EveryOne-O-One (2024) : Class Note #3

บทความนี้เป็นบันทึกการเรียนรู้ จากห้องเรียน EveryOne-O-One วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567
บันทึกโดยคุณณัฐชยาพร แสงคำ (EveryOne-O-One : Note Taker)

EveryONE-O-ONE week 03:
EveryOne-O-1 : เข้า-แบบ

Host: ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร (นัดดาว)

ชวนคุยก่อนเริ่มคลาส: ปรากฏการณ์ CI ใหม่ของกทม.

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์งานออกแบบที่น่าสนใจขึ้นหนึ่งเรื่องจากการเปลี่ยนป้ายสกายวอล์กของบีทีเอสทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจเรื่อง CI (Coporate Identity) เมือง ก่อนเริ่มคลาสระหว่างรอผู้เรียนมาครบ คุณติ๊กและคุณเตยชวนทุกคนแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และทิ้งข้อสังเกตที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า ท่ามกลางการถกเถียงที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมนั้น สถาบันการศึกษาโรงเรียนออกแบบต่าง ๆ กลับเงียบแทนการออกมาแบ่งปันความรู้งานออกแบบ ซึ่งชวนให้กลับมาขบคิดถึงบทบาทของสถาบันการศึกษา นอกจากนี้การถกเถียงทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการดำเนินการประชาภิจารณ์และเมื่อไหร่ที่จะต้องมีการประชาภิจารณ์ และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่ดีคือ การตอบสนองด้วยการรับฟังเป็นอย่างแรกของผู้ว่าชัชชาติต่อเหตุการณ์หลาย ๆ ครั้งเมื่อมีคนแสดงความไม่เห็นด้วยก็นับว่าเป็นการรับมือสถานการณ์ที่ดี

เกี่ยวกับการรับรู้และการวาด

  • การวาดภาพเป็นเครื่องมือในการสำรวจและเข้าใจสิ่งต่างมากขึ้น เพื่อพัฒนาให้เห็นวิธีการมองเห็นหลายมุมหลายบริบทและฝึกการคิดแบบ Visual Thinking
  • เมื่อเราเห็นดอกไม้ สมองเราประมวลผลแล้วจำไว้  เมื่อพบสิ่งที่คล้ายอีกครั้งสมองจะประมวลผลว่าอาจเป็นดอกไม้ โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มองสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพรวม ๆ เพื่อคัดกรองว่าอันตรายไหมซึ่งเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในการเอาตัวรอด แบ่งการคิดเป็นสองกลุ่มใหญ่ได้แก่ System 1 และ System  2 ; System 1 เป็นการประมวลผลโดยไม่ต้องใช้จิตใจ ขณะที่  System 2 เป็นการประมวลผลตามหลักเหตุผลและใช้เวลาช้ากว่าแบบแรก
  • เมื่อเรามองสิ่งหนึ่งมากขึ้น ในขณะที่มองพร้อมวาดจะทำให้เราสังเกตรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้น และเพิ่มพูนมุมมองต่อสิ่งนั้น ขยายคลังสิ่งต่าง ๆ ในหัวและเชื่อมโยงได้มากขึ้นจนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ
  • คุณเตยเปรียบว่าคล้ายกับการทำอาหารที่เชฟจะมีวัตถุดิบและวิธีการทำหลากหลายอย่างในหัว จนสามารถจินตนาการวิธีปรุงได้มากมาย หากย้อนมองคนรอบตัวที่ทำงานสายออกแบบล้วนแต่มองสิ่งรอบตัวไปไกลกว่าปกติ ซึ่งเป็นเซนส์ของการเข้าใจสิ่งหนึ่งให้ถึงที่สุด คำในภาษาอังกฤษมีคำที่พูดใช้กริยาว่าวาดแต่มีความหมายถึงการเพ่งมองอย่างพินิจพิเคราะห์ ศัพท์นั้นคือ Draw Closer การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับอะไรไปอย่างในอีกมุมมากขึ้น ทำให้อาจมองได้ว่านักวาดนั้นเป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่น่าสนใจในการมองเพราะมักมีมุมการมองที่หลากหลายก่อนบันทึกออกมา เป็นการรวบรวมเพื่อใช้เก็บข้อมูลในเรื่องที่สนใจต่อไป

กิจกรรมภายในคลาส

กิจกรรมภายในคลาสวันนี้มีทั้งหมด  6 กิจกรรมด้วยกันเพื่อสำรวจผ่านการวาด และดำเนินสลับไปมาระหว่างการทำกิจกรรมและการพูดคุย บันทึกนี้จะรวบยอดผลของทั้ง 6 กิจกรรมของแต่ละคน แบ่งตามบุคคลโดยไม่ได้ลำดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

[กิจกรรมที่ 1] กระดาษแผ่นใหญ่ถูกปูอยู่บนโต๊ะ พร้อมอุปกรณ์สำหรับวาดภาพหลากหลายแบบตั้งแต่ปากกา สีไม้ สีพาสเทล ตลอดจนแท่งสีดำปริศนาที่ทราบภายหลังว่าเป็นชาโคลรูปแบบหนึ่ง และไพ่หนึ่งสำรับเมื่อหงายไพ่จะพบกับเส้นหลากหลายรูปแบบ ให้ทุกคนจั่วคนละใบแล้วลองวาดไม่จำเป็นต้องเหมือนในไพ่แต่ให้จับเซนส์ของภาพนั้นเพื่อวาด เช่นเส้นที่สานกัน เส้นที่เป็นหยัก เส้นโค้งดั่งคลื่น เมื่อวาดไปสักพักสามารถหยิบไพ่ใบใหม่หรือเปลี่ยนไพ่กับเพื่อนคนข้าง ๆ รวมถึงสามารถเปลี่ยนเครื่องมือระหว่างวาดได้ จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือการวอร์มอัพเพื่อให้เราคอนเนคกับอุปกรณ์ที่เลือก ลายต่าง ๆ บนการ์ดจะทำให้เราได้ทดลองการเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ พร้อมกับคุณสมบัติของอุปกรณ์ที่ต่างกัน เช่นปากกาอาจเหมาะกับการสานเส้นมากกว่า ปากกาพู่กัน

เวลาเราเลือกรูปแบบเส้นที่ต่างกัน แต่ละเส้นหรือ movement แต่ละแบบนั้นเชื่อมกับอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนด้วยเช่นกัน สิ่งที่เราวาดออกมาสื่อถึง input ข้างในตัวเรา อาจเป็นความรู้สึก ภาพจำที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา ขณะวาดมี Perception อย่างไรในหัวระหว่างวาด เช่นวาดดอกไม้แล้วคิดไปก่อนว่าภาพที่เห็นเป็นกลีบทั้งที่อาจเป็นฐานรองกลีบ ซึ่งย้อนกลับมาตระหนักได้ว่าการวาดเพื่อการรีเสริชอย่าเพิ่งไปตัดสินผลลัพธ์ขณะวาด กิจกรรมย่อยถัดไปจึงไปก่อนเริ่มกิจกรรมที่ 2 อยากให้ลองวาดด้วยหัวโล่ง ๆ นำความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับของตรงหน้าออก ครั้งแรกที่วาดเราอาจวาดตามความเคยชินทว่าเมื่อเราได้ลองเปลี่ยนเครื่องมือ กรรมวิธีวาดปรับตาม ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งของตรงหน้ามากขึ้นตาม

[กิจกรรมที่ 2] ลำดับถัดไปจะเป็นการสำรวจสิ่งที่เราสนใจด้วยการวาด นำของที่คิดว่าน่าสนใจที่ได้นำมาในคลาสวันนี้มาวางรวมตรงกลางร่วมกับของสิ่งอื่นที่ทีมวิทยากรนำมา ก่อนเลือกเครื่องมือที่ถนัดในการวาดจากกิจกรรมแรก หลังจากนั้นทุกคนลองวาดสิ่งของที่เห็นต่าง ๆ ลงกระดาษแยกชิ้น มองเป็นมุมสองมิติก็ได้ ต่อมาเลือก 1 ชิ้นเพื่อวาดรายละเอียดย่อยลงไปอีก ให้วาดเป็นส่วน ๆ เช่น แก้ว รูปทรงวงกลม เส้นโค้ง สี่เหลี่ยม พิเคราะห์ว่าดีเทลข้างในมีดีเทลอะไรสกัดออกมาเป็นองค์ประกอบ มองด้านบนด้านล่างเห็นมุมที่ต่างกัน

อย่างไร หากแยกประกอบชิ้นส่วนสามารถพบอะไรได้บ้าง ก่อนเล่าสิ่งที่เห็นในของที่ตนเลือก

กิจกรรมย่อยถัดมาคือลองกระบวนการเดิมแต่เลือกของที่ไม่คิดว่าตัวเองจะเลือกหรือสนใจแทน ทั้งสองกิจกรรมฝึกให้ผู้เรียนได้มองอย่างถี่ถ้วนในของสิ่งหนึ่ง


[กิจกรรมที่ 3] เลือกสิ่งของหนึ่งชิ้นแต่เราจะวาด Negative Space รอบ ๆ ของสิ่งนั้น วาดบริบทรอบ ๆ เพื่อสื่อถึงตัวสิ่งของ เป็นกิจกรรมที่ฝึกปรับการคิดให้เราสนใจบริบทรอบ ๆ หัวข้อโดยไม่โฟกัสเพียงแค่ของหัวข้อหลักแต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งรอบ ๆ ด้วย

[กิจกรรมที่ 4] ลองเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการลุกขึ้นและย้ายตำแหน่งพร้อมปรับมุมที่กำลังมองแล้ววาดอีกครั้ง (จำกัดว่าผ่านการมองด้วยตาเท่านั้น ไม่ผ่านอุปกรณ์อื่น) จะเลือกเพียงชิ้นเดียวหรือวาดทั้งหมดที่เห็น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนคือเมื่อทุกคนได้เคลื่อนตัวไปจุดอื่นและวาดเยอะขึ้นนั้นมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น เป็นการฝึกปรับมุมมองเป็นกรอบอื่นๆ

[กิจกรรมที่ 5]  คราวนี้นำของที่วางตรงกลางโต๊ะออก ก่อนวาดสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในความทรงจำเราเท่าที่นึกได้ กิจกรรมนี้สะท้อนวิธีมองของเราวว่าเลือกจะจดจำอะไร เช่นคุณเบสที่สนใจเงาของน้ำ หรือคุณไมเคิลลากเส้นหยัก Pride Month เพราะว่า 5 โมงเป็นเวลาที่พาเหรดเริ่มและน่าจะต้องหลีกเลี่ยงการขับรถไปบริเวณนั้น

[กิจกรรมที่ 6] ลองกางงานที่วาดวันนี้แล้วสำรวจว่าเราเห็น Pattern การมองของเราอย่างไร มองหาความรูปธรรมผ่านภาพที่ได้วางลงไป

คุณแก้ว

  • อุปกรณ์แรกที่ชอบคือดินสอสีที่เหลายาว ๆ ชอบพื้นผิวที่ได้ตอนวาด หยิบได้ไพ่เส้นตรงในทีแรก ซึ่งปกติไม่ชอบวาดเส้นตรงจึงพลิกแพลงโจทย์เล็กน้อยเพื่อให้เข้ามือ ด้วยการวาดให้โค้งขึ้น จากที่คุณแก้วแชร์เรื่องเส้นตรงว่ามีข้อจำกัดมากกว่าเส้นโค้ง เส้นโค้งเป็นไปตามสิ่งที่คิดได้เลยทำให้รู้สึกว่าเส้นอิสระตอบโจทย์ภายในได้มากกว่าข้างนอก สิ่งแรกที่เลือกวาดเป็น แก้ว วาดลักษณะในมุมต่าง ๆ  แล้วเริ่มถอดแพตเทิร์นของแก้ว และวาดเงาส่วนที่เป็นสีขาวสีดำ เลือกของที่สนใจน้อยเป็นหนังสือที่ตนพกมา เพราะว่าหนังสือมีเพียงเชปสี่เหลี่ยม ทว่าพอมองดี ๆ เห็นเชปหลากหลายแบบตามมุมที่เปลี่ยนไปและรายละเอียดต่าง ๆ ขอบหนังสือที่ไม่เรียบ ลักษณะเงา เงาเข้มเงาอ่อนซ้อนทับกัน ถอดการโครงสร้างการวางอาร์ตเวิร์กของปกออกเป็นเชป มาถึงโจทย์  Negative Space รู้สึกว่าต้องคิดเยอะกว่า เวลาวาดเพื่อเว้นเกิดคำถามกับตัวเองว่าเราจะวาดแค่ไหน จึงเลือกใช้ขอบเป็นตัวแบ่งวัตถุ เมื่อต้องย้ายมุมมาเป็นมุมกดทำให้เห็นใบไม้สั้นลงชัดขึ้น ท้ายสุดคือการวาดจากความทรงจำ ซึ่งคุณแก้วจำไม่ได้เท่าไหร่จึงวาดเป็นขอบของของที่จำไม่ได้และวาดแก้วตรงกลางเพราะจำได้มากที่สุดกับที่จับของกระบอกน้ำ 
  • ค้นพบว่ารายละเอียดลดทอนลงมากขึ้น ปกติเป็นคนวาดรายละเอียดเยอะ พอได้เวิร์กชอปต้องวาดจากสิ่งที่เห็นเลยต่างจากที่เคยทำมา เพราะชินกับการวาดจากจินตนาการมากกว่า ทำให้เส้นออกมามินิมอลแทน เลือกสามสีมาใช้ในการวาดเพราะอยู่ร่วมกันแล้วสวย มาจากแม่สีแต่คุมไม่ให้สดไป  จริงการวาดจากความทรงจำนั้นเหมือนกับโจทย์ที่ให้คุณวาดเสือแต่เอาเรฟออกไปแล้ววาดอีกครั้งครั้งโดยไม่ดูเรฟ ธรรมชาติการมองเห็นแต่ละจะสะท้อนความสนใจของเราหรือตัวตนข้างในของเรา

คุณน้ำอุ่น

  • ของที่คุณน้ำอุ่นเลือกมาเป็นอาร์ตทอยใส เมื่อมองเข้าไปเชปใส ๆ แล้ววาดออกมารู้สึกเหมือนกำลังศึกษาเงามากกว่าเพราะเป็นของใส เมื่อขยับตัวก็เห็นรูปร่างแปรเปลี่ยนเลยวาดไม่ถูก ต่อมาเลือกเป็นใบไม้ ลองวาดตามเชปและเส้นโครง Shading สีที่ต่างกันระหว่างแต่ละส่วนที่ยังไม่เหี่ยวกับเหี่ยวแล้ว พอแห้งจะยิ่งเห็นความแตกระแหงชัดกว่าตรงกลาง มีลักษณะเส้นแตกคล้าย ๆ รากต้นไม้บนใบไม้ และสังเกตจังหวะที่มันแห้งว่าลึกลงไปในผิวอีก เมื่อต้องวาดจากความทรงจำ จำไม่ค่อยได้ จำได้เพียงสิ่งสุดท้ายที่วาดและเริ่มสนใจเงาขอบของของ จึงขีด ๆ ทับกันไปเลยด้วยปากกาด้ามเดิม ต่างจากส้มที่ใช้เป็นสีในการแบ่งว่าสิ่งไหนจำได้หรือไม่ได้
  • เมื่อกางงานออกมาพบว่าตนยึดติดกับ Tool ที่ถนัด ทำให้กังวลกับอุปกรณ์มากกว่าแบบที่ต้องวาดเสียอีก รูปแบบการวาดเน้นเส้นเยอะ Shading ด้วยการขีดมากกว่า รู้สึกไม่ค่อยถมมากเท่าไหร่ พอใช้สีก็ใช้ครั้งเดียวและไม่กลับไปใช้อีกเลย มองว่าการใช้สีจะทำให้เริ่มใส่อย่างอื่นนั้นไปมากกว่าการศึกษาสิ่งของตรงหน้า หากเคยสำรวจแล้วเบื่ออาจเลิกมองชั่วคราวเพื่อกลับมามองอาจจะเห็นอะไรใหม่ ๆ

คุณเบส

  • แรกเริ่มชอบแบบกำหลาย ๆ สี โจทย์ไม่ได้บอกให้ใช้ได้แท่งเดียวหรือวาดแค่พื้นที่ตัวเอง พอได้ยืนแล้วรู้สึกเฟรมใหญ่ขึ้น คุณเบสแสดงความเห็นว่าเส้นโค้งมันเข้ากับร่างกายมากกว่า อาจด้วยธรรมชาติของร่างกายหลายครั้งก็ขีดด้วยเส้นโค้งมากกว่า กิจกรรมที่สองคุณเบสใช้วิธีการสบตากับสิ่งใดบนโต๊ะก็วาดสิ่งนั้นออกมาดูรวมออกมาเป็นคอลลาจ ต่อมาในกิจกรรมย่อยเลือกกระติกน้ำ เพื่อวาดน้ำ เงาเสมือนในน้ำ วาดแล้วรู้สึกเหมือนว่าไม่รู้อะไรเลย เพราะว่าเงาสะท้อนไม่มีแพตเทิร์น มุมนึงเห็นแบบหนึ่งอีกมุมเห็นอีกแบบ ตอนเลือกวาด Negative Space วาดเงาแทน และต่อมาเลือกวาดจากมุมข้างบนที่เด็กในร้านชอบไปนั่งส่องคลาสเรียน ลองสวมเป็นมุมวาดมุมของผู้มองของ ให้ความรู้สึกแปลกดี เมื่อต้องวาดจากความทรงจำ จำเงาตกกระทบของกระบอกน้ำได้ดี เพราะชอบเงาตรงนั้นเลยวาดออกเป็นภาพของเงาตกกระทบ
  • แบบฝึกหัดทั้งหมดทำให้เขาตกผลึกได้ว่าตัวเองมีความมุมานะที่จะไปเข้าใจอะไรบางอย่างอยู่เสมอ ด้วยการไปตรงนั้นก่อน เมื่อได้รับรู้ว่าเป็นอย่างไรแล้วจึงทำความเข้าใจ นอกจากนี้มักเผลอจัดหน้ากระดาษไปในตัว พับเป็นหนังสือ มีลำดับการศึกษาเหมือนทำงานวิจัย ท้ายสุดรู้สึกว่าปกติเป็นคนไม่ซื่อสัตย์กับแบบตรงหน้าเท่าไหร่นัก แต่พอได้มาลองซื่อสัตย์กลายเป็นความรู้สึกที่แปลกดี ตอนที่มองเงาสะท้อนในน้ำเห็นการมองผ่าน Distortion พอดีตอนแรกเลือกสีตามความชอบก่อน ต่อมาจึง Improvise ตามหน้างาน อาจสรุปได้ว่าแว่นในการมองสิ่งต่าง ๆ ของคุณเบสมักสนใจมองในแว่นที่มีความหลากหลาย

คุณไมเคิล

  • แรกเริ่มทดลองเล่นกับพู่กันหมึก ต่อมาตอนเลือกสิ่งของที่สนใจคุณไมเคิลเลือกกิ่งไม้ ระหว่างการพินิจเขาค้นพบวิธีแตกกิ่งของต้นไม้มี 2 แบบเป็นเส้นตรงแล้วแตกออก กับ ปลายเล็กแตกเยอะ ๆ เมื่อมองจากด้านบนเห็นลักษณะการแตกวนขึ้นเป็น Spiral พยายามนับกิ่งว่ามีเป็นแพตเทิร์นอะไรไหมแต่เนื่องด้วยกิ่งเริ่มเหี่ยวทำให้วิเคราะห์ยาก แต่น่าสนใจว่าลักษณะการเหี่ยวของต้นไม้ต้นนี้เริ่มจากล่างขึ้นบนพยายามเก็บยอดข้างบนไว้ คุณเตยเสนอความเห็นว่าอาจเหมือนกับกระเพราที่ด้านในดอกยังเก็บเมล็ดไว้เมื่อโดนตัดยังพร้อมให้ยังแพร่พันธุ์ได้ หลังจากนั้นเลือกสิ่งที่ไม่สนใจเลือกเป็นผ้าพันคอ เขาสังเกตเห็นแพตเทิร์นหลาย ๆ แบบของพื้นผิวผ้า ลักษณะขุย ๆ ตรงขอบผ้า เลือกวาดรอยพับ อีกสิ่งที่สังเกตคือเพชรที่ติดบนผ้าอาจดูเหมือนวงกลมแต่จริง ๆ เป็นหกเหลี่ยม ข้อนี้แม้แต่คุณแค๊ทเจ้าของผ้ายังไม่สังเกตด้วยซ้ำ เมื่อวาด Negative Space และเปลี่ยนมุมรู้สึกว่าวาดง่าย ในโจทย์ข้อสุดท้ายวาดตามความทรงจำ คุณไมเคิลจำได้แม่นและตอบอย่างมั่นใจว่านั่งจ้องแบบมาตั้งหลายชั่วโมงต้องจำได้เป็นแน่แท้ แล้วก็เติมสีสันเป็นทางยาวพาดบนภาพต้อนรับขบวน Pride ที่จะเริ่มในเย็นนี้
  • สิ่งน่าสนใจเกี่ยวกับงานมองของคุณไมเคิลคือ การเลือกหยิบผ้ามาสังเกตเพราะทำให้ทุกคนรู้ว่าแท้จริงแล้วเพชรบนผ้าไม่ใช่วงกลม เขาเด่นเรื่องการซูมเข้าไปเห็นรายละเอียด จากผ้าผืนใหญ่ กระทั่งดีเทลในการแตกกิ่งไม้ หากมองรวม ๆ วิธีการคิดแบบนี้ทำให้เราเข้าไปสู่ความจริงได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องตื่นเต้นกับอุปกรณ์เพื่อได้ทดลองเก็บข้อมูลต่าง ๆ

คุณแอล

  • คุณแอลเลือกหยิบอุปกรณ์ที่หน้าตาแตกต่างจากสิ่งที่คุ้นเคย รูปร่างคล้าย ๆ เทียนหอมที่ไหม้ แปลกดีและไม่เคยใช้ แรกสุดได้เส้นโค้งยุ่งเหยิงเมื่อใช้ชาโคลสนุกมือมาก แต่พอแผ่นที่สองได้เส้นเหลี่ยมคู่กับการใช้บรัชพู่กันซึ่งไม่เหมาะมากทำให้วาดยาก คุณแอลนำ Fidget Toy มามีเชปสีเหลี่ยมมองมุมไหนก็เลยเหมือน ๆ กันเลย ตอนวาดแยกส่วนเลยถอดแต่ละด้านออกมา ถอดรูปร่างแต่ละปุ่ม ถอดรูลึก ๆ สิ่งที่คิดว่าน่าสนใจน้อยสุดเลยเลือก ใบไม้แบน ๆ เนื่องจากไม่มีทรงเลยเริ่มดูจากลาย สังเกตเห็นการแตกกิ่งละเอียดจะแตกแค่จากแกนหลัก ไม่ได้เป็นสองแฉก พอลองส่องกับไฟ เห็นเท็กซ์เจอร์สูงต่ำ เห็นร่องของแต่ละอัน ก่อนวาดรูปทรงตอนส่องไฟ พอดูพื้นผิวเห็นเป็นก้อนกลม ๆ เล็กลงไปอีก ตอนลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกมองมุมบนกับมองอีกด้าน เห็นกระบอกน้ำชัดกว่าอย่างอื่น รู้สึกว่าได้เห็นอย่างหนึ่งชัดขึ้น แต่เห็นอย่างอื่นน้อยลง ตอนที่วาดจากความทรงจำวาดได้ไวกว่าเหมือนกับเพื่อนร่วมคลาส จำได้ประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่มีองค์ประกอบบางอย่างที่ลืม ๆ ไปบ้าง เช่นตุ๊กตาที่ไม่เห็นแต่จำได้ว่ามีอยู่ตำแหน่งใดของโต๊ะ
  • จากแบบฝึกหัดทั้งหมด เห็นวิธีการทำงานของตัวเอง ตั้งแต่ตอนทำแผ่นแรก ได้สนุกกับอุปกรณ์ที่ยังไม่เคยลอง แต่พอมีโจทย์เวลาเลือกจะเลือกอะไรที่ถนัดมากกว่า และสังเกตการจัดหน้ากระดาษว่ามักทำให้อยู่ในหน้ากระดาษตลอด สีไม่ปนกันมั่ว ภาพทุกอันมีลักษณะคล้าย ๆ กัน วาดตามแบบที่เราชอบและเห็นถึงความสัมพันธ์ของบริบทมากขึ้น

คุณส้ม

  • เริ่มด้วยอุปกรณ์ที่เลือก เธอชอบปากกามาร์กเกอร์ ต่อมาเลือก กระดิ่งลม สำหรับวาดแยกส่วน ทีแรกเห็นรูทรงครึ่งวงกลม พอหงายขึ้นรูปร่างเปลี่ยนเป็นวงกลม เวลาหงายเอียงข้างจะเห็นขอบที่ไม่เรียบของแก้ว เห็นเชือกถอดลักษณะมาเป็นสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นกรุ๊งกริ๊งมีรูปลักษณ์เหมือนเปลือกหอย มีความเป็นจุดๆ และเห็นดีเทลของจุดเชื่อมมากขึ้น อีกทั้งเชปของสีน้ำที่ทับกันและสังเกตถึงฟองอากาศของสีที่เกิดขึ้นเพราะเป็นงานระบายสีด้วยมือ และของที่เลือกสนใจน้อยสุดเลือก ใบไม้ เมื่อหยิบมาดูใกล้ ๆ โฟกัสพื้นผิวมากกว่ารูปร่าง จะเห็นว่ากิ่งแตกแบบซาบซ่า เหมือนผิวคนที่เส้นสายต่างเชื่อมกันไปเรื่อย ๆ ตอนที่เป็นโจทย์เรื่อง Negative Space คุณส้มแชร์ว่ายากกว่าเพราะต้องโฟกัสรอบ ๆ ดูหลาย ๆ อย่างระหว่างวาดพร้อมกัน เพื่อให้ตรงพื้นที่ว่างสื่อสารเป็นสิ่งนั้น ต้องคำนึงความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับของชิ้นนั้น เมื่อลองเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการวางสายตาต่ำลง เห็นเงาเข้มขึ้นมากว่าปกติ เลยเน้นเงามากขึ้นในการวาดโจทย์นี้ สุดท้ายการวาดจากความทรงจำใช้ความรู้สึกขณะทำลงไปโดยไม่ต้องรู้สึกว่ามันเหมือน วาดตามที่คิดในใจ วาดแล้วแฮปปี้กว่าการวาดแบบอื่น เลือกใช้สีสามระดับ เพราะตอนที่วาดลืมวาดบางอย่างที่อยู่ด้านหลังก็เลยเอาสีเข้มขึ้นมาวาดทับด้วยการใช้สีที่โปร่งกว่าเพื่อวาดของอีกชิ้น
  • เมื่อกางกระดาษออกดูในช่องแรกเห็นเชปมากกว่าปกติ รู้สึกว่าช่วงแรกเห็นสิ่งใดก็ถอดตามแบบออกมาเลย Fix กับโจทย์เกินไป พอมองไปเรื่อย ๆ รูปร่างที่วาดออกมาฟรีฟอร์มมากขึ้นและรู้สึกเชื่อมโยงกับโจทย์สุดท้ายด้วยการวาดจากความทรงจำมากที่สุด เห็นพัฒนาการของเส้นจากที่แข็ง ๆ เริ่มปล่อยจอยมากขึ้น หากเทียบกับคุณแก้วที่ถนัดสิ่งจากจินตนาการจะต่างจากส้มที่งานมักเป็นเคยชินกับการทำตามโจทย์ทำให้วาดแล้วอยู่ในกรอบเสมอ อีกทั้งบางอย่างที่เราไม่เข้าใจมันเมื่อได้ลองวาดแยก ๆ กันทำให้เข้าใจคุณลักษณะมากขึ้น เวลาค้นหาสำรวจถ้าเรามองด้วยวิธีเดียวกัน ข้างนอกดูยุ่งเหยิงแต่เข้าไปแยกมันอาจทำให้เราเข้าใจมันมากขึ้น

คุณแค๊ท

  • กิจกรรมแรกคุณแค๊ทชอบแท่งสีชอล์ค เมื่อตอนที่วิทยากรบอกว่าไม่ต้องวาดเหมือนได้ ตนรู้สึกอิสระขึ้นจากเดิมที่เกร็ง ต่อมาคุณแค๊ทเลือกใบไม้มาวาดเพื่อแตกองค์ประกอบ และเนื่องจากตนมีฐานคิดมาทางคณิตศาสตร์ เลยสังเกตหารแตกกิ่งเป็น 3 มุม แล้วย่อยมุมที่เห็นเป็นรูปร่างต่างๆ พอมองด้านข้างก็แยกออกเป็น 7 ส่วนอีก กิจกรรมย่อยที่สองยังคงเลือกเป็นใบไม้เล็ก ตอนวาดวาดเป็นหน้าหลังก่อนแยกองค์ประกอบ เข้มอ่อนต่างกัน พอลงไปดูลึก ๆ แยกองค์ประกอบ รู้สึกว่ารายละเอียดใบไม้น่าสนใจขึ้นหากเราตั้งใจดู พอโจทย์วาด Negative Space กลับข้างสิ่งที่ต้องวาด เลยเริ่มจากกำหนดขอบให้ชัด รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเพราะได้เน้นบริบท มีกรอบให้ชัดเพื่อเล่า กิจกรรมที่ 4 ย้ายมุมเห็นภาพที่กว้างขึ้นของรอบ ๆ มากขึ้น เห็นบริบทรอบนอกคอนเนคกับของมากขึ้น รู้สึกทุกอย่างเชื่อมโยงกัน มองของแล้วก็มองกรอบของมัน นึกเสมือนว่าตัวเองอยู่ตรงมุมที่วาดแล้ววาดเป็นบรรยากาศรวม ๆ ในบรรดากิจกรรมทั้งหมดชอบมุมมอง Negative Space เพราะได้วาดเป็นภาพใหญ่ของ Movement ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันในเฟรม
  • เมื่อได้กางกระดาษออกมาดูงานทั้งหมดรู้สึกว่าแรกเริ่มตนติดกรอบตามโจทย์เป๊ะ ก่อนเริ่มค่อย ๆ เริ่มทำตามแนวคิดของตัวเองด้วยการวิเคราะห์เป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งถึงโจทย์ Negative Space โจทย์ทำให้เห็นกว้างขึ้น ได้เชื่อมโยงมากขึ้นซึ่งเหมือนกับเวลาปกติที่ทำงานที่ตนมักจดจำเป็น Space and Time และจำเป็นบรรยากาศมวลรวม ๆ เน้นความรู้สึกเข้าไปจับมากขึ้น บันทึกความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ที่คนอื่นมักไม่สนใจ

คุณอะตอม (Note Takers)

  • จากการที่ได้ร่วมลองกิจกรรมไปพร้อมกับผู้เรียนและกลับมาสำรวจตัวเอง ธรรมชาติการคิดในงานตนเองคือย่อยให้เป็นรูปร่างที่ดูง่ายและใช้วัสดุเดียว และชอบเลือกเครื่องมือที่ถนัดสุดคือปากกา กิจกรรมช่วยให้กล้าทดลองเครื่องมือที่ต่างกันเพื่อสื่อสารสิ่งที่เรากำลังศึกษารายละเอียดจากการพินิจอยู่ เช่นตอนสังเกตพื้นผิวขรุขระของ Fidget Toy สีพาสเทลสื่อสารได้ดีกว่ามากกว่ามาร์กเกอร์มาก นอกจากนี้ปกติโดยส่วนตัวเมื่อวาดรูปมักจะติดกับการนั่งอยู่ที่โต๊ะ เมื่อได้รับโจทย์ที่พลิกแพลงให้วาด Negative Space บ้าง ลุกไปวาดจากมุมอื่นบ้าง รู้สึกท้าทายตนเองให้ฝึกพัฒนากระบวนการคิดในกรอบอื่น ฝึกการถอดกรอบกรรมวิธีวาดที่คุ้นเคยสู่พื้นที่ใหม่ อีกทั้งเข้าใจวิธีการพลิกแพลงการคิดของตนเองเพื่อครุ่นคิดเกี่ยวกับงานได้ลุ่มลึกมากขึ้น ถือเป็นกิจกรรมที่ได้รีเฟรชทักษะการวาดควบคู่การคิดที่ดีมาก ๆ

ทิ้งท้าย

คุณเบลเล่าถึงประสบการณ์ตอนที่ตนทดลองทำเวิร์กชอปนี้ในตอนแรกกับทีม ซึ่งเธอไม่ได้มีพื้นฐานดรออิ้ง เลยเลือกปากกา หลังกิจกรรมทำให้กล้าวาดมากขึ้น

คุณนัดเล่าตอนออกแบบกิจกรรมว่าพยายามถอยออกมาสำรวจว่าเวลาที่เขาหมกหมุ่นมาก ๆ เขามองหรือทำอย่างไร เห็นแง่มุมมากมายได้อย่างไร มองบริบทอื่นอย่างไร เช่นเขาถอยมาดูภาพรวมในความวุ่นวายบางอย่าง ค่อย ๆ มองของตรงหน้าอย่างแยกส่วนเพื่อให้เข้าใจรูปแบบมากขึ้น

คุณเติร์กจากที่ได้รวมดูกิจกรรม เห็นได้ว่า แต่ละคนมีวิธีทำความเข้าใจที่หลากหลายแบบ เช่นบางคนเลือกเก็บภาพเป็น Outline บางคนเก็บภาพเป็น Texture ใบไม้ที่มีรูปร่างอิสระแต่พยายามทำความเข้าใจหลักการการแตกกิ่ง การสังเกตเห็นรายละเอียดเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้กับตอนที่เราพยายามพัฒนาโปรเจคขึ้นมาได้ด้วย

กิจกรรมทั้งหมดออกแบบมาให้เรียนรู้ว่าวิธีการมองของเราเป็นอย่างไรและบันทึกไว้เพื่อที่เวลาเรากลับไปสำรวจจะได้เข้าใจท่าทีของตนเอง เช่นวิธีพี่แค๊ทอย่างการสร้างกรอบด้วยการกำหนดขอบโต๊ะก่อนเพื่อให้รู้

ขอบเขตของตน ของคุณแก้วเลือกที่จะแยกแยะอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจอาจเหมาะกับ Wicked Problem เพราะน่าจะช่วยในการถอดปัญหาทีละอย่างมาทำความเข้าใจ

คุณสันติสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรมวันนี้ ทุกคนได้มองสิ่งต่าง ๆ และถอดแพตเทิร์นการมอง เมื่อเราแทนที่คำว่า มอง ด้วยคำว่า คิดว่า จะทำให้การวาดเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลาย ๆ อย่างที่เรายังไม่มี หรือเคยมี หรือไม่รู้ว่ามีรึเปล่า ในคอร์ส Stone in Your Mind การบ้านคลาสแรกให้ทุกคนหาหินที่สะท้อนถึงตัวเราที่สุด นักเรียน 9 คนที่เรียนสายออกแบบหาก้อนหินที่คิดว่าใกล้เคียงมาได้ยกเว้นเพียงผู้เรียน 1 คนที่จบนิติศาสตร์ที่ไม่ได้หาก้อนหินมาเพราะตนรู้สีกว่าไม่มีก้อนหินไหนเหมือนกับที่เขานึกภาพไว้ แสดงให้เห็นว่า Design Mindset ไม่ได้จำเป็นต้องอยู่กับคนที่จบการศึกษาหรือเกี่ยวข้องกับสายงานออกแบบ คนอื่นยอมผ่อนปรนความคิดแต่มีเพียงคนเดียวที่กระทำตรงกันข้าม
ในวันนี้ระหว่างดำเนินกิจกรรมทุกคนได้รู้จักกับอุปกรณ์ทั้งคนที่ยังไม่เคยวาดรูปมาก่อนก็ได้ลองประสบการณ์ใหม่ ได้เรียนรู้จากคนข้าง ๆ และกล้าเพิ่มสีเพิ่มลูกเล่นลงในงานตนเอง เช่นของคุณน้ำอุ่นใช้สีเขียวเล่าใบไม้ บางคนเริ่มใช้สีในการเล่าเรื่องต่าง ๆ เช่นคุณไมเคิลที่เลือกใช้สีเป็นสัญญะอะไรบางอย่าง เป็นวิธีสื่อสารในแต่ละแบบของแต่ละคน ทุกคนได้มองแยกส่วน ไตร่ตรองแบบแยกส่วนแบบภาพรวมตลอดจนผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้น เกิดความเข้าใจบางอย่างส่งผลต่อแนวคิดถัดไปเพื่อรื้อโครงสร้างหรือสลับสับเปลี่ยนเกิดโครงสร้างใหม่ได้

ประสบการณ์แรกทำให้เราพบกับปรากฏการณ์ตรงหน้ามีโจทย์ และได้สำรวจพร้อมพิจารณาเป็นส่วน ๆ ได้ สามารถนำพาสู่วิธีคิดแบบใหม่ได้

ประสบการณ์ที่สองเกี่ยวกับความสนใจหรือไม่สนใจ มนุษย์ส่วนใหญ่มีคำว่า Pre-conception อยู่ในตัว ภาพในหัวนั้นทำให้เราตัดสิ่งที่ไม่สนใจออกไปโดยอัติโนมัติ กิจกรรมในคลาสพยายามรื้อภาพจำเหล่านั้นออก พักไว้ เพื่อสำรวจนอกอาณาเขตที่เราสนใจ เผื่อเจอข้อมูลที่น่าสนใจก่อนนำกลับมา ธรรมชาติของเรามองด้วยความชัดตื้นอยู่แล้ว การฝืนธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน

ประสบการณ์ที่สาม Figure/ground อาจมองได้ว่าวงกลมที่อยู่บนกระดาษสีขาวหรือภาพสีขาวที่เจาะเป็นวงกลม กล่าวได้ทั้งสองแบบเป็นจิตวิทยาหนึ่งเพื่อตอบสนองกับสิ่งนั้น การ Study เลยเป็นการมองสองด้าน มองบริบทกับมองปัญหา กระบวนการวาดรูปเอื้อกับการฝึกหัดการคิดของเราได้ เงาเป็นฟอร์มเดียวกับวัตถุก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เล่าถึงสิ่งนั้นหรืออาจต่อยอดถึงการตระหนักในปัญหาบางอย่างได้ 

ประสบการณ์ที่สี่ย้อนกลับไปที่การมอง การเปลี่ยนตำแหน่งก็เหมือนกับการเปลี่ยนบทบาท พอเราเปลี่ยนตำแหน่งเราสามารถเห็นมุมมองที่หลากหลายขึ้น เหมือนดั่งการสลับบทบาทเป็นผู้ใช้แทนผู้ออกแบบ ลองย้ายตำแหน่งตนเองเพื่อให้เห็นในอีกมุม

ประสบการณ์ที่ห้าวาดภาพจากสิ่งที่ตกค้างในความคิด  การเป็นตัวแทน Representation ถึงประสบการณ์ที่เราเคยพบของสิ่ง ๆ นั้นหรือไม่ใช่สิ่งนั้น เปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้บอกเล่าถึงสิ่งนั้นเพียงแค่ไหน คุณมีสารสำคัญอะไรที่จะพูดออกไป เอาตัวเองเบลนเข้าไปหาสิ่งนั้นแล้วจะสมดุลอย่างไรระหว่างโจทย์และสิ่งที่ยึดถือ บางคนเลือกนำเสนอบรรยากาศภาพรวม บางคนเลือกวาดแค่ชิ้นเดียว อย่างเส้น Outline ที่ถ่ายทอดมาเป็นดั่งตัวแทนของความทรงจำ วิธีการนำเสนอแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาแค่บางส่วนแทนของทั้งหมดมาเล่าเฉกเช่นโลโก้กทม.ที่หยิบฟ้อนต์นริศมาตัวเดียวทั้งที่มีฟ้อนต์มีมากมาย ผู้เรียนได้ลองสวมรอยการมองเป็นบุคคลที่สาม แทนตัวให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง หากคุณไม่วางสิ่งเดิมที่มีก็ไม่มีพื้นที่ให้สิ่งใหม่เข้ามา ผ่อนคลายลงเพื่อที่จะกล้าไปลองอย่างอื่นมากขึ้น Incubation เกิดจากการวาดและทำอย่างเข้มข้นอย่างมีสติ แต่อินพุตใหม่ด้วยการไปมองดูนั้นสำคัญเหมือนกันไม่ต่างจากอิคคิวซังที่ต้องไปสถานที่ก่อน แล้วกลับมาต่อมาผ่อนคลายก่อนใช้สมองก่อนเริ่มแก้ปัญหา

ท้ายสุดนี้จากกิจกรรมในวันนี้ทุกคนจะมีมุมมองในการเข้าหาปัญหาที่หลากหลายขึ้นจากเก่า

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG