EveryOne-O-One (2024) : Class Note #2

บทความนี้เป็นบันทึกการเรียนรู้ จากห้องเรียน EveryOne-O-One วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2567
บันทึกโดยคุณณัฐชยาพร แสงคำ (EveryOne-O-One : Note Taker)

EveryONE-O-ONE week 02:
Designing Design Project 01: อยากให้คนทุกแบบได้ออกแบบ

Host: PS±D Full Team

Designerly Ways Notes

  • ในสัปดาห์นี้จะมารู้จัก Designerly หรือที่คุณติ๊กนิยามเองว่า ‘ทำอะไรอย่างมีดีไซน์’ จากกิจกรรมสัปดาห์ก่อนทำให้เห็นว่าการออกแบบนั้นสามารถนิยามได้แตกต่างกันออกไป 
  • งานวิจัยเก่าในช่วงปี 80-90 นักออกแบบ Royal College of Art มองว่าการศึกษาหรือระบบการคิดนั้นถูกย่อยออกมาได้ 2 กลุ่ม วิทยาศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์ และเสนอว่า การออกแบบ นั้นเป็นวัฒนธรรมที่ 3 ก็ว่าได้ 
  • ในช่วงเวลานั้นกลุ่มนักออกแบบใน Royal College of Art เรียกวัฒนธรรมการออกแบบ Design Culture) นี้ว่า Design with a capital D ต่อมาสื่อไปตั้งประเด็นต่อเป็น D กับ d กลุ่มนักออกแบบที่เป็น D คือกลุ่มที่มีอุดมคติบางอย่างในการออกแบบนอกเหนือจากการทำมาหากิน
  • ในจุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นนี้ให้นิยาม Design Culture ว่าคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาใช้ จากทักษะส่วนตัว การสังเกต ตามความเข้าใจเพื่อมาหลอมรวมให้เกิดศิลปะการวางแผน ซึ่งตอบรับกับแนวคิดการออกแบบที่อยู่บนการลงมือทำ มีเป้าหมายแล้ววางแผน อาจกล่าวได้ว่าทักษะการออกแบบที่ทุกคนนำไปใช้ได้นั้น ต้องใช้ทักษะทุกอย่างแต่ใช้อีก mindset หนึ่งในการทำงาน เรารับรู้ว่าโลกเราเป็นอย่างไร แล้ววิพากษ์ต่อโลกและลงมือทำ
  • D นี้หรืออุดมคติทางการออกแบบ อย่างแรกคือมีธรรมชาติของการนึกถึงการสร้างสิ่งใหม่ อาจเป็นเป้าหมายใหม่หรือกระบวนการใหม่ก็ได้ อย่างที่สองคือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการหลอมหลวมการสร้าง ประดิษฐ์และการลงมือทำให้เกิดศิลปะการวางแผน และอย่างที่สามคือโมเดลลิ่งขึ้นมาหรือการสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาแทนที่จะปล่อยให้เป็นเพียงแผนการเท่านั้น (หรือในภาษาของ Design Thinking คือการ Prototype)
  • ธรรมชาติของแต่ละวัฒนธรรมการคิด
    • วิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับโลกทางธรรมชาติ → ความสนใจของวิทยาศาสตร์เลยไปอยู่ที่การกำหนดตัวแปร การแบ่งหมวดหมู่ การวิเคราะห์ที่มา จึงข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นภววิสัยเสียเยอะ Objectivity
    • มนุษยศาสตร์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมนุษย์ → ความสนใจจะไปอยู่ที่การเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ และการประเมินว่าเป็นไปอย่างไรกับมนุษย์ จึงข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอัตวิสัย Subjectivity
    • การออกแบบให้ความสำคัญกับสิ่งที่สร้างขึ้น → โฟกัสการทำแบบจำลอง จากสิ่งที่เป็นความคิดให้ผลิตออกมา และสังเคราะห์สิ่งที่ค้นพบ ข้องเกี่ยวกับการนำไปใช้จริง Practicality การออกแบบเลยเกี่ยวกับการลงมือทำเสียเยอะและผูกพันกับทักษะที่จะต้องทดลองทำขึ้นมา
  • ในงานวิจัยนี้ยังกล่าวอีกว่า วัฒนธรรมการออกแบบนั้นมักมาเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ความรู้จากแกนวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การรู้อีกสองฐานคิดทำให้มีข้อคิดในเชิงวิพากษ์ต่อชีวิตความเป็นอยู่และนำสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา
  • สิ่งหนึ่งที่ Design Knowing activity แตกต่างออกไป คือในเวลาที่เราเผชิญสิ่งต่าง ๆ อาจอยู่บนโฟกัสของ solution-based มากกว่า problem-based → แต่ทั้งสองโฟกัสนั้นจำเป็นเพื่อที่จะแก้ปัญหา

ตัวอย่างของแนวคิดข้างต้น
แผนที่ของชาวไอนุ (Inuit Wooden Maps)

แผนที่ของชาวไอนุ สิ่งนี้คือตัวอย่างของการที่การออกแบบไปอยู่ใน mindset เกิดขึ้นด้วยการทดลอง ผ่านการลองผิดลองถูกต่าง ๆ ของคนในชนเผ่าและประดิษฐ์ของสิ่งนี้ เพื่อที่ส่งต่อความรู้สภาพชายฝั่งให้แก่คนอื่น ๆ ชาวไอนุมักล่องเรือตอนกลางคืน เลยต้องอาศัยการสัมผัสเป็นหลัก และเพื่อจะตอบสนองต่อการใช้งาน จึงทำออกมาเป็นรูปลักษณ์ข้างต้น อาจมองได้ว่าพวกเขาต้องการวิพากษ์การล่องเรือของตน → อยากที่จะให้ปลอดภัยขึ้นเลยเกิดไอเดียที่จะแก้ปัญหา ตัวอย่างวัฒนธรรมการออกแบบของสิ่งประดิษฐ์นี้เกิดมาก่อนที่จะมีชื่อเรียกการกระทำนี้ว่าการออกแบบเสียอีก

ZDA-110-3-15-1

สิ่งนี้เป็นโค้ดที่เกิดจากวิศวะระบบของมหาวิหารนอเทรอดามไม่ได้เกิดจากนักออกแบบเพื่อระบุตำแหน่งเพลิงในอัคคีภัยอย่างทันท่วงที

ในตอนที่มีเหตุเพลิงไหม้วิหาร โค้ดซับซ้อนเกินไปทำให้ยามดับเพลิงไปผิดปีกและกลายเป็นทำให้อีกปีกหนึ่งเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็น ยามที่มาเปลี่ยนกะในวันนั้นไม่ได้เชี่ยวชาญโค้ดดังกล่าว ทำให้การตอบสนองต่อเหตุการณ์ล่าช้าไป ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่าเป้ายหมายในการที่จะคิดให้บรรลุเป้าหมายต้องอยู่ในหน้าที่การงานของหลาย ๆ ส่วน

Ten Principles for Good Design

  • Dieter Rams ตั้งคำถามกับตัวเองว่าการออกแบบของตนเป็นการออกแบบที่ดีไหม จึงกลายเป็นรากฐานสิบประการขึ้น สิ่งนี้ไม่ใช่กฏแต่อย่างใด อาจมองเป็นเชกลิสต์ให้เราสร้างข้อวิพากษ์ระหว่างทำโปรเจคและวกกลับมาเป็นคำถามแก่ตัวเอง
  1. การออกแบบที่ดีคือนวัตกรรม
  2. การออกแบบที่ดีทำให้ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์
  3. การออกแบบที่ดีคือการมีสุนทรียภาพ
  4. การออกแบบที่ดีทำให้ผลิตภัณฑืเข้าใจได้ง่าย
  5. การออกแบบที่ดีไม่สร้างความรำคาญ
  6. การออกแบบที่ดีต้องมีความซื่อสัตย์
  7. การออกแบบที่ดีมีอายุการใช้งานยาวนาน
  8. การออกแบบที่ดีต้องละเอียดถี่ถ้วนจนถึงรายละเอียดสุดท้าย
  9. การออกแบบที่ดีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  10. การออกแบบที่ดีคือการออกแบบให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

หากมาร์เก็ตติ้งบอกให้ทำของที่พังไวซึ่งขัดแย้งการข้อ 9 ละ?

  • ดีไซน์เนอร์อาจรู้สึกถูกกดทับเพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากทุนนิยม ไม่ใช่หน้าที่ของนักออกแบบแต่ในทางกลับกัน ผู้คนเองก็กำหนดมาร์เก็ตติ้งได้ แต่ทำอย่างไรให้ทานกระแสเหล่านี้ได้ → แล้วจึงเผยแพร่ให้เกิดความร่วมมือในภาพใหญ่
  • หรือเราสามารถมองในอีกมุมได้ว่าของที่ผลิตมาให้ทนทานใช้ได้ยาวนานแต่ถูกขายซ้ำ ๆ ก็ตอบโจทย์การตลาดได้เช่นเดียวกัน เช่น โมเดลธุรกิจแบบ Subscription ที่ผลิตแพลตฟอร์มใช้ได้ยาวนานแต่ยังสร้างกำไรได้ต่อเนื่อง โมเดลธุรกิจเช่าซื้อของปริ้นเตอร์ การมองไปในอีกด้านก็อาจเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน ไม่ได้ต้องมองอย่างตรง ๆ แล้วจำกัดศักยภาพของนักออกแบบ

ท้ายสุดในคอร์สนี้อยากให้ทุกเปิดโหมด 3 ประการ (Critical Sense / Creativity / Practical Sense) → เดินอยู่ภายใต้ mindset นี้ระหว่างทำโปรเจค รูปแบบไม่ได้มีตายตัวและรูปแบบของผู้เรียนแต่ละคนเองก็จะเป็นประสบการณ์ให้กับผู้สอนเช่นเดียวกัน

คุณเตยชวนคุยให้ร่วมแชร์ความสงสัยหรือความเป็นไปได้ที่น่าสนใจก่อนทำโปรเจค

ก่อนเริ่มกิจกรรมหลักสัปดาห์นี้ หลาย ๆ ครั้งเพื่อน ๆ นักออกแบบมักเริ่มต้นด้วยการมุ่งไปหาความสนใจบางอย่างก่อนลงรายละเอียดอย่างลึกซึ้งกับสิ่งนั้น เลยอยากชวนให้ทุกคนลองแชร์ประสบการณ์ที่ค้นพบอะไรบางอย่างด้วยตนเองแล้วรู้สึกจอยกับตัวเองมาก ๆ หรืออาจเป็นความสงสัยการพบเจอปัญหาต่าง ๆ  ที่เจอแล้วยังติดอยู่ในใจตลอด

คุณเบส
เล่าถึงความรู้สึกเวลาที่เราปะติดปะต่ออะไรบางอย่างได้  (Connect the dots) เช่นเวลารู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งต่อมาได้เรียนรู้อีกเรื่องหนึ่ง จนวันเวลาผ่านไป ณ วันหนึ่งสิ่งที่ได้รู้มาตัดกัน มักเกิดความรู้สึกเบิกเนตร ตนรู้สึกอิ่ม รู้สึกอร่อย

คุณเติร์ก
เล่าถึงประสบการณ์ตอนที่ขับรถไปบางแสน แล้วแฟนเปิดเพลงเทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่งฟังไปหลายเพลงก็รู้สึกว่าตัวเองเคยฟังแทบหมดเลย เขาเลยรู้สึกว่าการเปิดรับไปเรื่อยแม้จะไม่ได้ชื่นชอบศิลปินเป็นพิเศษ  หรือการชอบอะไรไม่ได้ต้องมีค่ากับเรามากแต่เรายังอินกับสิ่งนั้นได้ เขาคิดว่าเป็นความรู้สึกที่ดีเพราะว่าได้ให้เวลาเพิ่มกับการลองเปิดใจ

คุณนัด
กล่าวถึงประสบการณ์ตอนที่ไปญี่ปุ่นไปเจอดีเจที่ร้านอาหารไทยที่ชื่อยังเก๋า เขาแวะไปดูและทานอาหารไทยฝีมือคนญี่ปุ่น บรรยากาศภายในร้านมีองค์ประกอบไทยมากมายมาก เช่นการแปะชื่อร้านอาหารในประเทศไทยลงบนเสื้อ หรือศิลปินมีการเปิดเพลงไทยสมัยก่อนภายในร้าน พอกลับมาไทยเขาก็สนใจแล้วกลับมาหาฟังตาม หรือแกงฮังเลเมื่อทานที่ไทยนั้นทั่วไปแต่พอไปทานที่ญี่ปุ่นก็ทำให้เขาคิดได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับแกงกะหรี่ เขาเลยย้อนกลับมาคิดว่า สิ่งที่พบเห็นทุกวันตอนอยู่ไทยแต่พอเปลี่ยนบริบทไปอยู่สถานที่อื่นกลับทำให้รู้สึกพิเศษขึ้นมาได้

คุณน้ำอุ่น
คุณน้ำอุ่นร่วมแชร์ความกวนใจ Frustrate ที่มีจากเวลาขับรถในวงเวียนว่าทำไมคนไทยถึงขับรถในวงเวียนผิดเยอะ วงเวียนถูกออกแบบมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้การจราจรลื่นไหล แต่ว่าพอมาอยู่ในบริบทประเทศไทยกลับกลายเป็นรถติดกว่าเดิม ทำไมวงเวียนถึงไม่ทำงานในประเทศไทย เธอเคยขับรถในต่างประเทศซึ่งก่อนจะเข้าวงเวียนโดยปกติก็ควรจะรู้ว่าจะวนอย่างไร หรือเหตุใดทำไมอนุสาวรีย์ชัยถึงมีไฟแดงในวงเวียน

คุณเตยเสริมว่า อาจจะเหมือนพฤติกรรมของมด มดจะเรียนรู้จากพฤติกรรมของตัวข้างหน้า แต่ถ้ามดเริ่มไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร มดจะวงเป็นวงกลมแล้วก็หมุนอยู่อย่างนั้น

คุณสันติเสนอว่าวงเวียนเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดมาและต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมร่วมด้วย → แต่ว่าการเห็นประโยชน์ร่วมในการใช้งานยังไม่ถูกสอนโดยทั่วจึงทำให้เกิดปัญหา → ซึ่งอาจต้องเริ่มด้วยการกำหนดขอบเขตปัญหาว่าต้นตออยู่ไหน ทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญา

ดีไซน์ชุดนึงมีภาคประกอบร่วมกันหลายส่วน และวิธีใช้เองก็เป็นดีไซน์อีกชุดที่ต้องมีความเข้าใจร่วมกัน  มีการตกลงร่วมกันเกิดขึ้นรึเปล่า → การมีส่วนร่วมต่อผลงานก็เป็นเรื่องสำคัญเช่น ออกแบบโลโก้มีไกด์ไลน์ให้ แต่พอเวลาผ่านไปก็เละไม่สามารถทำตามได้ → อาจมองได้ว่าคู่มือเป็นปัญหาหรือไม่จึงทำให้ไม่สามารถรักษาอัตลักษณ์ที่วางไว้ในคู่มือการออกแบบที่ให้ไปได้

คุณรมิเสริมเคสสระว่ายน้ำสาธารณะที่ทำให้คนกลับเข้าใช้สระมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนผังการเดินรถเมล์เพราะว่าสระเปิดไม่ตรงกับเวลาที่รถเมล์สัญจร ทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่การแก้โดยทางตรงอย่างเดียวแต่คือการดูสิ่งรอบ ๆ แล้วหาสาเหตุ ในกรณีนี้ หากเปิด Conventional Mode เพื่อแก้ปัญหา → ก็จะโฟกัสกับการแก้หน้าตาของสถานที่ แต่หากเปิด Design Mode → จะเจอว่าแท้จริงเป็นปัญหาจากการเดินรถ

คุณแค๊ท
เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยอ่านเจอเกี่ยวกับโรงงานหนึ่งที่พนักงานลืมนำสบู่ใส่กล่อง จ้างวิศวะมาออกแบบมากมายแต่สุดท้ายทางแก้มาจากพนักงานคนหนึ่งที่อยู่หน้างาน เขาแก้ปัญหาด้วยการเอาพัดลมมาเป่าอะไรที่ไม่ใช่สบู่ออกไป

คุณเบล
แชร์ประสบการณ์ไปพิพิธภัณฑ์ Design Museum นิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑ์ตั้งชื่อว่า Designer/ Maker/ User ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าของหนึ่งสิ่งจะทำงานได้ดีต้องประกอบด้วยสามปัจจัยข้างต้น

คุณแพร
คุณแพรเกิดและโตในกรุงเทพฯชินกับการที่ท้องฟ้าโดนบังทัศนียภาพ จนกระทั่งได้ไปค้างคืนที่ต่างจังหวัดบนดอย จึงรู้สึกเปิดโลกกับการได้เห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ หลังจากนั้นทำให้เธอสนใจสังเกตุดีเทลของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และมักถ่ายภาพนกและแมลงเก็บไว้

คุณแอล
คุณแอลเล่าถึงเรื่องที่คาใจเกี่ยวกับโรคกลัวรูของตนเอง Trypophobia เธอเคยเป็นหนักมาก และเนื่องจากมีอาชีพเป็นแม่ค้าด้วยเลยไม่สามารถใช้แรพกระดาษแบบรวงผึ้งในการห่อสินค้าได้เพราะไม่สามารถมองได้เลย

คุณเบลเล่าถึงผู้เรียนในคลาสท่านนึงเคยเป็นเช่นกัน และผู้เรียนท่านนั้นทำงานที่ทำหัวข้อทดลองว่าทำอย่างไรให้รูนั้นดูไม่น่ากลัวสำหรับเขาด้วยการเติมสีขยายขนาดช่องจนรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่น่ากลัว

ยังเล่าเสริมเกี่ยวกับความประทับใจเกี่ยวกับวงดนตรีเปิดก่อนวงหลักตามคอนเสิร์ตต่างๆ วงเปิดเหล่านี้มักเป็นวงอินดี้หรือศิลปินที่ยังไม่มีชื่อเสียงมาก หลายครั้งที่ได้ฟังเพลงจากวงเปิดเธอจะกลับมาตามฟังเพลงของพวกเขาต่อ แม้จะชอบดูคอนเสิร์ตมากแต่ไม่ชอบไปเฟสติวัลดนตรีที่รวมหลาย ๆ วง เธออยากดูวงหลักที่ตัวเองชอบแต่ก็ไม่มายที่จะดูวงคั่นก่อนเริ่มพอมีวงเปิดมาคั่นก่อนเลยโอเค

คุณส้ม
คุณส้มเสริมว่าตนก็เป็นคล้าย ๆ คุณแอลในเรื่องโรคกลัวรู ทำให้ไม่สามารถสังเกตฟองกาแฟได้

ก่อนเข้ากิจกรรมถัดไป กิจกรรมด้านบนนี้เป็นทิศทางหนึ่งในการสำรวจตนเองเพื่อหาแนวทางและใช้วิจารณญาณของตนเองได้เต็มที่ วิธีการเริ่มดีไซน์โปรเจคนั้นมีหลากหลายมากและนี่เป็นเพียงอีกหนึ่งวิธีช่วยในการสโคปจากเรื่องที่ใหญ่ลงมาสู่เรื่องที่เล็กลง

กิจกรรมภายในคลาส:
สิ่งที่สนใจ/มั่นใจ/ปักใจ/คาใจ

ทุกคนได้รับกระดาษขนาด A3 คนละแผ่นพร้อมโพสอิท 1 ปึ้กและปากกา ขั้นแรกให้ทุกคนเขียนอะไรที่อยู่ในความสนใจช่วงนี้ลงบนโพสอิทแล้วแปะบนโต๊ะ เมื่อได้จำนวนหนึ่งแล้วให้นำโพสอิทแปะในกระดาษตามสี่หมวดได้แก่สนใจ มั่นใจ ปักใจ คาใจ แล้วเล่าว่าทำไมถึงเลือกแต่ละอย่างลงในหมวดนั้น

กิจกรรมนี้เป็นกระบวนการที่ให้เราลงมือสำรวจตัวเอง โดยเรื่องราวของแต่ละคนจะขอหยิบยกมาแค่บางเรื่องในแต่ละหมวดเท่านั้น

คุณแก้ว

  • [สนใจ] ส่วนใหญ่เป็นของที่อยากได้ในช่วงนี้และเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมฤดูฝน โคมไฟแสงอาทิตย์เนื่องจากช่วงนี้ไม่ค่อยมีแดดทำให้บันทึกขั้นตอนการทำงานไม่ค่อยสวยแสงไฟทั่วไปให้โทนสีที่แตกต่างจากธรรมชาติ ของกันน้ำต่าง ๆ  หลอดไฟเปลี่ยนสีเพราะสวิทช์อยู่ไกล อุปกรณ์กันสั่นเวลาถ่ายวิดีโอ และกลุ่มของแต่งบ้านอย่างผ้ากับเฟอร์นิเจอร์มือสองเพื่อแต่งห้อง
  • [มั่นใจ] ผึ้ง เป็นสิ่งที่คุณแก้วชอบมาก ๆ อยู่แล้ว และ เห็ด ซึ่งคุณแก้วเสริมว่ามาจากเพื่อนของคุณแก้วชอบทานเห็ด นอกจากนี้เดือนก่อนคุณแก้วมีโอกาสได้ไปฟาร์มเห็นลุงรี ได้ค้นพบว่าส่วนต่าง ๆ ของเห็ดสามารถนำไปทำเมนูได้หลากหลายแบบมาก
  • [คาใจ] คาใจกับงานออกแบบป้ายของสถานีสีชมพูที่เลือกวัสดุเป็นอะลูมิเนียม ทำให้อ่านชื่อสถานีลำบาก ต่อมาเป็นเรื่องพิมพ์ทำน้ำแข็ง เธออยากกินน้ำแข็งก้อนใหญ่แต่ส่วนใหญ่พิมพ์ทำน้ำแข็งมักมีแต่แบบซิลิโคนก้อนเล็ก ซึ่งเมื่อก่อนมีพิมพ์ก้อนใหญ่ขายทำให้รู้สึกว่าการออกแบบแต่ก่อนนั้นดีกว่า
  • [ปักใจ] ชอบฟังเสียง ASMR ก่อนนอนเพื่อให้หลับลง แต่ว่าเพราะเป็นคนเซนสิทีฟกับ Motion sickness ทำให้ไม่สามารถดูภาพได้เลยรู้สึกขัดแย้งในตัวเองกับการดูสิ่งเหล่านี้ เครื่องครัวหลายชิ้นที่หน้าตาน่ารักมักไม่ใช้งานไม่สะดวกแต่ยังอยากได้ ควรให้น้ำหนักสิ่งไหนในการเลือกมากกว่ากัน

