Exchange: EP25, Redesigned The Tradition

บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564

ในหนังสือ แด่บัณฑิต ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์เคยเล่าถึงประโยคบอกเล่าของสุจิตต์ วงษ์เทศความว่า ประเทศของเรามีแนวคิดแบบเถรวาท

เถรวาทเป็นความคิดหลักของอุปสรรคในการพัฒนาทางด้านต่างๆ กล่าวถึงเนื้อหาสาระคือ การมุ่งเน้นความคิดความเชื่อตามครรลองครองธรรม เคารพ/ทำตามผู้ใหญ่ ห้ามคิด ห้ามเถียง เชื่อฟัง คล้อยตามได้อย่างเดียว

ความคิดแบบเถรวาทยังยึดโยง ผูกพันเข้ากับวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยมในสังคมต่างๆ อย่างแยบยลจนแยกออกจากกันได้ยาก หากเพียงแต่คำถาม ความสงสัยใคร่รู้จะสามารถเขย่าฐานความเชื่ออันมั่นคงลงได้ ก็คงจะยากยิ่งนักที่จะปรับเปลี่ยนความเชื่อ ความศรัทธา

กล้าคิด กล้าถาม กล้าเถียง กล้าสงสัยใคร่รู้ จึงไม่อยู่ในกรอบของเถรวาท อยู่นอกขนบความเป็นเด็กดี ยากต่อการพัฒนาและอภิวัฒน์ไปข้างหน้า

แต่ไม่ใช่กับงานออกแบบ
หลากหลายงานออกแบบมีรากฐานจากความสงสัยใคร่รู้ การตั้งคำถาม การคิด ทำงานอยู่นอกเหนือความเชื่อตามปกติ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เงื่อนไข และจุดประสงค์ของชิ้นงาน

ชุดเซรามิกเครื่องไหว้เจ้าจีนและกระดาษไหว้เจ้ารักษ์โลก เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่มีที่มาจากการตั้งคำถาม ใช้ความสงสัยใคร่รู้ ต่อประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีนอย่างประเพณีการไหว้เจ้าในช่วงวันตรุษจีนนั้นเอง

งานออกแบบชิ้นนี้ นำเสนอ ทางเลือกและอนาคตของพิธีกรรมเผากระดาษด้วย เนื่องจากพิธีกรรมการเผากระดาษในอดีตนั้น เป็นดั่งวัฒนธรรมที่เราสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน บางคนไม่ได้อยากจะเปลี่ยนแปลงมัน ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะว่ามีการสืบทอดทางวัฒนธรรมมาแบบนี้ ตามตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ตามต้นตระกูล

หากแต่พอได้ลองศึกษา ตั้งคำถาม สงสัยใคร่รู้แล้ว แล้วลองกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์กลับทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้วกระดาษไหว้เจ้าจีนนั้น ไม่ได้มีการเผากระดาษ หากแต่เป็นการฝังของมีค่าไปพร้อมกับที่ตั้งของสุสาน จวบจนมาถึงยุคสมัยหนึ่งที่มีการใช้กระดาษแทนค่าเงินตรา จนถูกพัฒนามาเป็นการเผากระดาษแทนในปัจจุบัน

นอกจากนี้งานออกแบบชิ้นนี้ยังร่วมถึงการออกแบบ ตัวชุดเซรามิคทำเลียนแบบรูปทรง ภูเขาสูงตามหลักฮวงจุ้ยที่ดีของชาวจีน และที่สำคัญ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิตไป จนถึงหลังการอุปโภค

ตัวก้อนทองเซรามิคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องไหว้ในพิธีสามารถใช้ซ้ำได้ทุกปี แทนตัวกระดาษไหว้เจ้า ตัวมูลค่าของการเผาเงินถูกแปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบการบริจาคเงินในนาม บรรพบุรุษแทน ตัวกระดาษใบเสร็จหลังบริจาคเป็นกระดาษพิเศษที่สามารถละลายน้ำได้ และพิมพ์ด้วยหมึกถั่วเหลือง สามารถนำไปเผาด้วยน้ำในเครื่องเตาเผาไอน้ำขนาดเล็กที่สามารถเผาในบ้านโดยไม่ก่อมลพิษ ส่วนตัวน้ำและกากกระดาษที่เหลือจากการเผา สามารถนำไปรดน้ำต้นไม้หลังเสร็จพิธี เป็นปรับเปลี่ยนพิธีกรรมให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในบริบท และคำนึงผลกระทบต่อสังคมในยุคสมัยใหม่ [1]

จะเห็นได้ว่าจากการตั้งคำถามต่อประเพณีที่ยึดถึงลงรากลึกในอดีต กลับสามารถที่จะตั้งคำถามเพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงบางกระบวนการเพื่อให้ประเพณี วัฒนธรรมนั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่มีพื้นที่ในการดำเนินพิธีกรรมน้อยลง พฤติกรรมการใช้ชีวิตปัจจุบันเรียกร้องต่อการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรม และการคิดถึงผู้คนในสังคมมากขึ้น

สังคมเราไม่อาจจะก้าวไปข้างหน้าได้เลย หากไม่ได้ตั้งคำถาม หากไม่ได้ความสงสัยใคร่รู้ ว่าบางสิ่งบางเรื่องมีไว้ทำไม แล้วบางสิ่งบางเรื่องนั้นจะทำอย่างไรให้ยึดโยงผูกพันอย่างยั่งยืนในสังคมปัจจุบัน โดยไม่ถูกทำให้หายไป

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ชวนนึกถึงวลีที่พูดถึงการตั้งตนเป็นดั่งต้นไม้สูงใหญ่ หรือจะปรับตัวเป็นต้นไม้ที่ลู่ไปตามแรงลม

ที่เมื่อถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงจะยอมหักไม่ยอมงอ
หรือจะปรับตัวแปรเปลี่ยนอย่างยั่งยืนในสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

แหล่งอ้างอิง
[1] https://touch.demarkaward.net/product/6231

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG