Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #1

บทความนี้เป็นบันทึกการเรียนรู้ จากห้องเรียน Leave Your Mark 03 วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567
บันทึกโดยคุณพนิดา วสุธาพิทักษ์ (Leave Your Mark03 : Note Taker)

Instructor: เบล กนกนุช ศิลปวิศวกุล

Leave Your Mark

ให้การออกแบบ พาเราเคลื่อน “ที่”

การ “ขยับ” ครั้งไหนในชีวิต ที่ทำให้เรารู้สึก “เขย่า” หัวใจ
หรือเป็นตอนที่เราตัดสินใจเดินเข้าไปพูดคุยกับผู้คนใหม่ ๆ ที่ไม่รู้จัก
ห้วงจังหวะของการนั่งลงสำรวจตัวเอง ซึ่งค่อย ๆ เปิดเปลือยให้เห็นความเปราะบางภายใน
การต่อสู้กับกระแสเสียงสังคม เผชิญคลื่นลมความคิดปั่นป่วน
หรือแค่ในบางวันที่เราเดินออกไปซื้อปากกาแท่งใหม่ ลองสัมผัสกระดาษเนื้อพิเศษ สีสันไม่คุ้นเคย บางสิ่ง
ตรงหน้าทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการให้สี ลงน้ำหนัก ปล่อยการเคลื่อนของมือพาหัวใจเด็กน้อยเดินทางสู่ความหลงใหลในวัยเยาว์

โปรแกรมการเรียนรู้Leave Your Mark เปรียบเปรยตัวเองเป็นสายการบินพิเศษ ภายใต้รหัส LYM 003 ที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้โดยสาร–ซึ่งก็คือ ผู้เรียนแต่ละคน ได้มีโอกาสสำรวจและทดลองหาความเป็นไปได้ที่จะขยับตัวออกจากตำแหน่งที่ตั้ง นำพาตนเองเดินทางไปยังตำแหน่งแห่งที่ใหม่ ๆ
ตำแหน่งที่ตั้งของเรา อาจจะเป็นได้ตั้งแต่ แนวทางการทำงานแบบเดิม การมีทักษะความเชี่ยวชาญ การมีเครื่องมือที่ชำนาญ เรื่องราวที่เรารู้สึกผูกพัน หรือประเด็นที่ให้ความสำคัญ
แล้วพาตนเองเคลื่อนจากตำแหน่งที่ตั้ง ไปอยู่ในสถานการณ์หรือบริบทที่ท้าทาย
เป็นการ “ขยับ” ที่หวังส่งแรงกระเพื่อม เพื่อ “เขย่า” ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง รวมทั้งได้รับประสบการณ์ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานเฉพาะตน โดยละวางสายตาเพ่งมองจากผู้อื่นทิ้งไว้เบื้องหลัง
ประกาศจากสายการบินแจ้งว่า การเดินทางครั้งนี้ มีระยะเวลาบิน 4 สัปดาห์ ส่วนจะพาผู้โดยสารออกเดินทางไปที่แห่งใดนั้น…ยังไม่แน่ชัด

หากนักบินและลูกเรือ PS±D (PRACTICAL school of design) รับประกันว่า ผู้โดยสารจะได้รับความปลอดภัยและความสะดวกกายสบายใจตลอดเที่ยวบิน

จังหวะที่เราได้เริ่มขยับ
สัญญาณของการมีชีวิตก็เริ่มขึ้น

Leave Your Mark ขยับเข้าสู่ “พื้นที่การเรียนรู้”
Everyone, Every Design การออกแบบอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิต
จากแนวคิดข้างต้นของ PS±D โรงเรียนแบบรวมตัวเฉพาะกิจ ซึ่งนิยามตนเองว่า ที่นี่คือ “พื้นที่ทดลองเรียนรู้ด้านการออกแบบสำหรับทุกคน” ได้ถอดรหัสออกมาเป็นโปรแกรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ภายใต้ชื่อLeave Your MarkหรือLYMอำนวยการสอนโดยกนกนุชศิลปวิศวกุลและPS±DFacilitator
สำหรับ PS±D แล้ว Leave Your Mark ถือเป็นหนึ่งในหลักคิดสำคัญที่ทำให้คนพัฒนาตนเองได้ ด้วยการเสี่ยงที่จะเดินออกจากพื้นที่คุ้นเคย
กระบวนการเรียนรู้ของLYM เน้นแกนหลัก4 ด้านได้แก่การสำรวจตัวเอง (Check Yourself) ยกระดับแนวคิด (Shift Mindset) พัฒนาทักษะ (Up Skill) และเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยน (Exchange with Others) เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองก้าวออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมของตนเอง โดยมี Side Project เปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นเป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถลองทำสิ่งใหม่ ๆ  พัฒนาตัวเอง และค้นหาความสุข

แม้จุดเริ่มต้นของ LYM จะมาจากการทดลองทำกิจกรรมร่วมกับนักออกแบบในงาน Bangkok Illustration Fair และต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงาน happening exhibition แต่ในขวบปีที่ 3 นี้ LYM ได้ขยับขยายมาเป็นโปรแกรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติสำหรับนักสร้างสรรค์ทุกสาขา รวมถึงผู้สนใจการสร้างสรรค์แม้จะไม่มีพื้นฐานงานออกแบบมาก่อน และไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นคนที่มีพรสวรรค์หรือความเชี่ยวชาญด้านศิลปะเท่านั้น

นิยามคำว่า “นักสร้างสรรค์” ของโปรแกรมการเรียนรู้นี้ เปิดกว้างและเปิดรับคนทุกกลุ่มที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้ง วัย เพศ สถานะทางสังคม การศึกษา อาชีพ ประสบการณ์ ฯ

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้เรียนในรอบนี้ จึงมีตั้งแต่ น้องมานะ เด็กน้อย อายุ 7 ขวบ ไปจนถึงรุ่นใหญ่อย่าง คุณติ๊ ในวัย 52 หนึ่งใน PS±D Facilitator ที่ขยับลงมานั่งเป็นผู้เรียน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในตำแหน่งแห่งที่ใหม่ รวมทั้งผู้เรียนอีกจำนวนหนึ่ง ก็ไม่ได้มีพื้นฐานประสบการณ์ในสายของนักออกแบบ หากมีทั้งคนที่เรียนจบมาทางด้านกฎหมาย จิตวิทยา โบราณคดี หรือแม้กระทั่งวิศวกรรมศาสตร์
รูปแบบโปรแกรมการเรียนรู้ LYM ประกอบด้วย การเวิร์คช็อป การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การบรรยายและการสนทนา การนำเสนอ และการจัดแสดงผลงานนิทรรศการเพื่อเป็นผลประกอบการเรียนรู้แทนการมอบประกาศนียบัตร ซึ่งทั้งหมดอยู่บนฐานของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ไม่ใช่การป้อนข้อมูลให้กับผู้เรียนเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการเรียนรู้มุมมองความคิด เก็บเกี่ยวเรื่องราวจากบทสนทนา มาใช้ในการยกระดับและพัฒนาการเรียนรู้ด้านการออกแบบร่วมกัน

เราทุกคนคือ “นักสร้างสรรค์”

หัวข้อการเรียนรู้ในวันแรกของ LYM มีเป้าหมายเพื่อสำรวจแบบแผนความคิดและธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคน ในชื่อ You Are Here!
การเริ่มต้นทำความรู้จักผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง รอบด้าน นับเป็นสารตั้งต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเข้มข้นในเนื้อหาการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องปรับให้เข้ากับผู้เรียนเป็นรายบุคคล และช่วยให้กระบวนการสร้างสรรค์งานเปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบ
ผู้ร่วมเรียนรู้ในชั้นเรียน LYM 003 ทั้ง 12 คน มีที่มาที่ไป จุดเริ่มต้นการเดินทาง อย่างไรบ้าง ไปทำความรู้จักกันหลังจากบรรทัดนี้

  • คุณนุก นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ประจำสตูดิโอแห่งหนึ่ง มีงานอดิเรกเกี่ยวกับด้านศิลปะ ทั้ง จัดดอกไม้ ระบายสีน้ำ และเขียนบันทึก เธออธิบายว่า ตนเองมีศิลปะคอยโอบอุ้มชีวิต และอยากได้ทัศนะการออกแบบที่นำพาเธอออกเดินทางไปยังภูมิทัศน์ใหม่ ๆ รวมทั้งได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาพัฒนาเป็นโปรเจกต์ส่วนตัว

  • คุณปริม อดีตนักเรียนกฎหมาย เคยทำงานด้านการทูต และปัจจุบันเป็นนักธุรกิจดูแลแบรนด์เครื่องเสียงนำเข้า เธอมีความสนใจอยากจะสำรวจสิ่งใหม่ และชอบไปเดินดูงานตามแกลเลอรีต่าง ๆ

  • คุณออยล์ เรียนจบมาทางด้านจิตวิทยา มีงานอดิเรก เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังพอดแคสต์ ถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ปัจจุบันทำงานฝึกอบรมให้กับองค์กร และคอยสนับสนุนการทำงานของวิทยากรและทีม เธอปรารถนาจะได้เห็นตัวเองในมุมมองใหม่ที่ไม่เคยเห็น

  • คุณเติ้ล นักออกแบบคาแรคเตอร์อิสระ ที่มีร้านขายผลงาน NFT (Non-Fungible Token) เคยมีประสบการณ์การจัดแสดงงานมาแล้ว และสนใจทักษะการจัดระบบความคิดในการทำงาน

  • น้องมานะ เด็กน้อย อายุ 7 ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีความสนใจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ดูการ์ตูน พับกระดาษ ปั่นจักรยาน วาดรูป และเป็นนักประดิษฐ์ ความสนใจของเขายากจะคาดเดาและมีการแสดงออกที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

  • คุณฟ้าใส เป็นนักออกแบบกราฟิกและนักวาดภาพประกอบอิสระ ในนาม BlueCiiel เธอเคยมารับบทบาทเป็น Note-taker และเป็นศิษย์เก่าในคอร์ส A Stone in Your Mind ก่อนมาเข้าชั้นเรียน เธอใช้เวลาย้อนกลับไปสำรวจชีวิตตัวเองว่า ในแต่ละช่วงชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย รู้จักกับการออกแบบครั้งแรก จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน ชีวิตส่งผลกระทบอย่างไรต่อผลงานที่เธอทำบ้าง และเธออยากจะผลักดันตัวเองให้มีความสามารถในการเล่าเรื่องได้มากขึ้น เพื่อถ่ายทอดความงามที่เธอพบเห็นผ่านดวงตาคู่ใหม่ที่เปลี่ยนไปตลอดเส้นทางของการก้าวเดิน

  • คุณอุ้ย เรียนจบมาทางด้านโบราณคดี เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ และทำงานด้านการเขียนมาตลอด ทั้งข่าว บทความ งานวิจารณ์ บทสัมภาษณ์ แนะนำหนังสือ/ ภาพยนตร์ เธออธิบายมุมมองของเธอต่อศิลปะว่า เป็นมุมมองของบุคคลที่ 3 ผู้เฝ้ามอง แต่ยังไม่เคยมีมุมมองในฐานะคนที่ลงมือทำและสร้างผลงาน (Product of Art) ด้วยตนเอง

