Exchange: EP28, Design Therapy

บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564

ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ความรวดร้าวเร่งรัดร่างของคนหนุ่มสาวในเมืองหลวงฝันสลายท่ามกลางม่านหมอกที่ปกคลุมความฝันด้วยควันสลัวฝุ่นสีเทา กลับกลายเป็นเรื่องราวที่พบได้บ่อยครั้งตามโลกออนไลน์ก็ดี ตามคนรอบตัวก็ดี  

ใช่, ไม่ใช่แม้แต่กับคนหนุ่มสาวหรอก แต่ในที่นี้ยังนับรวมถึงคนในหลากหลายวันวัยที่มีความรวดร้าวรัดร่างของพวกเขา

หากมีใครบางคนรับฟัง
รับฟังด้วยการไม่ตัดสินบ้างก็คงจะดี

ความรู้สึกสันสนอลหม่านนั้นปนเปไปด้วยความแปลกประหลาดใจบ้าง ไม่ประหลาดใจบ้าง ที่หลากหลายคนกลับกลายเป็นคนขาดวิ่นว้าแหว่ง มิได้สมบูรณ์เฉกเช่นพระเจ้าในภาพฝันครั้นโบราณกาล

มนุษย์คงจะเป็นเช่นนี้ มิได้สมบูรณ์เพียบพร้อม หากแต่เพราะความเป็นมนุษย์กลับหมายถึงการประคับประคอง ช่วยเหลือ รับฟังโดยไม่ตัดสิน เข้าอกเข้าใจและนำข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาเรียนรู้เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า มิใช่การโบยตีด้วยความผิด โยนความมิชอบแล้วหักเหหลบหนีถอยหลังลงคลอง

ความเข้าอกเข้าใจ(Empathy) กลับเป็นหัวข้อที่มีสาระสำคัญในการออกแบบและพัฒนางานศิลป์รวมถึงการเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน ความเข้าอกเข้าใจนี้เองที่ ปัท–ปรัชญพร วรนันท์ นำมาออกแบบกระบวนการเยียวยาสร้างประสบการณ์ความปลอดภัยในการบำบัดด้วยงานศิลปะ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบห้อง วางอุปกรณ์ การใช้แสง การนั่งทำงาน ออกแบบโครงสร้างกระบวนการ เพื่อสร้างกระบวนการที่ปลอดภัยและคาดเดาได้ของการเยียวยา รวมถึงใช้การสังเกตการณ์อารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ของร่างกาย ร่วมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยน การยอมรับว่าเขาเป็นตัวเขา มิใช่ภาพวาดหวังของคนอื่นที่อยากให้ตัวเขาเป็น

การบำบัดด้วยงานศิลปะ เป็นสื่อกลางตัวหนึ่งในการบอกเล่า เป็นสื่อกลางในการกล่าวความรู้สึกของผู้เข้าร่วมการบำบัด ออกแบบกระบวนการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เข้าร่วมการบัดำบัดจากการ ผ่านการค้นหาตัวเองผ่านการทำศิลปะบำบัด หรือกระทั้งมีเรื่องราวของเขาเอง ผ่านการสังเกตการณ์ผ่านงานศิลปะ หรือจากการพูดคุยด้วยบทสนทนา

การออกแบบกระบวนการบำบัดด้วยงานศิลปะนี้เองที่สัมพันธ์กับการเติบโตทางด้านจิตใจของผู้เข้าร่วม ตามความรู้สึกไปเรื่อยๆ จากการสังเกตผลงานศิลปะ ซึ่งนอกจากกระบวนการออกแบบโดยใช้งานศิลปะแล้วกระบวนการออกแบบกลับนำมาใช้ในการออกแบบกระบวนการสนทนารับฟัง

จะเห็นได้ว่ากระบวนการออกแบบกลับเป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้โดยทั่วไป และสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของคนเรา โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี เรามักจะมีการใช้กระบวนการออกแบบเสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นเดียวกับสิ่งที่เธอทำด้วยการออกแบบกระบวนการศิลปะเพื่อทำการบำบัดอาการรวดร้าวจากชีวิตที่ขาดวิ่นหว้าแหว่งของแต่ละคน

กระบวนการออกแบบบำบัดด้วยงานศิลปะเป็นหนทางหนึ่งในหลากหลายกระบวนการให้การริเริ่มรักษาเยียวยาจากอาการซึมเศร้ารวดร้าวรัดร่าง

หลายครั้งมีให้เห็น ว่าเราต้องการแค่ใครสักคนรับฟัง รับฟังโดยไม่ตัดสิน รับฟังด้วยใจ แล้วผ่านพ้นความเจ็บปวดไปด้วยกัน ด้วยการเริ่มต้นการออกแบบการรับฟังด้วยศิลปะบำบัด

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG