเสื้อผ้าหลายชุด ชิ้นส่วนของการถักถูกนำมาผสมผสานกับการปะติดปะต่อชิ้นส่วนของเล่นมือสอง ของเก่า ของสะสม และของใช้ใกล้ตัว เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้เกิดขึ้นด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ดูคลุมเครือและชวนให้ตั้งคำถามถึงความ “ไม่ปกติ” ของสิ่งต่างๆ ที่ถูกนำมาประกอบร่างเข้าด้วยกัน

ความหมายต่างๆ เหล่านั้นสะท้อนความคิดของศิลปินที่มีต่อร่างกาย ความงาม เพศสภาพ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นแม่ ความสัมพันธ์ของอำนาจในสังคม รวมทั้งความเจ็บป่วยและความตายที่ศิลปินกำลังเผชิญอยู่

ประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับ “การสูญเสียเส้นผม” และ “ภาวะการไม่มีผม” จากความเจ็บป่วยถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ผ่านชิ้นงานที่ถูกประกอบร่างขึ้นใหม่จากของมือสอง ผมปลอม รวมทั้งเส้นผมที่ร่วงระหว่างการเข้ารับการรักษา กระบวนการสร้างชิ้นงานที่มีความละเอียดอ่อนและบอบบางทำให้ห้วงเวลาที่ใช้ไปในการสร้างผลงานเป็นไปอย่างสงบและมีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วงเวลาที่ไม่สูญเปล่าไปกับความทุกข์เรื่องโรคภัยหรือความกังวลเรื่องการรักษาจึงมีคุณค่าอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของศิลปิน

ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้จึงเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของห้วงเวลาเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ชีวิตของศิลปินที่พยายาม “อยู่รอด” หรือ “คงอยู่” ในรูปลักษณ์ของวัตถุที่จับต้องได้ และอาจทำหน้าที่เป็นเครื่องระลึกถึงศิลปินเมื่อความตายมาเยือน


บอลล์ ปิยลักษณ์ เบญจดล

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร เริ่มทำงานเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทในเครือ Jim Thompson ก่อนมาสมัครทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และรับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท MFA ในสาขา Computer Graphics Design ที่ Rochester Institute of Technology, New York, USA ต่อมาได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก Ph.D. สาขา Design Arts (International Program) ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจบการศึกษาในปี 2559 โดยสร้างสรรค์ผลงานศิลปนิพนธ์ระดับปริญญาเอก หัวข้อ “The Visual Semiotics of Yor (ญ) Alphabet Primers and Thai Femininity Discourses” 

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย เธอได้ทำงานทั้งด้านการสอนและงานด้านบริหารหลายบทบาท ได้แก่ การเป็นหัวหน้าภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG Gallery) รักษาการเป็นหัวหน้าภาควิชาทัศนศิลป์ จนปี 2553 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาการออกแบบ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ปี 2560

นอกเหนือจากบทบาทงานสอน ปิยลักษณ์เคยทำหน้าที่เป็นอุปนายกฝ่ายวิชาการ ช่วงปี 2553 – 2556 ให้กับสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGa) และในด้านงานสร้างสรรค์ เธอยังได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “สำนึกสู่สังคม” (Nuts Society) ร่วมกับศิลปิน ต้อย นพไชย อังควัฒนะพงษ์ และร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์กับกลุ่ม โครงการ และองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงงานวิจัยและเขียนตำราที่น่าสนใจหลายหัวข้อ ได้แก่ ตำรา “บรรจุภัณฑ์กับการออกแบบกราฟิกบนบรรจุภัณฑ์” ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และบทความชื่อ “โฆษณา: มายาคติที่เชื้อเชิญให้ถอดรหัส” ตีพิมพ์ในหนังสือ “การวิจารณ์ทัศนศิลป์: ข้อคิดของนักวิชาการไทย” จักรพันธ์ วิลาสินีกุลและสายัณห์ แดงกลม บรรณาธิการ และทำวิจัยร่วมกับ Practical Design Studio ในหัวข้อ “Vernacular Thai Graphic Design” โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Thailand Creative Design Center (TCDC) รวมถึงผลงานสร้างสรรค์ “แบบเรียนรู้ใหม่ กขค: สมุดคัดลายมือ” จัดแสดงและตีพิมพ์เผยแพร่ในการประชุมเชิงวิชาการ “4th Silpakorn University Research Fair” ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม

ปิยลักษณ์ยังได้รับเชิญให้ร่วมบรรยายและเขียนบทความในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงที่ถูกสะท้อนผ่านงานออกแบบและสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ การบรรยายหัวข้อ “Visual Rhetoric of the Construction of Beauty in Thai Alphabet Primer, Yaw Ying”  บทความ “เกอริลลา เกิร์ลส: วันเดอร์วูแมนแห่งวงการศิลปะ กลุ่มนิรนามผู้ท้าทายสถาบันศิลปะและประกาศการกลับมาของเฟมินิสต์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20” การบรรยายหัวข้อ “The Story of Yaw Ying (ญ): How Learning Alphabet Relates to Thai Femininity Discourses?” บทความชื่อ “Parasol: Visual Trope of Protection, Attraction, and Identification in Thai Womanhood Formation” ในวารสาร Silpakorn University Journal of Social Sciences, Humanities, and Arts เป็นต้น 

ขณะที่นิทรรศการจัดแสดง ปิยลักษณ์ใช้ชีวิตร่วมกับมะเร็งที่เธอกลับมาเป็นครั้งที่สาม รวมถึงการใช้เวลาตลอดหลายปีนี้ในการสร้างสรรค์ผลงานที่กำลังจะจัดแสดงในนิทรรศการ Fragility ร่วมไปกับการรักษาเยียวยาตัวเองอย่างกล้าหาญและงดงาม

ปิยลักษณ์ เบญจดล จากไปด้วยความอาลัยของครอบครัว คนรัก ลูกศิษย์ และมิตร เมื่อวันที่….

Realated Content

11 Apr 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note – Epilogue
02 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #3
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #2
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #1
HASHTAG