  • คุณเอิร์ธ เป็นนักออกแบบกราฟิก ที่มีผลงานใน Portfolio หลากหลาย ตั้งแต่ ออกแบบไลน์อัพดีเจ ออกแบบผลิตภัณฑ์ โปสเตอร์ภาพยนตร์ คิดแคมเปญโปรโมทให้ Netflix ทำงานโฆษณากับบริษัท Ogilvy ตลอดจนถึงการออกแบบเว็บไซต์ต่าง ๆ

  • คุณเบน เป็นนักออกแบบที่ชื่นชอบการทำงานกับความคิด และเป็นศิษย์เก่าในคอร์ส A Stone in Your Mind เธอเล่าประสบการณ์การเดินทางจากปัจจุบัน ย้อนกลับไปสู่งานสมัยเมื่อปี 2560 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทดลอง แสวงหาสิ่งใหม่ อยู่ตลอดเวลา เธอใช้งานศิลปะช่วยสื่อสารเรื่องยาก ๆ ขณะเดียวกันก็พัฒนากระบวนการคิดขึ้นอย่างแยบคาย ดังเช่นผลงานในคอร์ส A Stone in Your Mind ซึ่งเธอแปรเปลี่ยนก้อนหินให้กลายเป็นก้อนเมฆ เป็นการผสมผสานระหว่างความมีตัวตนและไม่มีตัวตน ปัจจุบัน เธอมีผลงานจัดแสดงอยู่ที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 7 BACC

  • คุณนีเป็นหนึ่งในผู้จัดงานหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 และเป็นศิษย์เก่าในคอร์ส A Stone in Your Mind เช่นเดียวกัน ผลงานของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลเช็งเม้ง จนกลายมาเป็นเรื่องราวของก้อนหินกับความทรงจำ แรงบันดาลใจในห้วงเวลาที่จิบชาร่วมสนทนากับคุณพ่อ ได้แปรรูปเปลี่ยนร่างมาเป็นน้ำหอม เพื่อบันทึกกลิ่นของชีวิตที่เคยดำรงอยู่ในห้วงเวลานั้น หลายปีที่ผ่านมา เธอคอยทำงานผลักดันนักสร้างสรรค์อยู่เบื้องหลัง ทำให้ร้างราจากวงการออกแบบไปเนิ่นนาน จึงอยากกลับมาฟื้นพลังการสร้างสรรค์ของตนเอง และรู้สึกชื่นชอบบรรยากาศการเรียนรู้ในรูปแบบของ PS±D

  • คุณติ๊กนักออกแบบกราฟิกและผู้ร่วมก่อตั้ง PS±D เขาพึ่งพาหลักคิด LYM ในการทำงานมาตลอด เพราะเปรียบไปแล้ว การทำงานสร้างสรรค์ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ไม่มีเส้นชัยความสำเร็จหรือยอดเขาที่แท้จริงมีเพียงแค่การดำรงชีวิตงานสร้างสรรค์ (Maintain) เอาไว้ให้มีพลังอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการมาร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ จึงเป็นการมาเพื่อหาทางรอดให้กับตัวเอง และหวังว่าจะได้พลังจากเพื่อนร่วมเรียนช่วยผลักดัน หลังจากที่เขาไม่มีผลงานจัดแสดงมา 2 ปีแล้ว เพราะรู้สึกว่าตนเองยังไม่มี “สาร” ที่รุนแรงพอจะเผยแพร่สู่สาธารณะ

  • คุณเอินเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Business School ประเทศอังกฤษ ชีวิตของเธอติดอยู่ในกรอบมาตลอด แม้จะได้มีโอกาสทดลองทำธุรกิจเพื่อสังคมกับเพื่อน แต่เธอก็ยังมีพบว่า ตนเองมีข้อติดขัดในเรื่องการทำความเข้าใจมนุษย์ เมื่อวันหนึ่งหัวหน้าเดินมาบอกว่า องค์กรกำลังปรับโครงสร้างใหม่ และอยากให้เธอลองหาอะไรทำเพื่อค้นหาตัวเอง และสร้างสิ่งที่เป็นของตัวเองขึ้นมา ด้วยความชื่นชอบเรื่องการออกแบบเป็นทุนเดิม แม้ยังกังวลว่าวาดรูปไม่เป็น แต่ก็ทำให้เธอตัดสินใจก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยและมาลงเรียนคอร์สนี้

±

บทเรียน LYM จากผู้เรียนมากประสบการณ์: การเคลื่อน “ที่” ของสันติ
จังหวะของแต่ละชีวิตมักจะมีจุดติดขัด (Struggle) อยู่เสมอ สิ่งที่เป็นหัวใจของLYMคือการเสี่ยงออกจากจุดเดิมที่เราชำนาญมาตลอดไปทดลองเล่นในสนามอื่น เพื่อทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้น

คุณติ๊กได้เล่าถึงประสบการณ์ LYM ตั้งแต่สมัยเรียน ที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ จนมาถึงวันที่มีอุปกรณ์ใหม่ ทันสมัย สะดวกสบาย ทำให้การทำงานมีความรวดเร็วมากขึ้น จนทักษะเดิมที่เคยถูกฝึกมา กลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีคุณค่า
ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เขาเคย LYM ไปยังจุดที่ดีและจุดที่แย่ แต่ทุกครั้งก็จะนำประสบการณ์มาคิดทบทวนและตกผลึกเพื่อต่อยอดเป็นการเรียนรู้ครั้งใหม่

เป็นการขยับไปเรื่อย ๆ ล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง ไม่มีอะไรรับประกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ การได้เคลื่อนที่ เพราะการขยับแม้เพียงเล็กน้อย นั่นแปลว่า สิ่งนั้นยังมีชีวิตอยู่

ครั้งหนึ่ง คุณติ๊กได้รับเชิญไปร่วมแสดงงานในเทศกาลการออกแบบกราฟิก ณ เมืองชาร์จาห์ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ “Figra Graphic Design Biennial 01: Ministry of graphic design”
ทว่า Curator กลับไม่ Brief รายละเอียดใด ๆ และบอกปัดให้ไปคุยกับคนร่วมแสดงงานแทน ท่ามกลางสภาวะกดดัน ต้องหาทางเอาตัวรอด คุณติ๊กจึงเลือกใช้เทคนิค Calligraphy ชื่อบุคคล เขียนเป็นรูปใบหน้าคนแทน เพราะเป็นทักษะที่มีความ Native และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ใด ๆ ท้ายที่สุดเขาก็สามารถเอาตัวรอดจากงานนั้นได้สำเร็จ เมื่อกลับมาสอบถาม Curator ในภายหลัง ก็พบคำตอบที่เป็นบทเรียนในเรื่อง LYM เนื่องจาก Curator ท่านนั้นเห็นว่านักออกแบบส่วนใหญ่มักชอบวางแผน จึงลองทดสอบดูว่าถ้าอยู่ในสภาวะที่ไม่มีแผน นักออกแบบจะจัดการอย่างไร ซึ่งเขาได้วิเคราะห์แล้วว่าคุณติ๊กน่าจะหาทางเอาตัวรอดได้และไม่น่าจะโกรธ

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย คุณติ๊กก็ยังพัฒนางานต่อ จนกระทั่งกลายมาเป็นผลงาน Bangkok, nice to meet you หรือ กรุงเทพ ยินดีที่ได้รู้จัก ร่วมแสดงในนิทรรศการ “กรุงเทพเปลี่ยนแปลง (PARADISE LOST)” ที่ BACC
ผลงานนี้ คุณติ๊กทำร่วมกับ เจ้าโซซู – สุนัขของคุณติ๊ก ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยการเดินเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักกับผู้คนที่อยู่ตามรายทาง ระหว่างการเดินจากบ้าน ไปจนถึง BACC ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

การใช้รูปแบบ Drawing ด้วยการเดินพบปะผู้คน ทำให้การออกแบบได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับผู้คนอย่างใกล้ชิด ระหว่างนั้นยังมีการถ่ายวิดีโอคนที่พบเจอ และบันทึกภาพของคนเหล่านั้นกลับเข้าไปปรากฏอยู่ในแผนที่ด้วย ซึ่งนับได้ว่า เป็นการ LYM จากการทำงานที่เคยเน้นความเนี้ยบของการออกแบบ กลับไปหาแหล่งข้อมูลที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวผู้คน และเปลี่ยนบทบาทจากคนเล่า กลายเป็นคนทำหน้าที่เก็บรวบรวมและถ่ายทอดแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกมีความสุข

บทเรียนดังกล่าว ยิ่งย้ำชัดว่า LYM เป็นการผลักดันให้นักออกแบบได้พัฒนากระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต และทำให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องการออกแบบได้

คุณติ๊กยังได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบ สำหรับคนที่รู้สึกหวั่นกลัวว่าไม่มีพรสวรรค์ด้านศิลปะ
โดยอ้างอิงถึงสามประสานการคิด Design – Science – Art

ดีไซน์เป็นส่วนผสมของการใช้เหตุผล อุดมคติ และการสำรวจแนวทางปฏิบัติ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงแก่นของการออกแบบที่เน้น การนำไปใช้ตอบสนองเป้าหมาย ไนเจล ครอส เขียนไว้ในหนังสือ Designerly Ways of Knowing1 ว่าทักษะการออกแบบนั้น เป็นหนึ่งในสามของศักยภาพเชิงสติปัญญาของมนุษย์เลยทีเดียว โดยอธิบายว่ามิติพื้นฐานทางการคิดทั้งสาม ได้แก่ การคิด เชิงดีไซน์ การคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และการคิดเชิงศิลปะ จะร่วมกันสร้างความสามารถทางการคิดอื่นๆ ของมนุษย์ได้อย่างไม่ สิ้นสุด ทักษะแบบวิทยาศาตร์จะสำรวจความคล้ายคลึงของสิ่งทั้งหลายที่แตกต่างกัน ส่วนแบบศิลปะจะสำรวจในทำนองกลับ กัน ในขณะที่ทักษะเชิงดีไซน์จะสรรสร้างองค์รวมที่ใช้งานได้ (Feasible Wholes) จากชิ้นส่วนที่ใช้ไม่ได้ (Infeasible Parts) ดังนั้นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีของพื้นฐานสามประสานนี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ทักษะการคิดอื่นๆ ได้ดีเช่นกัน

ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นฐานความคิดที่ทำให้ Thinking Skill อื่น ๆ งอกงาม ดังนั้น Art จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นทักษะติดตัวที่สำคัญสำหรับนักออกแบบ ซึ่งจะช่วยพยุงความคิดสร้างสรรค์ของเราไว้และทักษะเหล่านี้ล้วนอยู่ในกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาโดยตลอด

ทางวิทยาศาสตร์อาจจะค้นพบ (discover) แรงโน้มถ่วง เอนโทรปี หรือกฏธรรมชาติทั้งหลายผ่านการสังเกตและการวิเคราะห์ จนสามารถเปิดเผย ‘ความจริง (true)’ หรือพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นเป็นจริง แต่ทางดีไซน์ (design approach) นั้นจะปรับ เลนส์มองสิ่งสากล (universal) และความจริง (true) ให้เป็น ‘ความเฉพาะที่สุด (ultimate particular)’ และมองเป็น ‘ความเป็น จริง (real)’ แทน


±

เคลื่อนไปในโลกของ “การออกแบบ”
ทีมPS±D Facilitators ได้คัดสรรผลงานการ LYM ของศิลปินนักออกแบบและผู้คนที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลกมานำเสนอให้เห็นไอเดียใหม่ ๆ ที่น่าตื่นตา และชวนสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านการออกแบบให้เคลื่อนไปต่อ

± Hobby as a side-project โดย รมิ-รมิตา บุราสัย
การนำงานอดิเรกที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน มารังสรรค์เป็นโปรเจกต์ส่วนตัว

  • Ellen Lupton นักออกแบบ นักการศึกษา และนักเขียน ผู้หลงใหลการออกแบบตัวอักษรและการออกแบบกราฟิก เธอชื่นชอบการอบขนมคุกกี้ จึงนำงานอดิเรกมาเปลี่ยนเป็นเครื่องมือช่วยเล่าเรื่องราวและอธิบายข้อมูลการออกแบบที่ซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องง่ายต่อการเข้าใจ
    เข้าไปชมผลงานที่น่าสนใจของ Ellen Lupton ได้ที่
    IG: https://www.instagram.com/ellenlupton

  • Benoit Leva ศิลปินชาวฝรั่งเศส เรียนจบในตำแหน่งนักออกแบบ และต่อมาได้รับการว่าจ้างเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ด้วยความต้องการหลีกหนีจากงานหน้าจอ จึงหันมาสนใจงาน Stop Motion ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการออกแบบกราฟิกและการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตนเอง เขาค่อย ๆ ฝึกฝน ทำซ้ำบ่อย ๆ จนได้ผลงานที่ดีออกมา
    เข้าไปชมผลงานที่น่าสนใจของ Benoit Leva ได้ที่
    IG: https://www.instagram.com/benoit.leva

  • Sam Ailey นักวาดภาพประกอบและนักออกแบบ เขาสร้างโปรเจกต์ “Illustrated Tapes” จากความสนใจในดนตรีและการออกแบบ เพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนอื่น ๆ เกี่ยวกับรสนิยมทางดนตรีและผลงานภาพประกอบ ผู้คนสามารถเข้าร่วมชุมชนแห่งนี้ได้ ด้วยการออกแบบหน้าปกเพลงที่ตนชื่นชอบพร้อมคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น
    เข้าไปชมผลงานที่น่าสนใจของ Sam Ailey ได้ที่
    IG: https://www.instagram.com/illustratedtapes

  • Rose Wong นักวาดภาพประกอบ เธอมีความเครียดจากงานประจำ เนื่องจากลูกค้ามีความคาดหวังสูง จึงได้นำแรงบันดาลใจจากแฟชั่นที่เธอชื่นชอบมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน และกลายเป็นโปรเจกต์เสริมที่ทำให้เธอสามารถทดลองไอเดียต่าง ๆ รวมทั้งปลดปล่อยสิ่งที่ทำในงานประจำไม่ได้
    เข้าไปชมผลงานที่น่าสนใจของ Rose Wong ได้ที่
    IG: https://www.instagram.com/loooooookboooooook

± Side project: one + one is a new one โดย เติร์ก-จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์
การนำสิ่งที่สนใจมารวมกับสิ่งที่ทำอยู่ จนเกิดเป็นสิ่งใหม่

  • David Carson นักออกแบบกราฟิกร่วมสมัย และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของนิตยสาร Ray Gun เขามองเห็นตัวอักษรเป็นองค์ประกอบ (element) ของการออกแบบ จึงนำแนวคิดจากการเล่นกีฬาโต้คลื่น (surf) ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่เขาสนใจ เข้ามาใช้ในตัวงาน
    เข้าไปชมผลงานที่น่าสนใจของ David Carson ได้ที่
    https://magenta.as/the-father-of-grunge- typography-calls-out-lazy-design-daae470a685a

  • Paula Scher หนึ่งในนักออกแบบกราฟิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก และเป็นหุ้นส่วนของ Pentagram of New York เธอเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า สมัยเด็กที่เรียนศิลปะ มักโดนอาจารย์ด่าว่าทักษะการวาดรูปแย่ จึงพยายามค้นหาว่าตัวเองชอบอะไร และมาค้นพบการวาดตัวอักษรแทนการวาดรูป เธอมีผลงานการวาดแผนที่ด้วยตัวอักษรอันโด่งดัง และมีซีรีส์สารคดีฉายใน Netflix ชื่อว่า Abstract: The Art of Design 
    เข้าไปชมผลงานที่น่าสนใจของ Paula Scher ได้ที่
    https://www.pentagram.com

  • Cristiano Ronaldo นักฟุตบอลระดับโลกผู้มีทั้งทักษะและความมุ่งมั่น เขาพัฒนาตนเองอยู่ตลอด โดยได้ฝึกฝนการเตะลูก free kick ด้วยการนำเทคนิคการเล่นกีฬาปิงปองที่เขาชื่นชอบ มาสร้างสรรค์การเล่น curling free kick ในแบบเฉพาะของตัวเอง
    เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
    https://talksport.com

  • Ai Weiwei ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีนร่วมสมัยผู้ทรงอิทธิพล เขามีผลงานทั้งทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ในฐานะขบถของรัฐบาลจีน นอกจากทำงานศิลปะ เขายังเขียนหนังสือชื่อ 1000 Years of Joys and Sorrows: A Memoir (แปลเป็นหนังสือภาษาไทยชื่อ 1000 ปี แห่งความรื่นรมย์และขมขื่น จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) เขาเล่าว่า การเขียนหนังสือเป็นเรื่องยากมากสำหรับเขา ไม่เหมือนกับการทำงานศิลปะ เขาใช้เวลาฝึกฝน วันละ 2 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อจะถ่ายทอดเรื่องราวชีวประวัติออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

  • Architects’ Macaroni Exhibition ซึ่งเป็นการให้เหล่าสถาปนิก และนักออกแบบ มาร่วมกันออกแบบมักกะโรนี ในแบบของตัวเอง และทำให้เห็นว่า มักกะโรนีแต่ละแบบ เหมาะกับการทำอาหารอะไรบ้าง

±Find the new way โดยนัด-ณัฐพงศ์ดาววิจิตร
การสำรวจเพื่อค้นหาแนวทางใหม่

  • Daan Botlekนักวาดภาพประกอบและศิลปินทัศนศิลป์ที่มักทำงานในสภาพแวดล้อมที่อยู่ในเมือง เขาสังเกตรูปแบบงานระบายสีบนกำแพงของตัวเองที่เต็มไปด้วยจุดเยอะ ๆ จึงทดลองสร้างเครื่องมือ เป็นแปรงพู่กันที่ประกอบขึ้นจากเศษไม้ เพื่อนำมาใช้สร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่ ๆ
    เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
    https://blindwalls.gallery/artists/daan-botlek
  •  Christoph Niemann นักวาดภาพประกอบ นักออกแบบกราฟิก ผู้แต่งหนังสือเด็ก และนักสร้างแอนิเมชัน เขาได้สร้างสรรค์ผลงานในชื่อ “Sunday Sketches” ลงคอลัมน์การ์ตูนการเมืองบนนิตยสาร Times และ The New Yorker โดยผลงานชุดนี้ เป็นการนำสิ่งรอบตัวที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาใช้เป็นองค์ประกอบของภาพวาด ซึ่งทักษะดังกล่าว พัฒนามาจากงานการทำภาพประกอบ ซึ่งต้องฝึกซ้อมการคิดในหลาย ๆ แบบ และคอยสังเกตความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ สะสมไว้เป็นคลัง จุดนี้จึงทำให้งานของเขามีเสน่ห์ เมื่อพบเจออะไรก็สามารถ Match ออกมาได้ทันที
    เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
    www.christophniemann.com
  • Stefan Sagmeister ร็อคสตาร์แห่งวงการออกแบบกราฟิก และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Sagmeister & Walsh ทุก ๆ 7 ปี เขาจะปิดสตูดิโอในนิวยอร์คเป็นเวลา 1 ปี (Gap Year) เพื่อหยุดพักผ่อนและฟื้นฟูมุมมองความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างนั้นจะมีการทดลองสร้างโปรเจกต์ส่วนตัวใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเป็นการริเริ่มไปก่อน แล้วค่อยหาคนมาสนับสนุนเงินทุนทีหลัง ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวได้รวบรวมอยู่ในหนังสือ Things I Have Learned In My Life So Far
    เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
    https://sagmeister.com
  • David Hockneyศิลปินป๊อปอาร์ต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศิลปินชาวอังกฤษที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 เขามีผลงานหลากหลายทั้ง การวาดภาพ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และการออกแบบละครเวที ผลงานของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตลอดเวลา โดยในช่วงยุค 80’s เขาฝังตัวทำละครเวที และได้คิดค้นการนำเทคนิคการถ่ายรูปมาใช้ในการทำงานศิลปะ ตั้งชื่อว่า “Joiners” ซึ่งเป็นการใช้กล้องถ่ายภาพวัตถุ บุคคล หรือสถานที่แห่งหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง และนำมันมาปะติดปะต่อจนกลายเป็นภาพภาพเดียว แต่เนื่องจากภาพเหล่านั้นถูกถ่ายมาจากหลายมุมมอง หลายเวลา จึงแสดงให้เห็นมิติของแสงและเงา ตลอดจนความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลายกันในหนึ่งภาพ ล่วงมาถึงสมัยปัจจุบัน เขาก็ยังคงไม่ลังเลที่จะทดลองวาดภาพใน iPad เริ่มจากทักษะที่เหมือนเด็กวาด เมื่อทำอย่างต่อเนื่องก็พัฒนาจนเป็นชิ้นงานที่สวยงามได้สำเร็จ เขาบอกว่า สิ่งสำคัญในการทำงาน ก็คือ Enjoyment เป็นสิ่งที่ทำให้เขายังคงยืนหยัดทำงานอยู่จนอายุ 80 ปี
    เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
    https://www.hockney.com


±

รู้จักดวงตาคู่ใหม่: ตัวอย่างผลงานนักเรียน LYM 1/2021-2/2022

การเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่รู้ สถานการณ์ที่อาจไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ล้วนแล้วแต่ท้าทายหัวจิตหัวใจ และต้องอาศัยทั้งความกล้าหาญ ความเชื่อมั่น แรงบันดาลใจ ในการเริ่ม “ขยับ” เพื่อ “เขย่า” ให้บางสิ่งข้างในเราได้เคลื่อนไหว

จังหวะนั้น อาจพลันให้เราได้ค้นพบดวงตาคู่ใหม่ ในการเรียนรู้โลกและชีวิต
เอกสารแนะนำโปรแกรมการเรียนรู้ Leave Your Mark ระบุไว้ในหน้าแรกว่า การจำลองสถานการณ์เพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง/ พื้นที่การเรียนรู้ครั้งนี้ ไม่ได้มีข้อตกลงหรือข้อผูกมัดว่า เราจะกลับมาในตำแหน่งเดิมไม่ได้ หากเปรียบเสมือนกับการที่เราออกเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ และหลายครั้งเราก็กลับมายังบ้านที่เรารักด้วยสายตาใหม่ ได้พบเห็นสิ่งที่บ้านเราขาดไป ในขณะเดียวกัน เราก็มักพบข้อดีของบ้านตนเองที่เคยมองข้ามจากการไปเยือนสถานที่แห่งอื่น ๆ เช่นกัน

เบล-กนกนุชศิลปวิศวกุล และ คุณติ๊ก ได้ชวนเพิ่มมุมในการมองโลกให้กว้างกว่าดวงตาคู่เดิม ด้วยผลงานจากดวงตาคู่ใหม่ของนักเรียน LYM 1/2021-2/2022

  • LYM 1/2021: ชิน-ทรงศักดิ์ เปรมสุข
    ผลงานการวาดภาพบน iPad ของ ชิน-ทรงศักดิ์ เปรมสุข อดีตผู้บริหารมูลนิธิไทยคม เขาอยากกลับมาฝึกวาดภาพอีกครั้งหลังจากร้างราไปนาน โดยตั้งเป้าว่าจะวาดทุกวัน และวาดอย่างมีความสุข แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาอยากทำ เพื่อนในชั้นเรียนจึงสอนให้ทดลองใช้ iPad และแม้ตัวเองจะเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถเรียนรู้และให้เด็ก ๆ ช่วยแนะนำได้ ทุกวันนี้เขายังวาดภาพบน iPad ทุกวัน
  • LYM 1/2021: MALINDA 
    เนื่องจากสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มาลินดาต้องทำงานอยู่ที่บ้าน (Work Form Home) จึงหาแรงบันดาลใจเพื่อสร้างผลงานได้ลำบาก เธอจึงกลับไปสำรวจงานเก่า ๆ ที่เคยทำ และพบว่า ตัวเองชอบวาดภาพแมว รวมทั้งชอบบันทึกภาพแมวใน IG เก็บไว้ เธอคิดได้ว่า นอกจากส่องภาพแมวแล้ว น่าจะตามไปคุยกับเจ้าของแมวด้วย เพื่อทำความรู้จักแมวแต่ละตัว และลองเปรียบเทียบว่า ถ้าแมวเป็นคน จะวาดหน้าตา นิสัย บุคลิก ออกมาอย่างไร นอกจากนี้ ปกติเธอมักถนัดวาดภาพผู้หญิง ครั้งนี้เธอจึงไปปรึกษาเพื่อนที่วาดรูปผู้ชายเก่ง และนำเทคนิคที่ได้มาฝึกฝน จนค้นพบว่า ตนเองก็วาดภาพผู้ชายได้ดีเช่นกัน เมื่อถึงตอนจัดแสดงนิทรรศการ ภาพแมวกับเจ้าของแมว ไม่ได้นำแปะไว้เรียงกัน แต่ออกแบบการจัดวางเพื่อให้ผู้ชมลองค้นหาเองว่า เจ้าของแต่ละคนคือแมวตัวไหน
  • LYM 2/2022: Fahsuwaree 
    ฟ้า – สุวารี ศิริโชคธนวัชร์ เป็นหญิงสาวที่มีรูปแบบและแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เธอจึงค่อนข้างกังวลว่าจะทำอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่เคยทำมาก่อน ประกอบกับในช่วงเวลานั้น เธอกำลังดูแลคุณพ่อที่ป่วยหนัก ทำให้มีความรู้สึกหนักอึ้งที่อยากจะปลดเปลื้องออก เพื่อให้ตัวเองกลับมาเผชิญหน้ากับความสูญเสีย และให้ความสูญเสียนั้นผลักดันให้ทำอะไรบางอย่างขึ้นมา เธอจึงนึกถึงปรัชญาในนิกายเซนของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “อิจิโกะ อิจิเอะ” ปรัชญาดังกล่าวเชื่อว่า เราอาจพบเจอกันครั้งนี้เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย เป็นเหตุผลให้เราต้องสร้างสัมพันธ์กับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างดีที่สุด เธอเลือกบันทึกภาพดอกไม้ในแจกัน สังเกตความเปลี่ยนแปลง จากสดใหม่จนโรยรา แม้สิ่งนั้นไม่มีอยู่แล้ว แต่ความทรงจำยังคงอยู่ ความงามอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะนึกถึงความสูญเสีย เธอเปลี่ยนมุมมองถึงความมีชีวิต และหาวิธีแสดงให้ความงามนั้นปรากฏเป็นภาพ (Illustrate) ทำให้ผลงานเปลี่ยน กลายเป็นความเปิดกว้าง และเปิดพื้นที่ให้ความรู้สึกเข้าไปทำงานกับความว่าง ทำให้เรากล้าหันหน้าเผชิญกับเรื่องที่เราไม่อยากสบตา
  • LYM 2/2022: Natthanicha Bumrungsin 
    แอล เป็นศิษย์เก่าจากคอร์ส Creative Drawing ของ PS±D เธอห่างหายจากการวาดภาพไปนาน จึงรู้สึกกังวลว่า จะยังวาดภาพได้สวยมั้ย เพราะในชั้นเรียนแวดล้อมไปด้วยเหล่านักออกแบบ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เธอจึงอยากจะ LYM จากความกังวลถึงปลายทาง ด้วยการนำสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางมาเป็นตัวตั้งแทน โดยการใช้จานสี เป็นตัวกำหนดว่า หากอยากได้จานสีแบบไหน จะต้องทำงานอย่างไร ส่วนภาพแคนวาสที่วาดออกมานั้นเป็นแค่เพียงปลายทาง ทำให้ไม่ต้องกลัวการตัดสินและรู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
  • LYM 2/2022: Tisha Wongpimonporn 
    ชาช่า-ทิชา วงศ์พิมลพร ใช้การเขียน Text ขนาดยาว เพื่อ LYM ออกจากการทำงาน เนื่องจากเธอมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีกับโลกของ Productivity ที่คนในสังคมมักนำมาใช้วัดคุณค่ากัน จนทำให้หลงลืมคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้านอื่น ๆ ไป หากขณะเดียวกัน เธอก็มีความรู้สึกขัดแย้งอยู่ข้างในตัวเอง เพราะแม้จะไม่เห็นด้วย แต่เธอกลับยังเลือกมาเรียนคอร์สนี้ เธอจึงใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลจำนวนมาก และพบว่า มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยงานให้เป็นพื้นที่ว่าง นอกจากนี้ Text ที่เธอเขียนยังต้องอาศัยการลงทุนลงแรง ที่แสดงถึง Productivity ขั้นสูง พอถึงสัปดาห์ก่อนการจัดแสดงผลงาน เธอนำ Text มาอ่านให้เพื่อนฟัง แต่ไม่ยอมให้กระดาษที่เธอเขียน บอกเพียงว่า ครั้งหน้าจะไม่มีการติดผลงานใด ๆ ซึ่งทำให้เห็นว่า เป็นการ LYM ที่ผ่านการคิดทบทวนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ได้หันหลังให้โดยใช้แต่อารมณ์เพียงเท่านั้น การนำเสนอของเธอจึงเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม แม้จะไม่มีอะไรเลย หากก็เป็นความว่าง ที่ไม่ว่าง เพราะผู้ชมมี Text ที่อยู่ในหัว จากสิ่งที่เธออ่านให้ฟังก่อนหน้านี้

และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ได้หันหลังให้โดยใช้แต่อารมณ์เพียงเท่านั้น การนำเสนอของเธอจึงเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม แม้จะไม่มีอะไรเลย หากก็เป็นความว่าง ที่ไม่ว่าง เพราะผู้ชมมี Text ที่อยู่ในหัว จากสิ่งที่เธออ่านให้ฟังก่อนหน้านี้

รูปแบบการเรียนรู้ที่กำหนดให้มีการจัดแสดงผลงานในช่วงสัปดาห์สุดท้าย จึงไม่ใช่การจัดนิทรรศการศิลปะ และเราไม่ได้กำลังทำงานศิลปะ แต่เป็นการนำผลการเรียนรู้ที่ถูกผลิตด้วยกระบวนการออกแบบที่มีขั้นตอนตั้งแต่การสำรวจ (Discover) รู้สึกนึกคิด (Feel) และลองทำ (Do) มาแสดงออก (Show)
ดังนั้นพื้นที่จัดแสดงผลงาน จึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเรียนรู้ด้วย


±

Let’s try to leave !! ออกไป ออกแบบ

บรรยากาศการเดินทางเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ออกแบบร่วมกับสายการบินพิเศษ ภายใต้รหัส LYM 003 นับจากนี้ เบล-กนกนุช ศิลปวิศวกุล และ ทีมPS±D Facilitators เน้นย้ำว่า อยากให้ผู้เรียนทุกคนรู้สึกสบายตัว สบายใจ ไม่ต้องกังวลหรือเก็บงำความคิด และไม่จำเป็นต้องรอให้ตกตะกอนก่อน เพราะทุกอย่างที่เราเรียนรู้จากมันได้ ล้วนแล้วแต่เป็นของดี ถ้ายังมีหลากหลายความคิด ที่คิดไม่ตก ก็นำออกมาแสดงให้หมด และบางความคิดของเพื่อน อาจกลายมาเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของเรา ให้แต่ละคนหยิบยืม ส่งต่อกันได้

ในช่วงปิดท้าย คุณติ๊ก ยกตัวอย่างความคิด 2-3 เรื่องในหัว

เช่น เขาคิดถึงงานทำนามบัตรในอดีต ซึ่งเคยใช้วัดฝีมือกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครอยากจ้างให้ออกแบบแล้ว อาจจะนำมาทดลองทำใหม่ หรืองานบล็อกสกรีน ถ้าเราทำสกรีน โดยที่ไม่ต้องถ่ายบล็อก ไม่มีโมล เพื่อให้สวนทางกับแนวคิดเดิมและใช้มือควบคุมงานแทนจะดีมั้ย หรือปกติ เขามักพยายามหลีกหนีจากสิ่งที่พ่อเป็น ไม่ชอบ ไม่เชื่อ ไม่นับถือ เขาอาจจะลองกลับไปทำบางอย่างที่พ่อเชื่อดีมั้ย เช่น เรื่องพระเครื่อง

จะเห็นได้ว่า มีทั้งการทดลองเล่นกับเรื่องที่เรารักในอดีต เรื่องการเล่นกับความคิด และเรื่องที่เราเคยปฏิเสธแล้วกลับมายอมรับ ซึ่งเขาอาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่การเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนกัน จะทำให้ความคิดเดินทางต่อได้


±


  1. อ้างอิงจากเอกสารการสอน A Stone in Your Mind : สันติ ลอรชวี ↩︎

Realated Content

11 Apr 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note – Epilogue
02 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #3
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #2
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #1
HASHTAG