“Fragility” Exhibition

Solo Exhibition by BallPiyaluk (Piyaluk Benjadol)
17 April – 7 May 2021
at ± PRACTICAL space
Organize by ± PRACTICAL school of design

Curator’s note
กนกนุช ศิลปวิศวกุล

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังเผชิญ ความกังวลต่ออุปสรรคและปัญหามากมายรอบตัว ส่งผลต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจนถึงพฤติกรรม หากสังเกตไปรอบๆ ในแต่ละวัน เราอาจพบว่า เรารับรู้ เรียนรู้ ร่วมเหตุการณ์ และร่วมประสบการณ์ไปด้วยกันกับใครอีกหลายคน ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จักก็ตาม เราจะเริ่มพบว่าไม่มีใครเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

ปิยลักษณ์ เบญจดล รับมือกับความเจ็บป่วยเพียงลำพัง และใช้เวลาสร้างสรรค์งานศิลปะแต่ละชิ้นเพื่อเยียวยาร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2561 จนถึงปลายปีพ.ศ. 2564 ผ่านรูปแบบและวิธีการที่เอื้อต่อสภาพร่างกายในแต่ละช่วงของการเจ็บป่วย โดยชิ้นงานแต่ละชิ้นเกิดจากการประกอบสร้างด้วยความปราณีตละเอียดอ่อนจากของเก่าที่สะสม ของเล่นมือสอง ของใช้ใกล้ตัว รวมไปถึงเส้นผมของตนเอง รวมถึงการผสมผสานทักษะการถักโครเชต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการถักเสื้อผ้าของคุณแม่มาตั้งแต่วัยเยาว์

นิทรรศการ Fragility นี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ ประกอบด้วยผลงาน 4 ชุดอันได้แก่ Pin Cushion Series, Matter of Existence: ME Series, Miniature Oddities Series และ Loved and Gone Series รวมทั้งสิ้น 69 ผลงาน แม้ชิ้นงานอาจดูมีจำนวนมากสำหรับพื้นที่แสดงงานที่ไม่ใหญ่นัก แต่ภัณฑารักษ์ขออนุญาตแสดงงานทั้งหมดเนื่องจากทุกชิ้นงานถือว่ามีความสำคัญต่อการก้าวผ่านความเจ็บป่วยในแต่ละวันของศิลปิน โดยพื้นที่จัดแสดงแบ่งชุดงานออกเป็น 4 โซนเปรียบกับแต่ละห้วงเวลาที่ศิลปินสร้างสรรค์แต่ละชุดงาน และผลงานแต่ละชิ้นในแต่ละโซนถูกลำดับการจัดวางโดยคำนึงถึงการเยียวยาตัวเองของศิลปินที่ดำเนินไปในแต่ละวัน

แม้ที่มาและกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานทั้ง 69 ชิ้นนี้จะเต็มไปด้วยความเปราะบางของศิลปินและของชิ้นงาน แต่ผลงานทุกชิ้นกลับเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง ความแข็งแกร่ง และความพยายามที่จะมีชีวิตของศิลปิน ในฐานะภัณฑารักษ์ของนิทรรศการเชื่อว่าผลงานชุดนี้ไม่เพียงแต่สามารถเยียวยาและฟื้นฟูตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์งานได้เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งพลังและกำลังใจให้กับผู้ที่ชมงานแต่ละคนได้เช่นกัน

ผลงานชุดนี้จึงเปรียบเสมือนรูปธรรมที่เปราะบางของการมีชีวิต ทว่าในความเปราะบางนั้น เปี่ยมด้วยความเข้มแข็งและพลังชีวิต จนเอ่อล้นแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อย่างบริสุทธิ์งดงาม

Curator’s View 01-05

Curator’s View 01
Miniature Oddities Series
งานจิ๋วแต่พลังมหาศาล

เมื่อของที่ส่งพลังถึงเราไม่จำเป็นต้องใหญ่เสมอไป ผลงานชุดนี้ของ BallPiyaluk (Piyaluk Benjadol) พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าชิ้นงานขนาดไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เซ็นต์ก็สามารถส่งพลัง สร้างเสน่ห์ และดึงดูดให้ผู้ชมงานอย่างเราๆ อยากเข้าไปยลโฉมพร้อมฟังเสียงกระซิบใกล้ๆ จากชิ้นงานแต่ละชิ้น

ผลงานชุดนี้ชวนให้เราสนุก สำรวจ ค้นหา ตั้งคำถาม ชวนให้เราได้คิดถึงที่มาที่ไปของของจิ๋วแต่ละชิ้นที่ศิลปินนำมาประกอบสร้าง แหล่งที่มาที่หลากหลาย วัสดุที่หลากหลาย ความเข้ากันและไม่เข้ากัน แต่อยู่ร่วมกันอย่างพอเหมาะพอดีราวกับเนื้อคู่ การประกอบกันของเรื่องราวและเนื้อหาที่ติดตัวมาจากแต่ละวัสดุต้นทาง ชิ้นส่วนประกอบสร้างที่มากกว่า 1 ชิ้นแต่ส่งเสริมกันทั้งสีสัน พื้นผิว รูปร่างรูปทรง ทุกอย่างล้วนสร้างเสน่ห์ให้กับชิ้นงานแต่ละชิ้น และเมื่อชิ้นส่วนเหล่านี้ได้รับการประกอบสร้างแล้วก็ชวนให้เราได้คิดถึงเนื้อหาและเรื่องราวใหม่ๆ ที่ศิลปินและชิ้นงานทั้ง 19 ชิ้นนี้ต้องการจะบอกเล่าให้เราฟัง

ผลงานชุดนี้แม้จะเป็นเสียงกระซิบ แต่ก็เป็นเสียงกระซิบที่ดังกึกก้องในหัว และยังคงประทับอยู่ในใจ

หมายเหตุ : ภาพแต่ละชิ้นงานที่นำเสนอพร้อมข้อความชุดนี้ภัณฑารักษ์นำเสนอในมุมเสยนิดๆ เพื่อต้องการเชิดชู ให้คุณค่า และบอกเล่าว่าผลงานแต่ละชิ้นแม้จะเล็กแต่ก็มีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่

Curator’s View 02
Cabinet of curiosity
ร่วมเดินทางย้อนอดีตมาสู่ปัจจุบันและแว๊ปไปอนาคตกับศิลปิน

ศิลปินเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า Cabinet of curiosity ที่ศิลปินจัดเตรียมมาให้ผู้ชมงานทุกคนสามารถหยิบจับและเปิดดู ซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วน วัสดุ ของสะสม และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เป็นต้นทางและระหว่างทางของการสร้างสรรค์ผลงานทั้ง 4 ชุดในนิทรรศการ Fragility

ทุกชิ้นส่วนที่เรียงรายอยู่บนชั้นและในแฟ้มผ่านการนำเสนออย่างปราณีตมีระบบระเบียบของศิลปิน กำลังเชิญชวนให้ผู้ชมงานร่วมเดินทางย้อนอดีตไปกับศิลปิน ชวนคิดถึงที่มาที่ไปของชิ้นส่วนที่นำมาประกอบสร้างสู่ผลงานแต่ละชิ้น แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่ได้รับมาจากคุณแม่และคู่ชีวิต เช่น Marmie : Paper doll ที่ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแต่งตัวของคุณแม่ บางชิ้นมาจากของสะสม ของเล่นมือสองที่ได้จากการเดินตลาดของเก่าร่วมกับคู่ชีวิต มาสู่ปัจจุบันที่เป็นผลงาน 69 ชิ้นในนิทรรศการ Fragility และทุกชิ้นส่วนในพื้นที่ Cabinet of curiosity นี้ยังชวนให้เราคิดและจินตนาการไปถึงอนาคตที่กำลังประกอบสร้างเป็นงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ๆ อีกด้วย

พื้นที่นี้ในความคิดของภัณฑารักษ์ ศิลปินไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ชมสนุกไปกับต้นทางและระหว่างทางของการประกอบสร้างผลงาน เรารับรู้ได้ถึงความสุขในกระบวนการสร้างสรรค์ การชุบชีวิตให้กับชิ้นส่วนต่างๆ และพื้นที่นี้ยังสามารถนำพาความทรงจำของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น ความทรงจำของศิลปิน ไปจนถึงความทรงจำของผู้ชม มาอยู่ร่วมในห้วงเวลาเดียวกันได้อย่างอ่อนโยนและอบอุ่น 

Curator’s View 03
Matter of Existence (ME) Series
จากไจสู่ใจ

เมื่อภาษาและเรื่องราวไม่จำเป็นต้องออกจากปากเสมอไป ใครหลายคนอาจพูดได้หลายภาษา หากศิลปินแต่ละคนก็มีภาษาในแบบของตัวเอง และ BallPiyaluk (Piyaluk Benjadol) ก็เช่นกัน ผลงานชุด Matter of Existence (ME) Series และ Pin Cushion Series เป็นผลงาน 2 ชุดแรกที่ศิลปินสร้างสรรค์ และเป็น 2 ชุดที่ใช้โครเชต์เป็นภาษาสำคัญในการดำเนินเรื่องราว

ภาษาที่สวยงามปราณีตสละสลวย และสีสันที่สดใสน่ารัก จากการประกอบสร้างระหว่างไหมพรมโครเชต์ ของเล่นพลาสติก ตุ๊กตาไม้ และของเล่นไม้ เป็นตัวบอกเล่าเนื้อหาและเรื่องราวที่ศิลปินกำลังดำเนินและเผชิญอยู่ในระหว่างการสร้างสรรค์ผลงาน

โครเชต์ไม่ได้เป็นแค่ภาษาและสำเนียงของศิลปิน แต่คือกระบวนการเชื่อมโยงเนื้อหา เรื่องราว ความสัมพันธ์ ความผูกพัน และความทรงจำจากอดีตที่เป็นการรื้อฟื้นทักษะที่ศิลปินเคยทำตั้งแต่วัยเยาว์มาสู่ช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ ในผลงานชุดนี้ศิลปินแทนรูปร่างรูปทรงการปรากฏของไหมพรมโครเชต์ในผลงานแต่ละชิ้นเป็นตัวศิลปินเอง พร้อมกับอักษรย่อ P ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่สัญลักษณ์อักษรย่อจากชื่อของศิลปิน แต่คือร่องรอยแผลเป็นที่ได้รับจากการรักษา

ผลงานชุดนี้ไม่ได้มีเพียง 9 ชิ้นที่จัดแสดงเท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ชิ้นพิเศษที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับมอบให้ผู้ลงทะเบียนเข้าชมนิทรรศการ

Curator’s View 04
Pin Cushion Series
มุมมองประสบการณ์ความคิดความทรงจำบางครั้งก็หวานบางครั้งก็ขมแต่ภัณฑารักษ์เชื่อว่าความหวานและขมนี้เปรียบเสมือนยาที่รักษาเราได้

ผลงาน 3D collage ชุดนี้ประกอบสร้างมาจากวัสดุต้นทางที่หลากหลายทั้งไหมพรมโครเชต์ ของสะสมชิ้นจิ๋ว เฟอร์นิเจอร์มือสอง ของเล่นมือสอง ของเล่นพลาสติก ของเล่นไม้ สิ่งของใกล้ตัว เซรามิค เครื่องเคลือบดินเผา ลูกปัด เข็มหมุดหลากสี ฯลฯ ในการดำเนินเรื่องราว การแปลงความเจ็บปวดจากเข็มจำนวนมากจากการรักษามาเป็นพลังในการบอกเล่า ที่ศิลปินสะท้อนมุมมอง ความคิด และทัศนคติที่มีต่อโลกและสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ บริโภคนิยม อำนาจนิยม เสรีภาพส่วนบุคคล ฯลฯ

ชุดยาสูตรเข้มข้นเคลือบน้ำตาลสีสวยสดชุดนี้เชิญชวนและเปิดอิสระให้ผู้ชมได้คิด จินตนาการ และตีความถึงเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ ยาชุดนี้จึงไม่เพียงแต่รักษาและเยียวยาศิลปินตลอดช่วงเวลาหลายปีในการรักษา แต่ภัณฑารักษ์เชื่อว่ายังสามารถเยียวยาและปลอบประโลมผู้ชมแต่ละคนได้เช่นกัน

Curator’s View 05
Loved and Gone Series
หลายครั้งการสูญเสียทำให้เราเริ่มต้นใหม่ค่อยๆลุกขึ้นเป็นก้าวย่างใหม่ที่เข้มแข็งและแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

ผลงานชุดนี้ชวนให้เราคิดและระลึกถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่และคุณค่าของสิ่งที่เราได้สูญเสียไป ศิลปินประกอบสร้างผลงานชุดนี้ผ่านเส้นผมของตัวเองที่เริ่มร่วงตั้งแต่รับการรักษาด้วยคีโมบำบัดเมื่อ 9 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มาประกอบกับผมของคู่ชีวิต ผมของเพื่อนสนิท ผมปลอม ของสะสม และของใช้ใกล้ตัว โดยสิ่งเหล่านี้ได้รับการสร้างสรรค์และประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ในช่วงแห่งการกลับมาของมะเร็งครั้งที่ 3 เมื่อปลายปี 63 ที่ผ่านมา

ระยะเวลาในการเก็บรวบรวม การใช้เวลาอย่างมีคุณค่าในทุกวินาที ผลงานชุดนี้จึงไม่เพียงแต่เยียวยาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของศิลปินในช่วงเวลาแห่งความเปราะบางตลอดมาเท่านั้น แต่ผลงานชุดนี้ยังสามารถส่งพลัง กำลังใจ และยังสามารถเป็นตัวแทนความทรงจำ การระลึกถึง และความรักที่ศิลปินต้องการส่งต่อผ่านผลงานทั้ง 69 ชิ้นให้กับผู้ชมและผู้ที่อาจต้องการครอบครองผลงานแต่ละชิ้นนั้น

ผลงานทั้ง 4 ชุด 69 ชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการ Fragility จึงเปรียบเสมือนรูปธรรมที่เปราะบางของการมีชีวิต ทว่าในความเปราะบางนั้น เปี่ยมด้วยความเข้มแข็งและพลังชีวิตที่ศิลปินเอ่อล้นแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อย่างบริสุทธิ์งดงาม และห้วงเวลาแห่งความรัก ความทรงจำ การถูกรักและเป็นที่รัก ที่จะคงอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป

*** เกร็ดเพิ่มเติมประกอบผลงานชุดนี้

ก่อนที่จะเป็นนิทรรศการชื่อ Fragility ที่มี 4 ชุดผลงาน ศิลปินตั้งใจจะจัดแสดงเฉพาะผลงานชุดนี้ซึ่งเดิมชื่อ Hair Series ภายใต้ชื่อนิทรรศการ Loved and Gone แต่ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้เป็นคนขอจัดแสดงผลงานทั้งหมดที่ศิลปินเคยสร้างสรรค์มา และขอเปลี่ยนชื่อนิทรรศการ ดังนั้นภัณฑารักษ์ขออนุญาตแบ่งปัน Artist Statement ที่ศิลปินเคยตั้งใจจะใช้ในนิทรรศการ Loved and Gone มา ณ ที่นี้

เส้นผมที่อยู่บนศีรษะในสไตล์ต่างๆ สร้างความพึงพอใจให้เจ้าของร่างกายและสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น เส้นผมและการมีอยู่ของมันบนร่างกายจึงมีความสำคัญในเชิงสุนทรียะทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับวัฒนธรรม แต่น่าแปลกใจว่าผู้คนส่วนหนึ่งกลัววิกหรือเส้นผมที่ไม่ได้อยู่บนร่างกาย บางคนรู้สึกขยะแขยงที่จะมองหรือสัมผัสมัน ผู้สร้างผลงานก็เคยมีอาการเช่นนั้นมาก่อน แต่เมื่อมีประสบการณ์เจ็บป่วยและสูญเสียเส้นผม ความรู้สึกเหล่านั้นก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

การสูญเสียเส้นผมจากความเจ็บป่วยเป็นความทุกข์ที่มีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมากเป็นประเด็นอันอ่อนไหวของผู้หญิงซึ่งมีธรรมชาติรักสวยรักงามและมักตกแต่งดูแลร่างกายรวมทั้งเส้นผมให้ดูงดงามอยู่เสมอ ความจำเป็นที่ต้องเผชิญกับสภาวะ “การไม่มีผม” จึงสร้างความแปลกแยกให้กับตนเอง แม้ว่าจะพยายามปกปิดด้วยวิธีการต่างๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติและดูปกติ แต่ก็เป็นภาพลักษณ์ที่สร้าง”ความไม่ปกติ” ที่สะดุดตาและมักสร้างคำถามต่อผู้พบเห็นอยู่เสมอ

ช่วงยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมตะวันตก “เส้นผม” ของบุคคลอันเป็นที่รักถูกนำมาสร้างเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องระลึกถึงอดีตเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจผู้สวมใส่ให้ระลึกถึงการสูญเสียและ “การจากไป” ของบุคคลนั้นๆ เส้นผมถูกนำมาทำเป็นเข็มกลัดสำหรับติดบริเวณที่ใกล้กับหัวใจหรือล็อกเก็ตห้อยคอเพื่อให้ “การถูกรักหรือเป็นที่รัก” ยังคงอยู่ตลอดไป ศิลปะจากเส้นผมและเครื่องประดับที่ทำจากเส้นผมจึงเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมความเศร้าโศกอาลัยต่อการตาย” (mourning culture) ที่เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้

จากมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับ “การสูญเสียเส้นผม” และ “ภาวะการไม่มีผม” จากความเจ็บป่วยถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ผ่านวัตถุที่ถูกประกอบร่างขึ้นใหม่จากของสะสมส่วนตัวของผู้สร้างผลงาน รวมทั้งเส้นผมที่ร่วงระหว่างการรักษา กระบวนการสร้างชิ้นงานที่ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบ แทรกอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันตามปกติ ห้วงเวลาที่ใช้ไปอย่างสงบและมีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการเยียวยาด้วยตนเอง เวลาที่ไม่สูญเปล่าไปกับความทุกข์เรื่องโรคภัยหรือความกังวลเรื่องการรักษา จึงมีคุณค่าอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของผู้สร้างผลงาน

ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้พยายามเชื่อมโยงความเปราะบางของจิตใจที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนทุกคน มากกว่าสื่อสารถึงความเศร้าเสียใจจากความเจ็บป่วยที่ผูกพันกับความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของตัวศิลปิน ผลงานชุดนี้จึงเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของห้วงเวลาเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ชีวิตของผู้สร้างผลงานที่พยายาม “อยู่รอด” หรือ “คงอยู่” ในรูปลักษณ์ของวัตถุที่จับต้องได้ และอาจทำหน้าที่เป็นเครื่องระลึกถึง “การถูกรักและจากไป”

Realated Content

11 Apr 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note – Epilogue
02 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #3
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #2
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #1
HASHTAG