CREATIVE DRAWING CLUB : An Exhibition The Showcase of PS±D Creative Drawing Club 1/2021

Curated and Organized by PRACTICAL school of design
7thJune -18th June 2021

Venue: PS±D Space
Room No.3/16 Fl. 3, T.Shinnawatra Thai Silk Building, 94 Soi Sukhumvit 23
Moderated by Thanet Awsinsiri

Participants:
AIMI KAIYA
Anyapha Attasiri
Karin Phisolyabut
Natkritta Narapornpipath
Natthanicha Bumrungsin
Perapol Borisootsoontorn
Sita Hanvareevongsilp
Songsak Premsuk
Y

Image via PS±D Team

Why Drawing, How Creative

‘การวาด’ (Drawing) เป็นรูปแบบการแสดงออกของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่ง โดยเชื่อกันว่าการวาดถูกใช้เป็นรูปแบบในการสื่อสารก่อนการประดิษฐ์ภาษาเขียน ดังจะเห็นได้จากภาพเขียนผนังถ้ำ เมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว จนวิวัฒน์มาสู่ระบบการเขียนเชิงภาษาในที่สุด การวาดมักเป็นการสำรวจ โดยเน้นที่การสังเกต การแก้ปัญหา และการจัดองค์ประกอบ การวาดยังมักถูกใช้ในการเตรียมตัวสำหรับการวาดภาพ (ที่หมายถึงภาพวาดที่ลงสีหรือมีความสมบูรณ์มากขึ้น) ยังรวมถึงการวาดแผนภูมิจากการสังเกต อันเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างในปี ค.ศ. 1609 กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของดาวศุกร์และจุดบนดวงอาทิตย์จากกล้องโทรทรรศน์ผ่านภาพวาด และในปี 1924 นักธรณีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน อัลเฟรด เวเกอเนอร์ (Alfred Wegener) ใช้ภาพวาดเพื่อแสดงความเปลี่ยนแปลงของทวีป ในความเข้าใจทั่วไปการวาดมักถูกใช้ เพื่อแสดงความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในอาณาเขตของศิลปะ การวาดจึงถือเป็นพื้นฐานสำหรับการฝึกศิลปะ และยังถูกใช้ในการคิดและการค้นคว้า โดยทำหน้าที่เป็นสื่อการศึกษาในขณะที่ศิลปินกำลังเตรียมทำงานอีกด้วยประกอบกับการปรากฏขึ้นของภาพถ่ายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลำดับชั้นของศิลปะ การถ่ายภาพกลายเป็นทางเลือกแทนการวาดภาพอันเป็นวิธีการแสดงปรากฏการณ์ทางสายตาได้อย่างแม่นยำ และการฝึกวาดภาพแบบเดิมๆ ถูกให้ความสำคัญแคบลงจนดูกลายเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศิลปินเท่านั้น

หากสังเกตจะพบว่าเด็กเกือบทุกคนจะชอบวาดขีดเขียน และมีความเป็นอิสระต่อสิ่งที่วาด แต่เราก็มักจะพบว่าผู้คนทั่วไปจะห่างหายจากการฝึกฝนและใช้งานทักษะนี้เมื่อเติบโตขึ้น ยกเว้นผู้ที่มีอาชีพที่ยังเกี่ยวข้องกับทักษะนี้โดยตรง และเมื่อทีม PS±D ร่วมกันออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ด้านการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสำหรับผู้คนในวงที่กว้างออกไป ทักษะที่พบว่ามีความสำคัญมากต่อกระบวนการออกแบบ ก็คือ ‘การวาด’ (drawing) ที่นับเป็นกิจกรรมที่เสริมทักษะการสร้างความสัมพันธ์ของการใช้สองตา หนึ่งสมอง และสองมือ ได้อย่างสอดคล้อง บ่อยครั้งเมื่อเรามีความคิดดีๆ เรามักเริ่มต้นด้วยการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแบบละเอียดมากกว่าแค่การมองผ่านๆ เราเริ่มมองไปที่แสง-เงา, พื้นผิว, สี, รูปทรง, องค์ประกอบ ความทึบตัน, ช่องว่าง และอาจเลยไปถึงที่มาความหมาย รวมถึงบริบทที่แวดล้อมของสิ่งนั้น

จากนั้นก็มี ‘การวาด’ เก็บไว้กันลืม บางอย่างก็วาดได้ให้คล้ายกับที่เห็นหรือที่คิด บางทีก็วาดให้เราพอเข้าใจว่าต้องการบันทึกอะไร เช่น รูปทรงนี้น่าสนใจ ก็ร่างเก็บไว้ อาจโน้ตเป็นคำหรือข้อความเพิ่มเติมกันลืมเมื่อกลับมาดูภายหลัง บางคนก็เขียนไว้เป็นแผนภูมิเพื่อทำความเข้าใจไปด้วยหรืออาจวาดเพื่อช่วยให้คนอื่นเห็นภาพสิ่งที่เราคิดรวมถึงวาดเพื่อความพึงใจเป็นงานอดิเรก ฯลฯ จึงมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ผู้คนวาดความคิดหลายต่อหลายความคิด จึงเริ่มต้นมาจากการที่มือเราขีดเขียนอะไรสักอย่าง ‘การวาด’ จึงเป็นเรื่องของ ‘การคิดเชิงภาพ’ (Visual Thinking) แดน โรม (Dan Roam) ผู้เขียนหนังสือ The Back of the Napkin ให้คำอธิบายถึงการคิดเชิงภาพ หมายถึงการใช้ประโยชน์จากความสามารถในการมองเห็นโดยธรรมชาติของเรา ทั้งด้วยตาของเราและด้วยตาใจ (ตาที่สาม) ของเรา เพื่อที่จะสำรวจความคิดที่เรายังมองไม่เห็น และพัฒนาความคิดเหล่านั้นโดยสัญชาตญาณอย่างรวดเร็ว แล้วแชร์ความคิดเหล่านั้นกับคนอื่นๆ ในแบบที่พวกเขารับได้ง่าย

Image via PS±D Team

ในมุมมองของ PS±D เราจึงให้ความสำคัญกับ ‘การวาด’ ในฐานะทักษะพื้นฐานที่จะพัฒนากระบวนการคิดเชิงภาพ (visual thinking) เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เรามองได้ดีขึ้น (how to look better) เราอ่านได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น (how to see sharper) และคิดต่อยอดได้กว้างไกลมากขึ้น (how to imagine further) ดังนั้นเราจึงสามารถพัฒนาทักษะการวาดไปสู่การเป็น visual thinker ก็ได้ ด้วยการใช้เครื่องมือหลัก (built-in tools) ได้แก่ ตา (eyes) ความคิด (mind’s eye) และมือ (hands) ดังที่แดน โรม เรียกว่า visual thinking tools ส่วนกระดาษ ปากกา หรือวัสดุอื่นๆ ก็จัดให้เป็นอุปกรณ์เสริม (accessories)

การมองได้ดีขึ้น อาจทำให้เรามีการสังเกตรายละเอียดต่างๆ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ทำให้เราเริ่มรับชุดข้อมูลในการเห็นมากขึ้น เช่น การเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้กันมีความเกี่ยวข้องกัน ดวงตาของเราสังเกตเห็นความแตกต่างของสีในทันทีและถือว่าการจัดกลุ่มตามสีที่เหมือนกัน การรับรู้เรื่องขนาด-สัดส่วน ทิศทาง รูปทรง และแสงเงา เป็นต้น ลักษณะการมองนี้จะเป็นตัวชี้นำที่ช่วยให้เราระบุได้อย่างรวดเร็วว่าเรากำลังดูอะไร หรืออะไรที่เราต้องการมองเห็น และการเห็น (seeing) ก็อาจจำแนกวิถีการเห็นออกมาได้ 6 ลักษณะ (ใน framework เดียวกัน) ได้แก่

  1. เห็นวัตถุ / สิ่ง (object) — the who & the what
  2. เห็นปริมาณ (quantities) — the how many and how much
  3. เห็นตำแหน่งในพื้นที่ (position in space) — the where
  4. เห็นตำแหน่งในเวลา (position in time) — the when
  5. เห็นเหตุ ปัจจัย และผลกระทบ (influence and cause and effect) — the how
  6. เห็นความเชื่อมโยงและรับรู้บางอย่างจากสิ่งที่เห็น (all of this come together and knew something about our scene) — the why

และเมื่อเราพูดถึงความคิดต่อยอด เราอาจนึกถึงคำว่า ‘จินตนาการ’ ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นกระบวนการเชิงอุบัติที่เกิดจากความว่างเปล่า เพราะผลลัพธ์ที่เราแสวงหาจากการจินตนาการมักจะเป็นบางสิ่งที่ไม่มีอยู่ตรงหน้าหรือในความคิดขณะนั้น และวิธีที่ดีที่สุดในการจะมองเห็นบางสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ก็คือการมองเห็นให้ได้ด้วยตาของเรา มองเห็นอย่างเข้าใจถี่ถ้วนถ่องแท้ (insight) มองเห็นด้วยความคิดที่จุดประกายเรา (inspiration) และมองเห็นมันด้วยสัญชาตญาณที่เกิดจากการฝึกฝน (intuition) ซึ่งในที่สุด ‘ภาพจินตนาการ’ (imagination) จะปรากฏในบริเวณ ‘พื้นที่ร่วมของการมองเห็น’ ทั้งสามแบบที่กล่าวมา

จากที่กล่าวมา…
“การวาดทำให้คุณเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น และยังคงชัดเจนขึ้นไปอีก ภาพกำลังส่งผ่านคุณในทางสรีรวิทยาเข้าไปในสมองของคุณ ไปยังความทรงจำของคุณ – จากที่ที่มันอยู่ส่งผ่านโดยมือของคุณ” ดังนั้นการมองเห็นสิ่งต่างๆ สำหรับเดวิด ฮอคนีย์ (David Hockney) จึงเป็นมากกว่าการรับข้อมูลภาพธรรมดาๆ เพราะมนุษย์เราดำรงอยู่ในพื้นที่และเวลา (space & time) ไปพร้อมๆ กับการมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นทั้งทางกายภาพและทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง ภาพจากผนังถ้ำลาส์โกซ์ (Lascaux) มาสู่ภาพที่วาดด้วย iPad ก็ไม่ได้เปลี่ยนความเข้าใจพื้นฐานของฮอคนีย์ไปแต่อย่างใด

Image via PS±D Team

ดังนั้นกระบวนการบันทึกการสังเกตผ่าน ‘การวาด’ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มพูนทักษะการรับรู้ของเราเท่านั้น แต่ยังพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงสายตาอีกด้วย เป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อแสดงความคิดได้

การทำงานผ่าน ‘การวาด’ จะทำให้เราตระหนักถึงรายละเอียดที่ดีของเรื่องที่กำลังทำหรือกำลังศึกษา เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ โครงสร้างหรือแบบแผนบางอย่างอาจปรากฏขึ้นโดยที่คุณไม่เคยสังเกตมาก่อนและ เมื่อเราตระหนักถึงรายละเอียดและความแตกต่างเล็กน้อยในโลกรอบตัวได้มากขึ้น เราก็จะสามารถมองเห็นและสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน การวาดจึงเป็นวิธีการที่สามารถนำเราไปพบกับความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่ทุกคนเคยมีและสามารถกลับมาฝึกฝนใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ได้ การวาดจึงเปรียบเหมือนศิลปะในการบันทึกประสบการณ์ต่อสิ่งที่ไม่มีใครไม่เคยพบเห็นมาก่อน (ในแบบของเรา) มันเป็นการพิจารณา บันทึกวิพากษ์ และตอบสนอง ต่อสิ่งที่เป็นทั้งเรื่องธรรมดาสามัญและสิ่งที่ไม่รู้จักคุ้นเคยอย่างอิสระและสร้างสรรค์”

สุดท้ายนี้… นึกถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้นใน PS±D Creative Drawing Club— “การวาดอย่างสร้างสรรค์ก็คล้ายภาพยนตร์โร้ดมูฟวี่”
เราไม่รู้ว่าจะได้เจออะไร พบใคร หรือจุดหมายอยู่ที่ไหนตามที่ใจคิดหรือไม่ หากแต่เกิดการค้นหา พบเจอ และเข้าใจบางเสี้ยวมุมของชีวิตที่อยู่ภายในและที่แวดล้อมตัวมากยิ่งขึ้น

กระบวนการนี้… จะทำให้เราเปลี่ยนไปจากเราคนเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและที่สำคัญ ‘อย่างเป็นกันเอง’

Realated Content

11 Apr 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note – Epilogue
02 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #3
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #2
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #1
HASHTAG