คุณน้ำอุ่น

  • [สนใจ] ช่วงนี้สนใจเกี่ยวกับธุรกิจเพิ่มเติมเลยมีหัวข้อเกี่ยวกับธุรกิจ การตลาดในกระดาษเยอะ และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งได้พลอยเลยสนใจอัญมณีและเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ต่างๆ สุดท้ายต้นไม้ใบไม้ดอกไม้เพราะเป็นอะไรที่ชอบมานานและรู้สึกช่วยเยียวยาจิตใจอยู่แล้ว
  • [มั่นใจ] มั่นใจเรื่องการเพ้นท์รูปและกลับมาวาดรูปอย่างจริงจัง
  • [ปักใจ] ต่อเนื่องจากที่ได้พลอยมาเลยอยากรู้เกี่ยวกับการออกแบบเครื่องประดับเพิ่มเติม อีกเรื่องที่ปักใจคือเธอดูละครไทยค่อนข้างเยอะและอินกับเรื่องราวต่าง ๆ สนุกกับการเดาเนื้อเรื่อง
  • [คาใจ] การพลัดวันประกันพรุ่ง (Procasinate) จะแก้อย่างไร กับกล่องสุ่มที่ตนเพิ่งจะตัดขาดได้ และใคร่ครวญว่าหลวมตัวเข้าไปเล่นได้อย่างไรทั้งที่รู้แกวสิ่งของเหล่านี้อยู่แล้ว ต่อมาคือเรื่องของ Effective Learning ที่เธออยากรู้ว่าเรียนอย่างไรให้รู้สึกอยากเรียนต่อไป ต่อเนื่องจากการดูละครไทยแม้ว่าจะวิพากษ์เนื้อหาแค่ไหนก็ยังชอบที่จะดูและอยากรู้ว่าทำไม และท้ายสุดคือเรื่อง Geopolitic ของหลาย ๆ ประเทศ ปกติเธอมักพูดคุยเรื่องข่าวการเมืองต่าง ๆ กับแม่อยู่เสมอ รวมถึงข่าวล่าสุดที่ไต้หวันได้ประธานธิบดีคนใหม่ แต่ไต้หวันยังมีความขัดแย้งกับจีนอยู่สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร

คุณเบส

  • [สนใจ] ชอบเรื่องเศร้ามักรู้สึกไม่อยากให้หนังหรือละครที่ดูมีแฮปปี้เอนดิ้ง สนใจโหราศาสตร์เพราะรู้สึกเป็นการส่งต่อข้อมูล 
  • [มั่นใจ] เป็นสิ่งที่มั่นใจมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำวิจัยกี่ยวข้องกับนิทานกริมม์ อ่านประวัติศาสตร์เก็บเรื่อยๆ และแน่นอนว่าศิลปะการออกแบบก็อยู่ในความสนใจเพราะทำมาหากินด้วยสิ่งนี้มานาน สุดท้ายคือเรื่องปริศนา
  • [คาใจ] ความตายกับการจากลา ในเชิงทฤษฎีได้แต่ในเชิงปฏิบัติจะทำได้ไหม อยากรู้ว่า Neuroscience ช่วงนี้อยากศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม เรื่องเหนือธรรมชาติ ปรัชญารู้บ้างแต่ยังไม่หมดสนใจความเป็นมนุษย์เลยสนใจจิตวิทยาไปด้วย

คุณไมเคิล

  • [สนใจ] ต้นไม้เราสามารถปลูกเองได้แต่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เราประดิษฐ์เองไม่ได้ทำให้สนใจเรื่องการผลิตไฟไฟ้าใช้เอง และ Food Security เขาเกิดคำถามว่าเราอยู่รอดโดยไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ไหม ไมซีเลียม เห็ดชนิดนี้เอาไปทำอะไรต่อได้อีก Breathwork การฝึกการหายใจเข้าสภาวะ Mindful ได้อย่างไร จะบริหารการใจอย่างไร UFO มีจริงไหม Permaculture การเกษตรสมัยใหม่นี้เอาไปใช้งานอะไรต่อได้อีก ทำไมการพัฒนาเมืองถอยลงเรื่อย ๆ และโยงเรื่อง ESG
  • [มั่นใจ] มั่นใจในเรื่องการแยกขยะเป็นอย่างมาก ชอบไปพิพิธภัณฑ์
  • [คาใจ] DMT ทำให้เราอยู่ในสภาวะที่เชื่อมต่อกับจิตใต้สำนึกอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ถ้าเราไปถึงก่อนน่าจะสนุกดี กากกาแฟเป็นปัญาสิ่งแวดล้อมหากหาวิธีกำจัดได้ก็อาจกลายเป็นธุรกิจใหม่ และปัจจุบันโลกมีปัญหา Over Consumption เราจะอยู่ได้ด้วยการไม่ซื้อของอย่างไร จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทำทุนนิยมที่ไม่สามานย์ ซึ่งจะไม่สามานย์ก็อาจต้องไปลดโลกร้อนซึ่งอาจแก้ปัญหาได้ด้วยรีไซเคิลให้ของมีค่า เกิด circular economy แล้วนโยบายเหล่านี้ หากต้องปฏิบัติ เราต้องเลือกตั้งใหม่เร็ว ๆ นี้ไหม มองหาการลงทุน อยากกินอาหารออร์แกนิกที่สะอาดและไม่แพง ลดการบริโภควนกลับไปที่ลดการใช้แก้ว จะอกกจากทุนนิยมควรทำอย่างไร ไปทำไร่ทำนาพัฒนาชุมชนเป็นไปได้ไหม สุดท้ายมีคำถามว่าเราเลือกตายอย่างไรได้บ้า

คุณแอล

  • [สนใจ] สิ่งที่ชอบอยู่แล้วเช่น ภาพยนตร์ ผีเสื้อ วรรณกรรมเด็กที่ถูกออกแบบมาให้ลดทอนเรื่องราวให้มันง่ายแต่กลับตราตรึงใจผู้อ่านจนโต แนวคิด Wear วนไปทำให้สนใจการ Thrifting และเพราะเป็นคนสมาธิสั้นอยากแก้ปัญหามืออยู่ไม่สุขเลยสนใจพวก Fidget Toy
  • [มั่นใจ] สิ่งที่ชอบต่าง ๆ อย่างการวาด การเพ้นท์ และการให้พลังบวก Positive Energy Giver
  • [คาใจ] โฟเปียเรื่องรูของตนเอง Concert Noise เธอไปคอนเสิร์ตบ่อยและการฟังเสียงที่ดังมากย่อมไม่ดีกับหูเลยซื้อหูฟังสำหรับไปคอนเสิร์ตมา อยากให้คนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะ ๆ ก็น่าจะดี CD จับต้องได้และมักไว้นับยอดขายแต่ก็ไม่ดีต่อโลกในเชิงขยะ แต่สตรีมมิ่งเองก็สร้างมลพิษให้กับโลกเช่นกัน เธอไม่ชอบสีเหลืองอยากรู้ว่าทำไมรู้สึกแบบนั้นต่อสีเหลือง สุดท้าย Passive Death Wish อยากอ่านเพิ่มให้มากกว่านี้
  • [ปักใจ] ชอบงานที่มี Interactive (มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น) สามารถให้คนมาสัมผัสได้ สนใจภาพวาดน้ำหมึกจีน มีคำถามในใจว่างานที่หมึกกับงานสีน้ำต่างกันอย่างไร อยากทำ Zine ตัวเลือกเยอะจนไม่รู้จะทำอะไร สนใจวงจรชีวิตของแมลง การเปลี่ยนรูปร่างของแมลง

คุณส้ม

  • [สนใจ] ชอบซื้อ Magazine Popeye มองว่าเป็นอาร์ตเวิร์กสวยและสามารถใช้อ้างอิงในการทำงานได้ พออายุมากขึ้นเริ่มรู้สึกไม่อยากฟังเพลงอยากรู้สึกว่ามีเพื่อนคุยกันทำให้สนใจฟังพอดแคสต์ ช่วงนี้ชอบจัดระเบียงบ้านจึงสนใจต้นไม้มีใบรวมถึงกระดิ่งลม, โมบายที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊งฟังแล้วสบาย และโคมไฟโซล่าเซลล์
  • [มั่นใจ] ชอบกินหมาล่า ชอบห้องที่เป็นระเบียบเลยชอบจัดห้องได้รู้สึกแฮปปี้ที่อยู่ตรงนั้น แล้วก็มั่นใจในการขี่มอเตอร์ไซค์ เวลาบอกใครว่าขี่มอเตอร์ไซค์ในเมืองทุกคนก็จะทึ่งมากและทึ่งในตัวเองด้วย
  • [คาใจ] ทำไมแกรบไบค์ถึงชอบขับฝ่าไฟแดงซึ่งอันตรายพวกเขาไม่กลัวกันเลยเหรอ 
  • [ปักใจ] การออกแบบ อยากหาอะไรมาเติมแล้วทำให้ดีกว่านี้ และเด็กฝึกงานเราจะดูแลเขาในช่วงฝึกงานอย่างไรให้ออกมาดีทีสุดและเขาได้ประสบการณ์

คุณแค๊ท

  • [สนใจ] Book Lover ตนเป็นคนที่ถนัดอ่านและพูดมากกว่าทำให้ผลักตัวเองไปอ่านภาษาอังกฤษเลยชอบหนังสือ ปรึกษาทางธุรกิจ ช่วงนี้กำลังจะสร้างธุรกิจใหม่และหาพาร์ทเนอร์อยู่ซึ่งคิดว่าตัวเองน่าจะทำให้สำเร็จได้
  • [มั่นใจ] ตนเป็นคนยืดหยุ่นและรู้สึกว่าตัวเองเป็นสะพานที่มาเชื่อมช่องว่างเวลาใครมีปัญหาก็มักวิ่งมาให้ตนเพื่อแก้ได้ อยากบริหารสมองซีกขวามากขึ้นเพราะพื้นเพมาจากสายงานที่ใช้สมองซีกซ้ายเยอะกว่า อยากเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ชอบเห็นความสุขของคนอื่นเลยมักซื้อขนมมาแจกคนนู่นคนนี่หรือบริจาคโรงเจ
  • [ปักใจ] เป็นคนเปิดใจ ชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ มั่นใจว่ามีทักษะของสมองซีกซ้ายที่ดี ทักษะการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกันและไม่หยุดที่จะเรียนรู้
  • [คาใจ] ในโลกที่ไม่มีอะไรใหม่นี้ เราจะทำอย่างไรให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร หรือมีความสุขมากขึ้นอย่างไร

ลองเชื่อมหัวข้อในสิ่งที่ค้นพบ

กิจกรรมถัดไปที่คุณเตยอยากให้ทุกคนได้กลับไปลองคิดต่อเป็นการบ้าน ให้ทุกคนลองเชื่อมสิ่งที่ค้นพบนี้สำรวจกระดาษและโพสอิทจะผสมหลาย ๆ หัวข้อ ปรับเปลี่ยนโยกย้าย หรือเขียนเพิ่ม จะเป็นสิ่งเดียวกันแล้วลงลึกได้เช่นกัน เป็นหนึ่งวิธีในการมองหาหัวข้อที่เราจะทำสำหรับโปรเจคยาวในคอร์ส 

บางอย่างอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่อาจเชื่อมโยงกับปัญหาบางอย่างได้ บางทีในการมองหาความหลากหลายเราอาจสมารถโยงหัวข้อย่อยให้เป็นหัวข้อใหญ่ได้ เช่นนักวิทยาศาสตร์หญิงท่านหนึ่งมีปัญหาในการทำงานกับเครื่องพิมพ์นาโนเทคโนโลยีที่ต้องใช้งานเพียงในแลปเท่านั้น เธอนึกถึงของเล่นสมัยเด็กทำให้โยงวิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้วัสดุปริ้นท์ขนาด​ใหญ่แล้วไปย่อในภายหังแทนที่การพิมพ์ให้ขนาดเล็กแต่แรก การเชื่อมโยงระหว่าง Ambience (เรื่องรอบตัว) พัฒนาส่งไปยังบางเรื่องได้

คุณสันติร่วมช่วยโยนไอเดียจากที่ทุกคนเล่าในกิจกรรมก่อนหน้า บรรยากาศนั่งล้อมวงเช่นนี้เป็นบรรยากาศของการออกแบบที่ทุกคนมานั่งสำรวจเพื่อพัฒนาโปรเจคโดยมี 3 พรสวรรค์ที่กล่าวในตอนต้นเป็นเครื่องมือช่วยในการวิพากษ์ การจะหาทางออกอาจเริ่มจากพบว่าสิ่งรอบตัวที่ใช้งานได้ไม่ดีและมีความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อสิ่งที่ไม่เวิร์กนั้น เช่น

  • วิธีที่เรามองหัวข้ออย่างเปิดใจ เช่นทุนนิยมไม่สามานย์ได้ไหมซึ่งเหมาะกับดีไซน์โหมด เพราะไม่ใช่แค่การตอบใช่หรือไม่ใช่ แต่หาความเป็นไปได้ของทางออกที่มากขึ้น อย่างเช่นของคุณไมเคิลที่มีหลายหัวข้อเป็นสโคปใหญ่ เซนส์ของโปรเจคทำเพื่อหาแนวร่วมมากกว่าทำเพื่อแก้ปัญหา
  • การหายไปของสิ่งที่คิดว่าดีอย่างแม่พิมพ์น้ำแข็งไซส์ใหญ่ ทำไมคุณสมบัติบางอย่างถึงถูกแทนที่หรืออาจค้นพบเงื่อนไขที่เป็นเหตุให้สิ่งนั้นสามารถไปต่อได้หรือไม่ได้ การที่เราต้องอยู่กับการเลือกประสิทธิภาพหรือรูปลักษณ์สองสิ่งนี้จะมีจุดบรรจบอย่างไรในการตัดสินใจ
  • ความเสพติดกับบางอย่างอย่างกล่องสุ่ม ทำไมยังมีผู้คนเข้าไปหา โครงสร้างทาง Randomness มีผลกับความรู้สึก ใช่ไหมและใช้ประโยชน์จากมันกว่านี้ได้ไหม ชวนสำรวจแล้วหาช่องที่จะตั้งคำถาม อาจพบว่ากลายเป็นแนวทางอะไรบางอย่าง
  • ความรักหรือความตายเราเข้าไปออกแบบสิ่งเหล่านี้ได้ไหม บางทีเมื่อเราวางหัวข้อลงไปเราเห็นโครงสร้างว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องราวบางอย่าง แม้คุณเข้าใจแต่จะสามารถเผชิญกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ไหม
  • ของคุณแอลที่สนใจเกี่ยวกับภาพวาดน้ำหมึกของจน ปฏิกริยาระหว่างน้ำกับหมึก เมื่อสกัดเหลือเพียงแก่นอาจง่ายต่อการนำไปต่อยอดเป็นไอเดียอื่นได้ง่าย ต่อไปตอนที่เราศึกษาจะไม่ใช่การเรียนเพื่อทำซ้ำอีกต่อไปแต่จะพัฒนาไปสู่ไอเดียที่จะต่อยอดอีกระดับได้ การใช้หูฟังคอนเสิร์ตที่อยากให้ผู้คนรู้จักของชิ้นนี้มากขึ้นเป็นสิ่งที่คนอื่นมองว่าไม่เป็นปัญหาแล้วเราจะสะกิดเขาอย่างไรให้รู้สึกถึงปัญหา โฟเปียหรือความไม่ชอบอย่างเอาจริงเอาจังนั้นมักมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้น
  • ของคุณส้ม อาจมองย้อนและยอมรับว่าตั้งแต่โควิดไรเดอร์มีปัญหามากขึ้น แต่มองในอีกมุมได้ว่าผู้ให้บริการละเลยปัญหาที่เกิดตามมาจากการทำรอบเพื่อส่งออเดอร์ ปัญหาโครงสร้างเราจะจัดการอย่างไร แอพเดลิเวอรี่จะส่งเสริมให้ผู้ขับขี่พาหะนะไม่รีบอย่างไร ผู้ให้บริการควรส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ไม่รีบไหม ในการพัฒนาให้ดีเราจะออกแบบวิธีการพัฒนาอย่างไรได้บ้าง ท้ายสุดจะสำเร็จไหมอาจดูกันอีกทีแต่ต้องอยู่ด้วย Mindset ในการคิดที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง ในเรื่องเด็กฝึกงานเราจะออกแบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองคนของจูเนียร์และซีเนียร์อย่างไร ในฐานะผู้รับผิดชอบเราจะออกแบบสิ่งนี้อย่างไร
  • มีมไวรัลนั้นมีปฏิกริยากับคนอย่างไร ในแง่จิตวิทยาทำงานกับคนอย่างไรแล้วจะหาสถานการณ์ในการประยุกต์ใช้อย่างไร 
  • คำถามว่าทุกวันนี้ไม่มีอะไร แต่เราสามารนิยามคำต่าง ๆ ได้ใหม่ คำว่า ’ใหม่’ นั้นเป็นในเชิงผลลัพธ์หรือสิ่งใด โลกในบริบทไหน การเปลี่ยนนั้นรวมถึงผู้ใดบ้าง
  • สำรวจในกระดาษว่าหัวข้อใดมีความเป็นไปได้ที่เดินไปข้างหน้าแล้วสำเร็จ สำรวจความเป็นไปได้ของวัตถุดิบตรงหน้า → มองหาความเชื่อมโยงในสิ่งที่เขียนมา ตอนตั้งเรื่องก็เป็นอะไรที่สำคัญเพื่อให้เห็นความเป็นไปได้หลาย ๆ แบบแล้วทดลองหาความเชื่อมโยง

คุณแก้ว
เห็ดและASMR การทดลองทางวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเห็ดมีภาษา มีเสียงของตัวเองเลยคิดว่าน่าสนใจที่จะมาจับกับ ASMR เพราะน่าจะมีเสียงที่ผ่อนคลาย

ป้ายและหลอดไฟเปลี่ยนสี น่าจะทำให้ป้ายสามารถใช้งานได้ทุกสภาพแวดล้อม

อุปกรณ์กันสั่นและเฟอร์นิเจอร์ อาจเหมาะกับการนำไปออกแบบสำหรับคนพิการเพราะว่าไม่กระดกกระเดก โต๊ะไม่สั่นแม้เป็นพาร์กินสัน

คุณแอล
รูและสีเหลือง สาเหตุที่เลือกเพราะทั้งสองเรื่องตนมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนและสนใจว่าทำไมถึงมี

คุณไมเคิล
ไมซีเลียมและแก้ว น่าสนใจว่าอาจะเอามาทำแก้วเพื่อสร้างมูลค่าได้

คุณน้ำอุ่น
กล่องสุ่มและแพลนเนอร์ แพลนเนอร์จะประสบความสำเร็จในการใช้งานเมื่อเราเสพติดกับแพลนเนอร์ซึ่งมองว่าความเสพติดกับกล่องสุ่มอาจช่วยทำให้แพลนเนอร์ใช้งานได้ดี

คุณเบส
สีเหลืองกับไวรัล ทำไมถึงข้องเกี่ยวกับคนส่วนใหญ่ในสีเหลืองมีอะไรที่กระตุ้นให้คนสนใจได้

คุณส้ม
ผีและการจัดห้อง เราจะออกแบบการจัดห้องอย่างไรให้ไม่รู้สึกกลัวได้ไหม หรือหากต้องพบเจอจะมีเลย์เอ้าท์ห้องอย่างไรให้ไม่กลัว

คุณแค๊ท
สะพานระหว่าง Hard Skills และ Soft Skills ทำให้เรียบง่ายขึ้น

ทิ้งท้าย

Design Mode คือการนำไอเดียออกมาให้เยอะก่อนแล้วตัดออก นอกจากนี้ Design Project อาจมีโปรเจคย่อยมากมายอยู่ภายในได้ ตัวงานปลายทางตอนจัดนิทรรศการไม่ได้ต้องเป็นชิ้นงาน ทีม PS±D อยากให้กระบวนการตลอดการเรียนนำเสนอความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ในระหว่างสัปดาห์ลองจับคู่สิ่งต่าง ๆ แล้วลองลงลึกกับสิ่งนั้นเพื่อคัดกรองสิ่งที่เราต้องรู้เพิ่มเพื่อมาลงมือและพูดคุยในคลาสสัปดาห์ถัดๆไป

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG