Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #2
บทความนี้เป็นบันทึกการเรียนรู้ จากห้องเรียน Leave Your Mark 03 วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567
บันทึกโดยคุณพนิดา วสุธาพิทักษ์ (Leave Your Mark03 : Note Taker)
Instructor: เบล กนกนุช ศิลปวิศวกุล
Let’s try to leave!
บทสนทนาระหว่างการเดินข้ามขอบ
หัวข้อการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 ของโปรแกรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ Leave Your Mark มีชื่อว่า Let’s try to leave! เป็นกิจกรรมแสวงหาและแลกเปลี่ยนความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์งาน ผ่านการริเริ่ม Side Project ที่ทุกคนจะได้ร่วมกันค้นหาประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลงานส่วนบุคคลในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน
แม้จะเป็นก้าวเล็ก ๆ ของการทดลองทำสิ่งใหม่ ซึ่งมีช่วงเรียนรู้ในชั่วระยะเวลาลัดสั้น หากการขยับออกจากตำแหน่งที่ตั้งของผู้ร่วมเรียนรู้ ซึ่งต่างที่มา หลายช่วงวัย หลากประสบการณ์ ล้วนแล้วแต่มีกระบวนการทำงานกับตนเองที่เข้มข้น ลงลึก ทั้งความคิดและจิตใจ และได้สร้างจังหวะใหม่ของการเดินทางที่แปลกใหม่ ท้าทาย ให้เริ่มต้นขึ้น
คุณเบน
เมื่อความคิดเดินทางรอบโต๊ะ – กระบวนการค้นหาความหมายใหม่ในความคุ้นเคยเดิม
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
เบนเลือกสิ่งของใกล้ตัวที่เธอมองเห็นบนโต๊ะมาใช้เป็นแบบวาด ความคิดแวบแรกที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่อยากวาดรูป การวาดจึงเป็นไปอย่างอิสระและสนุกสนาน ส่วนชุดสีที่เลือกมาใช้เป็นสื่อในการวาด เป็นสีชอล์กน้ำมันสะท้อนแสง (Fluorescent Oil Pastels) เธอแค่รู้สึกว่าชอบ ก็เลยหยิบมาใช้ และการเลือกสีไม่ได้อิงกับความเป็นจริงของวัตถุ เป็นการเลือกแบบสุ่ม จากจำนวนสีเท่าที่มีอยู่ในกล่องเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมือวาด เธอเหลือบไปเห็นหนังสือชื่อ I Paint What I Want to See ของ Philip Guston ดังนั้นชิ้นงานที่ออกมา จึงเป็นโลกที่เธอเห็น ณ ขณะนั้น และเธอรู้สึกมีความสุขอย่างมากขณะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ โดยตั้งใจว่าจะวาดสิ่งของที่อยู่บนโต๊ะทุกชิ้นจนครบ
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- จากการสำรวจชิ้นงาน พบว่า รูปวาดมีลักษณะเป็นงาน 3 มิติ ที่มองเห็นทะลุกันได้ มีการจัดวางโทนสีใกล้กัน ไว้ตำแหน่งแห่งที่ต่างกัน การวาดยังมีบางส่วนของงานที่เชื่อมโยงกับมุมมองเดิม (งานที่ทำอยู่) ขณะที่บางส่วนก็มีพื้นที่ซ้อนทับ/ ตัดกัน (Contrast) จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ ชวนค้นหาว่า มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์อะไรต่อไปได้อีกบ้าง
- การใช้สีช่วยขับเน้น (Highlight) สิ่งรอบตัว ให้ดูโดดเด่น น่าสนใจ เป็นวิธีการเล่าเรื่องที่น่าจะนำไปทำอะไรต่อได้เยอะ เช่น หากเปลี่ยนเป็นกระดาษสีสะท้อนแสงจะเป็นอย่างไรบ้าง หรือลองใช้ปากกาเน้นข้อความมาวาดเส้นแทน อาจจะทดลองเล่าสีชุดนี้ด้วยความเป็นไปได้แบบอื่น ๆ
- การวาดรูปเป็นกิจกรรมที่ผู้สร้างสรรค์งานทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย หากขณะเดียวกันก็ทำให้ มีคำว่า “ความจำเจ” ผุดขึ้นมาในความนึกคิด เนื่องจากวัตถุที่เลือกมาวาดเป็นสิ่งของที่เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะมันวางอยู่บนโต๊ะทำงาน และสะท้อนให้เห็นถึงคู่ของการปะทะกัน ระหว่างวัตถุ (Object) ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน (Routine) กับวิธีกระทำ–ด้วยการเลือกสื่อ (Media) ที่นำพาสิ่งนั้นไปยังโลกอีกใบหนึ่ง เป็นงานที่บ่งบอกความสัมพันธ์ของการพินิจพิเคราะห์ในการเลือกอยู่ จึงอยากให้ทดลองทำงานนี้อย่างต่อเนื่องทุกวัน จนกลายเป็นกิจวัตร เพื่อนำไปสู่ก้าวต่อไปของการค้นพบหรือรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง (Change) บางอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นการ LYM ที่น่าสนใจยิ่ง
- การทดลองให้ปล่อยเป็นอัตโนมัติไปก่อน ไม่ต้องคิดเยอะ การทำเป็นประจำ ความสม่ำเสมอ จะช่วยพัฒนากระบวนการคิดขึ้นเอง เช่น ตอนแรกเรามองวัตถุทั้งชิ้น แต่พอวาดไป 20-30 ชิ้น จะเริ่มเบื่อ อาจจะเลือกเก็บแค่บางจังหวะที่วัตถุซ้อนกัน หรือมีสีที่ทับกัน แล้วถอดชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบนั้นไปทดลองสร้างงานชุดอื่นต่อ
คุณเติ้ล
ปรัชญาบนก้อนยางลบ
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
เติ้ลรู้สึกเคยชินกับการผลิตชิ้นงานออกมาให้สมบูรณ์แบบ (Perfect) เพื่อที่จะขายงานให้ได้ เธอวาดรูปบน iPad ทุกวันจนชำนิชำนาญ ประกอบกับความเก่งกาจของเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะสร้างชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบ ลบเลือนความผิดพลาดจนหมดจด จุดนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการวาดรูปบนกระดาษ ซึ่งแม้จะลบได้ แต่ก็ยังปรากฏร่องรอยความเสียหาย (Damage) จากแรงกด การขูดขีดของดินสอ หรือรอยยางลบ
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- ชื่นชมแนวคิดที่เลือกใช้การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์ (Metaphor) ชวนให้นึกภาพตามว่า การลบในแต่ละครั้ง มีร่องรอยของความผิดพลาดปรากฏให้เห็นเสมอ แต่โลกที่อำนวยความสะดวกให้แก่เรามากเกินไป จนเราแทบจำไม่ได้ว่าเคยทำอะไรผิด ส่งผลให้เราต่างมีปัญหาความสัมพันธ์กันง่ายมาก และการ LYM เพื่อกลับมายอมรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ รวมถึงการเลือกใช้สื่อ (Media) เป็นกระดาษก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ทำให้เรื่องราวมีความเป็นกวี ดึงดูดใจ และยังมีแง่มุมของ “ความจำเจ” ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย
- ประเด็นเรื่องร่องรอยความผิดพลาด สามารถขยายแง่มุมในมิติต่าง ๆ ไปได้กว้างไกล เช่น ในแง่ของแนวคิด ร่องรอยเหล่านั้นอาจเป็นได้ทั้งตัวแทนสิ่งที่เราอยากปกปิด ความไม่ตั้งใจ หรือเป็นสิ่งที่เราอยากจะแก้ไขให้ดีขึ้น ตลอดจนการร่างงานชิ้นแรก (First draft) เพื่อให้มีจุดเริ่มต้นและไปต่อได้ หรือหากพิจารณาในแง่ของการออกแบบ อุปกรณ์แต่ละชนิดอย่างดินสอกด ดินสอเปลี่ยนไส้ ก็ทิ้งน้ำหนักและร่องรอยไม่เหมือนกัน รวมไปถึงกระดาษต่าง ๆ วัสดุที่เลือกใช้ น้ำหนักของแรงมือ ทุกอย่างล้วนส่งผลต่อการทิ้งร่องรอย การมองทะลุได้ การเห็นข้อความด้านหลังที่เป็นหมึกพิมพ์ การปรากฏจากด้านหน้า ด้านหลัง หรือการใช้กระดาษคาร์บอนทำสำเนาเอกสาร ที่ยิ่งกด สิ่งนั้นยิ่งชัดเจนมากขึ้น แม้กระทั่งการลบเอง ก็มีวิธีการเล่าได้หลายแบบ เช่น ลบด้วยยางลบปากกา พื้นผิวที่ถูกขูดออกก็จะแตกต่างไป หรือบางคนอาจจะไม่ใช้ยางลบ วาดผิดก็เปลี่ยนกระดาษแผ่นใหม่ ขณะที่บางคนวาดรูปโดยไม่ลบเส้นร่าง แต่ใช้วิธีเน้นย้ำน้ำหนักเส้นที่ต้องการแทน หรือการใช้ปากกาลบคำผิดก็ยังซ่อนสิ่งที่ผิดอยู่ด้านล่าง และสีที่ใช้ก็ไม่ได้กลมกลืนกับกระดาษ ยังคงเห็นร่องรอยเด่นชัดอยู่
- เมื่อลองสรุปเป็นสำนวน อาจจะเขียนได้ว่า “ยางลบมีไว้ลบ ดินสอมีไว้สร้าง แต่บางทีดินสอก็มีไว้ลบ/ ขีดฆ่า การปกปิดบางทีก็มีหลายรูปแบบ มาในรูปของการปรับปรุง หรือในแง่ของการเปลี่ยนแปลง ความผิดในชีวิต บางทีไม่ต้องลืม…” เหล่านี้เป็นการแต่งเติมลงไป เพื่อทำให้มิติการทดลองเปิดกว้างมากขึ้น และทำให้หน้าที่ของดินสอและยางลบขยายตัวออกไป
- การวาดรูปที่สามารถ Undo ได้ ทำให้นึกถึงคำว่า ย้อนเวลา หรืออาจจินตนาการไปถึงสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น และการ Undo แต่ละครั้งได้นำพาเราไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากเส้นทางหนึ่ง ไปสู่ปลายทางในอีกรูปแบบหนึ่ง
- การปรากฏของร่องรอย ยังเป็นหลักฐานของการมีอยู่ เหมือนการค้นพบภาพร่างผลงานศิลปินสมัยอดีต ในอนาคตหากมีแต่ผลงานสำเร็จรูป ไม่เห็นระหว่างทาง อาจจะแยกแยะผลงานระหว่างมนุษย์ กับ AI ได้ยาก ดังนั้นร่องรอยเหล่านี้ จึงทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ ซึ่งสะท้อนทั้งความสร้างสรรค์ หรือความพยายามจะกลบเกลื่อนจนไม่เห็นต้นฉบับดั้งเดิม และหากมี Time-lapse แสดงขั้นตอนระหว่างการสร้างสรรค์ผลงาน ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ
- การเก็บบันทึกวิธีการลบไว้เป็นคลังข้อมูล (Archives) จะทำให้เห็นถึงร่องรอยต่าง ๆ ของสิ่งที่เราพยายามทดลองทำ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นนิทรรศการท่องเที่ยว สิ่งที่ค้นพบและนำมาจัดแสดงอาจไม่ใช่เพียงแค่ภาพถ่าย แต่มีตั๋วรถไฟ บทสนทนา สิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง ฯ ถ้าเราเก็บร่องรอยเหล่านี้ไว้เรื่อย ๆ และนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ก็สามารถสร้างผลงานที่มีเสน่ห์ได้ นอกจากนี้ ข้อค้นพบที่เป็นประเด็นสำคัญ ล้วนได้มาจากกระบวนการเรียนรู้ และการถ่ายทอดเนื้อหาในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ชม มากกว่าแค่การเห็นผลงานของเรา
คุณอุ้ย
นักเขียนที่ (เล่า) เขียนเรื่องตัวเองให้คนอื่นอ่าน (ฟัง)
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่วัย 20 ปี อุ้ยก็เริ่มจินตนาการชีวิตตัวเองเป็นชื่อหนังสือ เรื่องราวชีวิตเรื่องแรก มีชื่อว่า “แด่เธอในอีกหนึ่งหน้ากระดาษ” ซึ่งคิดขึ้นในช่วงทำวิทยานิพนธ์ เรื่องต่อมา เกิดตอนที่เธอป่วยและมีสถานะการเงินไม่มั่นคง ชื่อเรื่องว่า “แม่มดผู้ถึงฆาตกับห้องวงกตวินาศทรงสี่เหลี่ยม” และเรื่องล่าสุด มาจากสถานการณ์สด ๆ ร้อน ๆ ต้นปีนี้ ชื่อเรื่องว่า “การหนีออกจากบ้านของแมวโชค” ซึ่งเป็นเรื่องราวความตายของแมวที่เธอรัก หากเธอไม่เคยกล้าเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง
เพราะยังรู้สึกทำใจไม่ได้ แต่วันนี้เป็นเรื่องราวที่เธออยากนำมาเล่ามากที่สุด
อุ้ยตั้งใจจะใช้วิธีเล่าเรื่องโดยอ่านออกมาเป็นเสียง เธอนึกถึงเวลาอ่านหนังสือ เสียงในหัวของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน และเธออยากให้คนอ่านได้ยินเสียงของนักเขียนที่ดังออกมาจากหนังสือเล่มนั้น นอกเหนือจากการอ่านสิ่งที่เธอเขียน
เสียงการเล่าเรื่อง จะถูกบันทึกตั้งแต่เธอเริ่มต้นเขียน ระหว่างที่เธอคิด พิมพ์งาน หรือนั่งบ่นพึมพำ รวมไปถึงเสียงบรรยากาศแวดล้อมโดยรอบ เรื่องเล่าอาจจะล้ำหน้าสิ่งที่กำลังอ่าน หรือแทรกสอดขึ้นมาในบางจังหวะการคิด เพราะความตั้งใจของอุ้ย อยากให้เสียงของนักเขียนตัวจริง เข้าไป “รบกวน” เสียงในหัวของคนอ่าน เพื่อสร้างบทสนทนาในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่เห็นจากการอ่านและเสียงที่ได้ยินจากการฟังจะเป็นคนละสิ่งกัน
อย่างไรก็ตาม ชิ้นงานที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ ยังไม่มีกำหนดว่าจะทำให้เสร็จ แต่เธอตั้งใจให้มีสารบัญ และบอกตอนจบให้รู้ตั้งแต่ตอนแรก เพราะเธอมองว่า สุดท้ายทุกคนก็รู้ว่าเราต้องตาย แต่เธออยากให้ผู้คนค้นพบเองว่า ระหว่างทางนั้นมีแต่ความน่าสนุก จนไม่รู้สึกว่าการรู้ตอนจบจะทำให้เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่น่าติดตาม
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- แนะนำให้ใช้เวลาช่วงสัปดาห์นี้ทดลองพูดและพิมพ์ไปพร้อม ๆ กันว่า กระบวนการทำงานลักษณะนี้มีความลื่นไหล (Flow) มั้ย โดยปล่อยให้การเรียนรู้เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะการทดลองจะทำให้ค้นพบว่า กระบวนการนี้ ควรทำให้เกิดขึ้นจริง (Execute) หรือไม่ควรทำ หรือต้องมีการวางแผน หรือปล่อยให้เป็นไปตามการรู้โดยสัญชาตญาณ (Intuition)
- วิธีการนำเสนอหากไม่อยากเป็นคนเล่าเอง อาจใช้รูปแบบการแสดง (Performance) เช่น รูปแบบของงานศพ และมีคนนำเรื่องเล่าบางบทจากหนังสือมากล่าวเป็นคำไว้อาลัย
คุณเอิร์ท
ทำ VS ไม่ทำ
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
เอิร์ทเล่าว่า ตนเองมีรายการสิ่งที่อยากทำอยู่ในใจเยอะมาก จนเกิดคำถามว่า อะไรทำให้เขายังไม่สามารถเดินไปถึงจุดเริ่มต้น (Starting Point) และตัดสินใจลงมือทำสิ่งเหล่านั้น แล้วข้ออ้างต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด เขาพบว่า สิ่งที่อยากทำกับความเป็นจริงกลายเป็นภาพที่ทับซ้อนกัน จึงอยากเล่าถึงสภาวะทั้ง 2 ด้านที่เกิดขึ้นข้างในตนเอง เช่น เขาอยากจะทดลองเขียนแบบอักษร (Font) อย่างประณีต ตั้งใจ ในขณะที่อีกด้าน เป็นการเขียนแบบเลอะเทอะ สะเปะสะปะ
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- จุดเริ่มต้นคือ ได้ค้นพบประเด็นที่ตนเองรู้สึกสนใจ แต่จะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาทำงานต่อ เป็นสิ่งที่ต้องไปคิดเพิ่มเติม เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่และลุ่มลึกกว่ากระบวนการที่เรานำเสนอว่าอยากทดลองทำให้เกิดขึ้น (Execute)
- กระบวนการเริ่มต้นนั้นมีหลากหลายวิธีการ อาจจะเลือกการเข้าไปปะทะกับปัญหาโดยตรง โดยกำหนดสถานการณ์บางอย่างขึ้น เช่น เริ่มต้นวันด้วยรายการ (List) สิ่งที่อยากทำ กำหนดภารกิจ (Task) แล้วกระโจนลงไปทำทันที จากนั้นจดบันทึกไว้ว่าเราจดจ่อกับสิ่งที่อยากทำได้นานเท่าไหร่ และเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ หรือทดลองสลับภารกิจไปมาเหมือนการเล่นเกม หรือพาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่จำเป็นต้องลุย เพราะสถานการณ์บังคับ หรือสร้างสถานการณ์เป็นลักษณะแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เหล่านี้นับเป็นความท้าทายที่น่าสนใจ ในการนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางพายุ อีกทางหนึ่ง อาจจะลองมองหาว่า มีกิจกรรมไหน
ที่ทำแล้วรู้สึกลื่นไหล (Flow) เป็นธรรมชาติ ให้ทดลองหาจังหวะที่ชอบ เพื่อค่อย ๆ พาตัวเองมุ่งไปข้างหน้า - สิ่งที่อยากทำ บางเรื่องแค่คิดให้เสร็จในหัวเท่านั้นก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาทำ เพราะเรามองเห็นภาพปลายทางชัดเจนแล้วว่าถ้าทำจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นอาจลองชะลอกระบวนการต่าง ๆ ให้ช้าลง ได้มีเวลานั่งคิดทบทวนแต่ละเรื่องให้ลึกขึ้น สุดท้ายอาจเหลือเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่เราจะเลือกมาทดลองทำ
คุณติ๊ก
สันติสนทนา การจัดการความขัดแย้งด้วย “สันติ” วิธี
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
จากความคิดเล็ก ๆ 2-3 เรื่องในหัว คุณติ๊กเลือกมาทดลองทำ โดยเริ่มต้นจากการทำบล็อกสกรีน ด้วยการใช้มือควบคุมงานแทน ซึ่งตอนเริ่มทำนั้น ยังไม่มีความหมายใด ๆ เกิดขึ้น เขาเปรียบเปรยว่าคล้ายกับดนตรีแจ๊ส แม้จะมีรูท (โน้ตตัวฐานที่ใช้สร้างคอร์ด) แต่การเล่นก็เป็นแบบโน้ตต่อโน้ต เพลิดเพลินไปกับจังหวะของการเดินทาง ไม่ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ตรงไหนไม่ชอบ ก็ทับ ปกปิด และปรับปรุงมัน หากระหว่างที่ขยับไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ความคิดในหัวก็ค่อย ๆ เกิดขึ้น และมองเห็นกระดาษที่วางอยู่ตรงหน้าค่อย ๆ มีชีวิต เขาเห็นถึงความไม่ราบรื่น ชิ้นส่วนแหว่งวิ่น ที่ต้องคอยจัดวาง หาความสมดุล จนกระทั่งค้นพบความหมายจากการลงมือทำ
จังหวะที่ความหมายหนึ่งปรากฏ เหมือนวงกลมแต่ละวงแผ่รัศมีออกเป็นวงกว้าง แผ่มาทับกัน จนเห็นความเชื่อมโยง (Connection) กับชิ้นความคิดอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ ปะติดปะต่อ กอปรขึ้นเป็นความหมายของชีวิต
พ่อของ คุณติ๊ก ให้เขาห้อยพระเครื่องมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ไม่รู้ประสา เมื่อโตจนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเขาจึงตัดสินใจปลดพระออก พระเครื่องเหล่านั้นเป็นภาพแทนของสิ่งที่พ่อเป็น ซึ่งเขาพยายามจะปฏิเสธและเดินออกจากความเป็นแบบพ่อมาโดยตลอด
แม้จะหลีกหนีขนาดไหน แต่เขาก็ยังมีพระเครื่องที่ขอพ่อมาเก็บไว้ ก็คือ “พระปิดตา” หากครั้งนี้ คุณติ๊ก ทดลองออกแบบใหม่ให้เป็น “พระเปิดตา” เพื่อจะได้รับรู้ว่าโลกใบนี้เป็นอย่างไร พร้อมกำกับด้วยคาถา คำว่า “ฟังก่อนซี่” ซึ่งเป็นคำติดปากพ่อ และเป็นคำที่ทำให้หงุดหงิดทุกครั้งที่ได้ยิน โดยตั้งชื่อชิ้นงานว่า “ฟังก่อนซี่ เปิด ตา ยอม รับ ฟัง อย่าง สันติ” ภายในแนวคิด “ดู…จนกว่าจะเห็น ฟัง…จนกว่าจะได้ยิน คิด…จนกว่าจะเข้าใจ นำไปใช้…จนกว่าจะเห็นผล
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นการทำบล็อกสกรีน สำหรับเขาแล้วพ่อก็เหมือนกับบล็อก ถึงแม้เขาทดลองทำสกรีน โดยที่ไม่ถ่ายบล็อก พยายามที่จะควบคุมงานด้วยมือ แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็เลือกวิธี LYM เพื่อกลับมาทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่พ่อเป็น
ผนวกรวมกับการได้มีโอกาสไปชมงาน design week ที่จังหวัดสงขลา ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้คนเก่าแก่ในชุมชน ทำให้เขาเริ่มตระหนักว่า ชุมชนที่เล็กสุดในบ้าน ก็คือ ครอบครัว แต่ในชีวิตที่ผ่านมา เขากลับไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญนัก คุณติ๊กจึงตัดสินใจว่า เขาจะเริ่มฟังพ่อ แต่จะต้องออกแบบวิธีการฟังให้กับตัวเอง เพื่อการรับข้อมูลที่ดี เขาจึงทดลองทำงานชิ้นนี้ในรูปแบบสารคดี (Documentary) โดยนำเชื้อความคิด ความเชื่อ ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างเขากับพ่อ มาสร้างเป็นบทสนทนา เปิดพื้นที่ให้มีการโต้ตอบกัน ระหว่างเขา–ที่สนใจพุทธในฐานะปรัชญา กับพ่อ–ที่สนใจพุทธผ่านเรื่องเล่า ปรัมปรา อภินิหาร ความศักดิ์สิทธิ์
ภาพรวมของงานชิ้นนี้จึงเป็นเรื่องของการออกแบบการสื่อสาร (Communication Design) และเพียงแค่เริ่มต้นกระบวนการพูดคุย คุณติ๊ก ก็พบว่า บรรยากาศภายในบ้านดีขึ้นมาก พ่อให้ความร่วมมือกับการถ่ายทำอย่างเต็มที่ แม่เองก็รู้สึกครื้นเครงกับการละเล่นครั้งนี้ ดังนั้นไม่ว่าผลลัพธ์ของชิ้นงานจะออกมาเป็นอย่างไร แต่กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ทำให้มองเห็นความหวังชัดเจนว่า การเจรจาอย่างสันติวิธีได้เริ่มขึ้นแล้ว
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- คุณติ๊ก อธิบายเพิ่มเติมว่า งานชิ้นนี้เป็นการทำงานเกี่ยวกับความทรงจำ (Memory) ของตัวเอง เพื่อปรุงรสความทรงจำที่มีต่อพ่อในห้วงเวลาสุดท้ายขึ้นใหม่ เมื่อเขามีโอกาส มีสติ มีเวลา ก็อยากจะทำ เพราะความทรงจำเป็นส่วนผสมระหว่างความจริงกับสิ่งที่ปรุง จึงสามารถปรับแต่ง (Shape) ได้ และเขาต้องการกลไกบางอย่างเพื่อการยอมรับและอยู่กับมัน ซึ่งหากทำได้จริง กระบวนการนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องราวและบริบทอื่น ๆ ในสังคมที่มีมิติซับซ้อนมากขึ้น จุดนี้นับเป็นคุณวิเศษของศิลปะการออกแบบที่ช่วยประคับประคองให้เราจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตได้
- ชิ้นงานที่ทำในชั้นเรียนนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งบนเส้นทางเดิน เพื่อเริ่มต้นทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะขยับไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้โจทย์และข้อจำกัดในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ยังคงมีลำดับงานที่จะทำในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโปรดักชั่นอาจจะไม่ต้องลงทุนเต็มที่ แต่เน้นไปที่กระบวนการทดลองเพื่อทำความเข้าใจ
- “ระหว่างทาง” คือ สิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น คำถาม กระบวนการ บทสนทนา ฯ องค์ประกอบและรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวสมานความรู้สึก สลายแรงต้าน พันธนาการที่ผูกมัดไว้ กระทั่งทำให้เกิดความเข้าใจใหม่บางอย่างขึ้นมา
คุณออยล์
ถุงขยะในใจ ขวดโหลแก้ว กระบวนการเปลี่ยนเสียงในหัว “เรา” ให้เป็น “อื่น”
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
ออยล์เลือกที่จะทำงานกับตัวเองด้วยการรวบรวมความกล้าเข้าไปเปิดดู “ถุงขยะในใจ” เธอเปรียบเทียบถุงขยะใบนี้ เป็นเหมือนสิ่งที่เธอซุกซ่อนอยู่ภายใน และยังไม่เคยจัดการมัน ซึ่งมีทั้ง ความคิด ความรู้สึกที่พยายามหลีกหนี ไม่อยากยอมรับ รวมถึงสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่เริ่มส่งกลิ่นเน่าเสีย บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องกำจัดมันทิ้งไป
ระหว่างกระบวนการทำงานกับตัวเอง ออยล์พบว่า เธอมี “เสียงในหัว” ที่ตำหนิ กล่าวโทษตัวเองเต็มไปหมด จนทำให้รู้สึกไม่มีความมั่นใจกับการทำงาน ด้อยค่าตัวเอง จึงอยากลดระดับเสียงเหล่านี้ให้เบาลง ด้วยการเริ่มเปลี่ยนความคิดตัวเองใหม่ โดยออยล์อยากทดลองเขียนความคิดตัวเองในตอนที่ยังมีสติ ใส่ไว้ใน “ขวดโหลแก้ว” ซึ่งถ้อยคำเหล่านั้น อาจจะเป็นความคิดที่ได้มาจากการรับฟัง การปลอบประโลมใจ ทั้งจากตัวเธอเองหรือคนรอบข้าง ที่เธอคุยด้วยแล้วรู้สึกสบายใจและปลอดภัย
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- มีข้อสังเกตว่า การดูแลผู้ที่มีบาดแผลใจ ต้องใช้ความระมัดระวังสูง และต้องอาศัยคนที่มีทักษะในการเปิดและปิดแผล เพราะเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการทำร้ายซ้ำ
- การทดลองแปลงเสียงในหัว ให้ออกมาเป็น เส้น ภาพ รูปร่าง รูปทรงต่าง ๆ อาจจะช่วยปรับโทนเสียงที่ดังเหล่านั้นให้อ่อนโยนลง หรืออาจทำให้เรามองเห็นชัดเจนขึ้นว่า เสียงนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ทำความเข้าใจกับตัวเองได้ง่ายขึ้น
- หรืออีกวิธีหนึ่ง อาจใช้การเขียน ช่วยแยกแยะระหว่างเสียงที่เกิดขึ้นในหัวกับความเป็นจริง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ในขวดโหล แต่ใช้การประกาศออกมาว่า นี่คือตัวเรา
- การเขียนบันทึกด้วยการสร้างรหัสส่วนตัว เพื่อไม่ให้คนอื่นอ่านเข้าใจ แต่ช่วยให้เราได้มีพื้นที่ปลดปล่อย ระบายออกแล้วรู้สึกสบายใจ
- การบันทึกลงกระดาษ ทำให้เราสามารถขยำกระดาษแผ่นนั้นทิ้งลงในถุงขยะได้ หากขณะเดียวกันก็สามารถนำออกมาคลี่เพื่อยืนยืนรูปธรรมว่า เสียงนั้นออกมาจากเราก็จริง แต่เสียงนั้นไม่ใช่เรา กระบวนการนี้จะช่วยสร้างความหมายบางอย่างให้เกิดขึ้น คล้ายกับเป็นนิทรรศการแยกขยะออกจากตัว
- ทุกอย่างที่เราผลิตขึ้น ล้วนคือ การสร้างภาพแทนความจริง (Representation) ดังนั้นการแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม การจัดที่ทางให้อยู่ มีการแบ่งแยกพื้นที่ จะช่วยทำให้สิ่งที่รกรุงรังอยู่ในหัวเราหดเล็กลง และทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นอื่น (The other) สำหรับเรา อาจจะมารบกวนเราบ้าง แต่มันได้กลายเป็นคนละเรื่องกับความเป็นเรา
คุณเอิน
The Portrait การสำรวจความเป็นตัวเองผ่านภาพถ่าย
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
แรกเริ่มเดิมที เอินมีแนวคิดอยากจะรวมระหว่างสิ่งที่เป็นความทรงจำในอดีตกับความชอบไว้ด้วยกัน ด้วยการใช้กล้องฟิล์มตระเวนถ่ายเก็บภาพบรรยากาศตามคาเฟ่ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน แต่แล้วเธอก็ค้นพบว่าตัวเองยังติดกรอบของการพยายามจะสร้างอะไรที่เป็นประโยชน์ จึงเลือกที่จะถอยกลับมา ทดลองทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เพื่อสร้างกระบวนการคิดในการทำงานใหม่ นอกจากนี้ เธอยังพยายามขยับออกจากความคิดที่ว่า เวลาถ่ายรูปแล้วต้องถ่ายสวยขึ้นเรื่อย ๆ และงานต้องสนุก เปลี่ยนมาเป็นการให้ความรู้สึกสงบแทน รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการทำงาน ที่แต่เดิมเธอมักจะมองหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย แต่ครั้งนี้ เธอเลือกทำงานที่เริ่มจากตัวเอง โดยให้มีความเป็นเธออยู่ในชิ้นงานเยอะที่สุด
เอินเลือกที่จะทดลองถ่ายรูปตัวเอง (Portrait) ด้วยกล้องฟิล์ม เพราะเป็นกิจกรรมที่เธอรู้สึกว่า ทำแล้วไม่สะดวกสบายใจนัก แต่น่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ อีกทั้งการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มเป็นสิ่งใหม่สำหรับเธอ ทำให้ต้องเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ต้น ที่สำคัญ ภาพจากกล้องฟิล์มต้องรอเวลาถ่ายจนครบม้วน และแต่งรูปไม่ได้เหมือนดิจิทัล
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- การสำรวจความเป็นตัวเองผ่านกระจกหรือการสะท้อนของอะไรบางอย่าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้การถ่ายรูปตัวเองนอกจากใบหน้าแล้ว ยังรวมไปถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ บนเรืองร่าง รูปเงา หรืออาจจะพูดถึงร่องรอยความไม่สวยงามบนร่างกายคน ต้องทดลองหาแง่มุมที่จะเล่าเรื่องออกมา
- การถ่ายรูปตัวเอง สะท้อนให้เห็นถึงคำว่า ความมั่นใจ อาจจะแสดงภาพเหมือนเป็นนางแบบบนหน้าปกนิตยสาร หรือในทางตรงข้าม อาจจะถ่ายให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้เราได้ทดลองก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย
- ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิด กับคำว่า “มีประโยชน์” หรือ “ไม่มีประโยชน์” คำนี้ทำให้นึกถึงศิลปะสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ชินโดกุ (Chindogu) ของประเทศญี่ปุ่น–ซึ่งเป็นการนำความคิดสร้างสรรค์ มาประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน แต่เป็นของที่ใช้งานได้ไม่สะดวกหรือไม่สามารถใช้งานได้จริง ทว่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ในการใช้ ไม่ได้แปลว่า ไม่มีประโยชน์ในการคิด ดังนั้นการทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์ ก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
- คำจำกัดความโดยทั่วไปของคำว่า Portrait หรือ การถ่ายรูปตัวเอง ไม่ได้เคร่งครัดว่าต้องเป็นภาพถ่ายใบหน้าเท่านั้น กระบวนการสำรวจในเรื่องนี้จึงทำได้อย่างกว้างขวาง และเป็นจุดที่ดี ที่ทำให้เราได้เริ่มต้นกลับมามองตัวเองใหม่ โดยใช้กล้องสร้างภาพแทนความจริง (Representation) ของความเป็นตัวเรา ช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเอง และกระบวนการของกล้องฟิล์มที่ย้อนกลับไปแก้ไข (Undo) ไม่ได้ รวมทั้งไม่สามารถเห็นผลได้ในทันที ทำให้เราต้องทำงานและเดินหน้าต่อไป
- ประเด็นเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อตัวเอง ความทรงจำของผู้คน รวมไปถึงสุนทรียะ (Aesthetic) ในภาพถ่าย ล้วนแล้วแต่มีแง่มุมที่หลากหลายให้เรียนรู้ อาทิ ความชัด ความเบลอ ของภาพ ต่างสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกัน
- เราอาจนำความชื่นชอบคาเฟ่ มาเชื่อมโยงกับการถ่ายรูปตัวเองว่า ทำไมเราชอบคาเฟ่นั้น และสิ่งนั้นเชื่อมโยงอย่างไรกับสิ่งที่เราชอบในตัวเอง การเห็นข้อดีของตัวเองจะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น ลองใช้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นตัวตั้ง แล้วถ่ายออกมาเป็นภาพ
- การเลือกใช้ฟิล์มถ่ายรูปก็มีหลากหลายประเภท เช่น ฟิล์มหนัง ฟิล์มปกติ หรือ ฟิล์มบูด ที่หมดอายุแล้ว อาจจะนำมาเสริมประเด็นความไม่สมบูรณ์แบบได้ รวมไปถึงวิธีการล้างฟิล์มด้วยน้ำยาคนละแบบ ก็จะให้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน
คุณฟ้าใส
Enjoy the Moment ให้ความหุนหันพลันแล่นออกมาโลดเต้น!
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
ด้วยความตั้งใจอยากทำงาน “เล่าเรื่อง”ฟ้าใสจึงเริ่มต้นกระบวนการด้วยการสำรวจความคิดตัวเองตามวิถีปกติ แต่ระหว่างการพักยืดคอบ่าไหล่ด้วยโยคะ กลับมีประกายความคิดบางอย่างแวบขึ้น เธอสะดุดใจและเกิดคำถามว่า ทำไมการทำสิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน กลับทำให้เธอสามารถเขียนสะท้อนความคิดตัวเองออกมาได้ยาวถึง 4 หน้ากระดาษ A4
ฟ้าใสเริ่มใคร่ครวญและค้นพบว่า เธอมักคิดวางแผนในการทำสิ่งต่าง ๆ มากเกินไป กังวลและกดดันจนตัวเองไม่สามารถเริ่มต้นทำอะไรแบบที่ตั้งใจไว้ได้ซักที ส่งผลให้เธอเกิดความรู้สึกผิด และต้องการที่จะหลุดพ้นจากความรู้สึกผิดนี้
เธอจึงค้นหาช่วงเวลา “Enjoy the Moment” ที่จะได้ดื่มด่ำ เพลิดเพลิน กับความสุขในการทำงาน ซึ่งนับวันยิ่งห่างหายออกไปจากชีวิต
ระหว่างที่โดนแม่เรียกให้เอาแกนกระดาษทิชชูไปทิ้ง ฟ้าใสเกิดความรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาในใจว่า ไม่อยากโดนใช้งาน เธอนึกอยากเอาชนะความรู้สึกนี้ จึงนำแกนกระดาษทิชชูมาแต่งแต้มเติมสีที่ชอบ จากจุดเริ่มต้นที่เลือกใช้สีสะท้อนแสงให้ใกล้เคียงกับสีของแกนกระดาษ เมื่อทดลองทำไป จนผสมได้สีที่ชอบ เธอกลับไม่อยากทำตามความคิดที่วางแผนไว้อีก
กระบวนการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ เธอนิยามว่าเป็น “ความหุนหันพลันแล่น”
เส้นสายลวดลายของสีสันที่เธอระบัดระบาย มีลักษณะหมุน ไปตามแกนกระดาษ เป็นจังหวะ (Moment) ที่มีการเคลื่อนไหว (Movement) อย่างน่าสนใจ
ฟ้าใสบอกว่า แต่เดิมเธอมักเฝ้ารอให้ตัวเองรู้สึกว่า มีอะไรอยากเล่า แล้วจึงค่อยนำไปสู่ขั้นตอนการเขียนภาพร่าง (Sketch) และหาวิธีการนำเสนองาน หากในครั้งนี้เธอเลือกที่จะพุ่งตัวลงไปทำงานก่อน จากนั้นความคิดจึงค่อย ๆ ปรากฏขึ้น เพื่อจะอธิบายการแสดงออก (Express) ที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้า แม้จะยังไม่ค่อยแน่ใจในวิธีการ แต่ก็เป็นความแปลกใหม่ที่น่าเรียนรู้สำหรับเธอ
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- วิธีการทำงานระหว่างฟ้าใสกับแกนกระดาษทิชชูเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ อาจลองขยับด้วยการนำความรู้สึกไปจับกับวัตถุ (Object) อื่น ๆ หรือสำรวจวัตถุที่อยู่รอบตัว พื้นที่ว่าง เพื่อหาสิ่งที่มาใช้สร้างภาพ (Representation) แทนความรู้สึกที่เกิดขึ้น
- นักออกแบบมักพยายามทำให้คนอื่นเข้าใจงานของตนเอง หากอันที่จริงแล้ว สิ่งที่เราทำนั้นมีความหมายอยู่ในตัวของมันเอง จึงไม่ต้องกังวล เพราะวันหนึ่งจะมีเรื่องราวของบางคนมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำ หรือชิ้นงานนี้อาจจะไปเกิดความหมายใหม่เมื่อได้เชื่อมโยงกับคนอื่น ประสบการณ์อื่น หรือถูกนำไปวางไว้ในบริบท (Context) แบบอื่น ๆ
- แกนกระดาษทิชชูเป็นวัตถุที่มีเนื้อหาและเรื่องราวอยู่ในตัวเอง ถ้ามองเฉพาะตัวงานที่ทำ ไม่ได้ฟังเรื่องเล่าเบื้องหลัง ตัวงานก็ทำหน้าที่ประดับ เสริมแต่ง (Decorate) และเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้คิด ตีความต่อ ตัวอย่างเช่น การระบายสี อาจจะระบายไปที่วัตถุโดยตรง หรือถ่ายภาพแล้วนำมาระบายผ่านภาพก็ได้ ก็จะช่วยขยายมิติการสำรวจวัตถุที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราได้กว้างไกลขึ้น ส่วนเรื่องของการสื่อสาร ภาวะอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่เราเผชิญ เนื้อหาอาจเป็นได้ทั้งการส่งเสริม ตรงข้าม หรือเป็นหลายสิ่งหลายอย่าง โดยมีวัตถุเปรียบเสมือนผืนผ้าใบ ให้เราได้ทดลองวาดภาพ
- กระบวนการทำงานในโลกของความเป็นจริง เป็นเรื่องของการคิดและทำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่มีลำดับขั้นตอนชัดเจน ไขว้ไปมาได้ ประตูแรกที่เข้า เป็นประตูไหนก็ได้ที่เราสะดวก เพราะโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ กีฬา ศิลปะ หรือ ธุรกิจ ล้วนแต่มีกระบวนการย่อย ๆ เหล่านี้อยู่ข้างในตลอด เป็นเหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ซึ่งทำให้เกิดความน่าจะเป็นในการคิดได้อย่างมหาศาล และอาจนำไปสู่การรื้อสร้าง (Deconstruct) กลายเป็นวิถีการทำงานแบบใหม่
- ระหว่างที่เรากำลังเชื่อมโยง (Connect) กับวัตถุ ส่วนที่เป็นรูปร่าง/ รูปทรง (Form) ของวัตถุ เป็นตัวกำหนดรูปแบบการตอบสนอง (Response) ของเรา ตั้งแต่การเห็น การจับต้อง เนื่องจากงานออกแบบมีความเป็นเผด็จการ/ ความต้องการที่จะควบคุม (Dictate) อยู่ในตัวเอง ที่จะคอยกำหนดว่าเราต้องปฏิบัติกับวัตถุนั้นอย่างไร
- ปัจจุบันมีศาสตร์หนึ่งซึ่งเริ่มได้รับการยอมรับในแวดวงนักออกแบบ มีชื่อเรียกว่า Soma Design เป็นศาสตร์ที่เชื่อในการตอบสนองของร่างกาย สามารถนำมาใช้อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ โดยเราอาจจะทดลองสำรวจว่า ร่างกายของเราตอบสนองต่อวัตถุต่าง ๆ อย่างไร มากกว่าการไปอธิบายเรื่องความคิด เพราะยิ่งมีถ้อยคำมากเท่าไหร่ อาจจะยิ่งห่างไกลจากต้นทางของสิ่งที่เป็นมากเท่านั้น แต่การที่เราได้นำพาร่างกายเข้าไปเกี่ยวข้องกับบางสิ่งบางอย่าง มีส่วนร่วม ได้รับผลกระทบจากมัน จนเกิดร่องรอย ก็คือ การวาดภาพ (Drawing) และทำให้สัญญะ (Sign) บางอย่างเกิดขึ้น
คุณนุก
หลบเร้น ใน สถานพักใจ
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
นุกใช้ศิลปะเป็นเหมือนสถานพักใจ (Resort) ให้กับเธอทั้งยามสุขและยามเศร้า ทุกครั้งที่ได้วาดรูปไม่เพียงช่วยให้ความรู้สึกในใจคลี่คลายลง แต่ระหว่างทางของการวาดยังทำให้เธอค้นพบว่า ความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านี้ เป็นเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เธอจึงอยากจะถ่ายทอดช่วงเวลาเหล่านี้ออกมาให้ผู้ชมผลงานได้ร่วมสำรวจและซึมซับกับประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ตั้งใจให้พื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ เป็นสถานพักใจสำหรับผู้แวะเวียนผ่านทางเข้ามา
ชิ้นงานที่นุกนำเสนอ มีทั้ง ภาพวาดทิวทัศน์ (Landscape) ที่เกิดจากการใช้ดินสอกดสีน้ำเงินค่อย ๆ ฝนรายละเอียด ทีละเล็กทีละน้อย จนกลายเป็นภาพละมุนตา แฝงด้วยความบอบบาง เจือเศร้า รวมตลอดไปจนถึงการทดลองนำเสนองานภาพวาดบนรูปทรงต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ โดยใช้วิธีการพิมพ์ (Print) และขยายเป็นภาพขนาดใหญ่
เธอยังเชื่อมโยงความรู้สึกจากการวาดรูปกับการเขียนบันทึก เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้กลับไปลบ ขีดฆ่า หรือเปลี่ยนการตีความทัศนคติที่มีต่อตัวเองได้ โดยเลือกใช้เทคนิคการตัดแปะ (Collage) เพื่อให้ผู้ชมสามารถสลับสับเปลี่ยน สร้างความทรงจำใหม่ ขณะเดียวกัน ก็มีการออกแบบเส้นทางเดินชมผลงานเป็นวงกลม เพื่อให้ผู้ชมวนเวียนอยู่ในห้วงความรู้สึก หากขณะเดียวกันก็ตระหนักว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ ณ ขณะหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- ระหว่างข้อค้นพบจากกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง กับวิธีการนำเสนองาน อาจจะต้องเลือกให้น้ำหนักกับกระบวนการเรียนรู้ในส่วนแรกมากกว่า โดยทดลองทำงานชุดนี้ให้มีความละเอียดขึ้น และได้ปลดปล่อยตัวเองมากขึ้น
- การเลือกใช้วิธีการพิมพ์ แทนที่จะเป็นงานวาดมือ ทำให้คุณภาพงานถูกลดทอนลง ทั้ง เส้นสาย พื้นที่ว่าง รายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงการทำให้ความเป็นภาพแทนความจริง (Representation) ของงานนี้หายไป ไม่สามารถที่จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเปราะบาง อาการย้ำคิดย้ำทำ ความเศร้า เพื่อสร้างผลกระทบทางใจให้เกิดขึ้นกับผู้ชมได้
- ด้วยข้อจำกัดของระยะเวลาการทำงาน เราควรเลือกมุมในการนำเสนอที่เป็นมุมส่งเสริมคุณภาพงานที่เราต้องการจะสื่อ โดยอาจจะลดขนาดและจำนวนชิ้นงานลง รวมถึงการมองหาตัวช่วยอื่น ๆ เช่น แสงที่ตกกระทบ การปรับเทคนิคบางอย่างที่เลือกมาใช้ หรือเปลี่ยนวิธีการนำเสนอที่ทำให้เราวาดงานน้อยลง แต่ขับเน้นเนื้อหาและบรรยากาศเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมมากขึ้น
คุณปริม
ดนตรี นักวิจารณ์ สะพานเชื่อมโลกศิลปะ
คำอธิบายกระบวนการทำงาน:
ปริมเป็นอดีตนักเรียนกฎหมาย และปัจจุบัน เป็นนักธุรกิจดูแลแบรนด์เครื่องเสียงนำเข้า แม้เธอยังไม่มีประเด็นที่สนใจชัดเจนนัก แต่ก็อยากใช้จังหวะชีวิตที่ยังอยู่ในช่วงเลข 20 ทดลองทำสิ่งที่หลุดออกไปจากงานประจำ ซึ่งกำลังทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ
ปริมเล่าว่า เธอเคยลงเรียนวิชาศิลปะ มีงานอดิเรก ชอบไปเดินดูงานตามหอศิลป์ (Art gallery) ต่าง ๆ แม้ยังไม่เคยสร้างสรรค์ผลงานเอง แต่เธอชื่นชอบการวิจารณ์ (Critic) งานศิลปะ และเธอพบว่า เมื่อใช้ชีวิตผ่านประสบการณ์อันเข้มข้นต่าง ๆ มาจนถึงช่วงวัยนี้ เธอสามารถสัมผัสถึงพลังงานที่ถ่ายทอดผ่านชิ้นงาน และเสพงานศิลปะได้ในระดับที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง (Subtle)
ตอนนี้เธอคิดเรื่องที่สนใจไว้ 2 ประเด็น คือ 1) เธอชอบการทำงานเชิงความคิด (Conceptual) และ 2) เธอชื่นชอบการเล่นดนตรี จึงอาจจะลองหยิบเครื่องดนตรีที่เคยเล่นอย่างเปียโน มาใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก
ประเด็นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์:
- รสนิยมการเสพงานศิลปะได้ในระดับที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่น่าสนใจ อาจจะลองใช้จุดนี้เป็นสะพานเชื่อม ร่วมกับความสามารถในการวิจารณ์งานศิลปะ เพื่อให้คนวงนอกสามารถสัมผัสหรือแตะต้องงานศิลปะขั้นสูงได้ หรือ การเล่นเปียโน ถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นนามธรรม จะออกแบบวิธีการเล่าผ่านท่วงทำนอง เสียงต่าง ๆ อย่างไร เพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจ
- อีกทางหนึ่ง อาจทดลองบทบาทในฐานะนักวิจารณ์ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ร่วมเรียนรู้ในชั้นเรียน LYM และมานำเสนอผลงานการวิจารณ์ในมุมมองของตัวเอง
- หรืออาจเป็นการทดลองอื่น ๆ เช่น บันทึกเส้นทางการเล่นดนตรีของตนเอง หรือนำสิ่งที่เคยสนใจและมีความถนัด มาทดลองเล่าเรื่องใหม่ เปลี่ยนจากแตะเปียโน มาจับพู่กัน เล่าเรื่องเชิงนามธรรมเหมือนกัน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทดลองทำได้