Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note – Epilogue

Leave Your Mark
ชั้นเรียนปรัชญาชีวิต

พนิดา วสุธาพิทักษ์

หากจะหาคำนิยามใดให้กับโปรแกรมการเรียนรู้ Leave Your Mark 003
สำหรับฉัน–ในฐานะผู้บันทึกการเรียนรู้ที่ได้รับโอกาสพิเศษเข้าร่วมสังเกตการณ์ความเป็นไปในชั้นเรียน ตลอดระยะเวลาร่วม 4 สัปดาห์

ขออนุญาตให้คำจำกัดความแบบเฉพาะตัวว่า Leave Your Mark คือ ชั้นเรียนปรัชญาชีวิต ที่มี ‘การออกแบบ’
เป็นเครื่องมือ พาเราเดินทางเข้าสู่ประสบการณ์เฉพาะบุคคล เพื่อค้นหา ‘หมุดหมาย’ แห่งการเติบโตของตนเอง

ความเป็นปรัชญาของชั้นเรียนขนาดกระทัดรัดนี้ หาใช่การอวดภูมิรู้ หรือแสดงความสูงส่งทางศิลปะ ทว่าเป็นท่าที บรรยากาศ ของการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ที่ต่างร่วมกัน ขบคิด ตั้งคำถาม คลี่คลายแง่มุมประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ ความดี ความงาม ความจริง ซึ่งอยู่บนเส้นทางที่เราแต่ละคนล้วนต้องประสบพบเจอ

จากจุดเริ่มของการคิดค้น Side Project ส่วนตัว เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับทดลองทำสิ่งใหม่ พาตัวเองก้าวออกจากกรอบการทำงานที่เคยคุ้น และแสวงหาหนทางการเรียนรู้และพัฒนาผลงานในรูปแบบเฉพาะตน เมื่อผ่านการแลกเปลี่ยนทางปัญญา กระบวนการดังกล่าวกลับค่อยๆ นำพาให้ผู้เรียนได้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในมิติที่ซับซ้อนและลงลึก ด้วยบทสนทนาอันเรียบง่ายซึ่งมาจากเรื่องราวชีวิตและตัวตนของแต่ละคน

การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เฉพาะบุคคลนี้เอง ที่ทำให้การเดินทางของผู้เรียนทั้ง 11 คน มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเนื้อหาและวิธีการ มีรสชาติ ความเข้มข้น หลากหลายระดับ ตามวันวัยประสบการณ์ และเหตุการณ์ที่ต้องพบเผชิญในชีวิต


เมื่อประกอบรวมเข้ากับความประณีตและพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ชั้นเรียน ของ เบล-กนกนุช ศิลปวิศวกุล และ ทีม PS±D Facilitators จึงยิ่งทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ เต็มไปด้วยความตื่นตาและมีความพลิกผันเกิดขึ้นตามรายทาง ทั้งการนำพาการเรียนรู้ของผู้สอน และจังหวะการเคลื่อนของผู้เรียนที่แปรเปลี่ยนไป–บางครั้งก็ฮึกเหิม บางคราก็เหนื่อยล้าอ่อนแรง มีก้าว มีถอย มีความลังเล และความหุนหันพลันแล่น

การจับจังหวะชีวิต และหยิบยกแง่มุมที่เป็นรายละเอียด สิ่งละอันพันละน้อยต่าง ๆ เพื่อนำมายกระดับและพัฒนาการเรียนรู้ด้านการออกแบบร่วมกัน ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ และการสั่งสมชั่วโมงบินของทีม PS±D Facilitators และลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ กรอบคิดที่มุ่งมั่นจะสร้างเสริมประสบการณ์การออกแบบให้ผู้เรียนได้ริเริ่มและปลดปล่อยจินตนาการอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นงานท้าทายยิ่ง เพราะผู้เรียนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้มีพื้นฐานในสายงานของนักออกแบบมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้สอนได้เน้นย้ำตั้งแต่เริ่มต้น ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เป้าหมาย
การมีผลงานจัดแสดงยิ่งไม่ใช่ปลายทาง
หากแต่บทเรียนและประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างกระบวนการต่างหากที่สำคัญ

และในแง่มุมของชีวิต…การยอมรับและรู้เท่าทัน ข้อบกพร่อง ความผิดพลาดต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความหมายของการเป็นมนุษย์ ที่ยังอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้และเติบโต

±

หมุดหมายแห่งการเติบโต

“มนุษย์ในแต่ละช่วงชีวิต มี ‘หมุดหมาย’ แห่งการเติบโตของตัวเองอยู่ เรามักหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ จากการเป็นเด็ก ก้าวเข้าโรงเรียน เรียนจบ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เรียนจบอีกครั้ง แล้วกระโจนก้าวใหญ่เข้าสู่โลกแห่งการทำงาน เพียงเพื่อจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และพานพบกับความเจ็บปวดในการเติบโตนั้น – ครั้งแล้วครั้งเล่า Coming of Age เดิมทีใช้เรียกสภาวะที่ ‘เด็ก’ เติบโตเป็น ‘ผู้ใหญ่’ นั่นคือ Age (หรือวันวัยแห่งการแก่ตัว) ได้เดินทางมาถึงแล้ว นี่คือช่วงเวลาอันเปราะบาง พร้อมหักพักแหลกสลาย พร้อมเกิดร่องรอยขีดข่วน สร้างบาดแผลและความบกพร่องเว้าแหว่งหลากหลายขึ้นกับชีวิต”

-Life : Editor’s Note “Coming of Age Issue” โตมร ศุขปรีชา, Author at The 101 World

จังหวะการเปลี่ยนผ่านของชีวิต ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะบางช่วงวัยแล้วจบสิ้น
หากแต่เป็นกระบวนการที่วนเวียนกลับมาเยี่ยมเยือนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายหรือความรู้สึกไม่มั่นคง

ไม่อาจกล่าวได้ทั้งหมดว่า ผู้เรียนทั้ง 11 คน กำลังอยู่ในจังหวะการเปลี่ยนผ่านของชีวิต หากสิ่งที่พอจะสัมผัสรับรู้ได้ ก็คือ ใครหลายคนเลือกเดินเข้ามายังชั้นเรียนแห่งนี้ เพื่อค้นหาพื้นที่สำหรับการเรียนรู้วิธีประคับประคองตนเองให้ข้ามผ่านช่วงเวลาอันเปราะบาง และได้ทดลองขับเคลื่อนตนเองออกจากจุดที่ทำให้ติดขัด (Struggle) เพื่อไปสู่จุดใหม่ที่เป็นหมุดหมายแห่งการเติบโต โดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์งานออกแบบ (ชีวิต) เป็นมรรควิธี

ภายใต้ท่าทีที่เปิดกว้าง รับฟัง บรรยากาศการเรียนรู้ที่อบอุ่น ปลอดภัย และการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นเครื่องห่อหุ้ม ส่งผลให้ชั้นเรียน Leave Your Mark โอบรับต่อความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ การเป็นพื้นที่เล่นสนุกได้อย่างเป็นอิสระ ไร้ขอบเขต ให้กับเด็กน้อยวัย 7 ขวบ ไปจนกระทั่งถึงพื้นที่ที่พาเราสำรวจดำดิ่งลึกเข้าไปภายในของแต่ละคน

…สมุดร่างแบบเล่มเก่า ชิ้นงานที่สนิมเกาะเกรอะกรัง โครงการที่ยังค้างคา ความคิดเวียนวนไร้ทางออก ความรู้สึกที่รอการสะสาง กองความฝันที่ไม่เคยถูกรื้อค้น ความทรงจำที่อยากถ่ายถอนและบอกเล่า…

เรื่องเล่าในชีวิตหลายเรื่องที่ดูไร้สลักสำคัญ
กลับกลายเป็นพื้นที่ทดลองกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจยิ่ง

ต้นไม้ที่ไร้ประโยชน์

“สำหรับต้นไม้ใหญ่ของท่าน อันหาประโยชน์มิได้นั่นน่ะหรือ
ปลูกไว้ในที่ว่างสิ
ปลูกไว้ในความว่างเปล่า
ไว้เดินเล่นรอบๆ
ไว้พักใต้ร่มเงา
จะไม่มีใครใช้ขวานหรืออะไรไปบั่นทอนมัน
จะไม่มีอะไรไปโค่นล้มมันลง ฯ”

ตอนหนึ่งในหนังสือ มนุษย์ที่แท้ มรรควิถีของจางจื๊อ ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย ส.ศิวรักษ์ ได้บอกเล่าถึงบทสนทนาระหว่างฮุ่ยจื๊อกับจางจื๊อเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง

ฮุ่ยจื๊อเปรียบเปรยว่า ต้นไม้ใหญ่ที่ลำต้นคดงอ เป็นปุ่มเป็นป่ำ ใช้การอะไรไม่ได้ ก็เหมือนคำสอนของจางจื๊อที่ช่างยิ่งใหญ่ ทว่าไร้ประโยชน์

จางจื๊อตอบกลับด้วยความข้างต้น พร้อมซุกซ่อนรหัสยนัยบางอย่างไว้ในถ้อยคำ
แท้จริงแล้วมีสิ่งใดหรือที่เรียกว่า มีประโยชน์ หรือ ไร้ประโยชน์

บทสนทนาระหว่างผู้เรียนและผู้สอนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน Leave Your Mark หลายช่วงหลายตอน หากนำไปไว้ในบริบทหรือพื้นที่อื่น อาจถูกหลงลืม ละเลย หรือไม่ได้รับการให้คุณค่า ไม่ต่างจากไม้ใหญ่ในทัศนะของฮุ่ยจี๊อที่เมื่อแปรรูปไม่ได้ ก็มีแต่ต้องถูกตัดทิ้งไว้ริมข้างทาง ไร้ช่างไม้ผู้ใดเหลียวแล 

นั่นเพราะการดำเนินชีวิตโดยส่วนใหญ่ของคนเรา มักเคยชินกับการเร่งกระบวนการทุกอย่างเพื่อมุ่งสู่การนำไปใช้ประโยชน์ให้ง่ายและเร็วที่สุด

หากกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ของทีม PS±D Facilitators นั้นแตกต่างออกไป

พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ทดลองเรียนรู้ด้านการออกแบบสำหรับทุกคน ซึ่งอยู่นอกเหนือคำวิจารณ์และการตัดสิน

กระบวนการเรียนรู้ มีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ การสำรวจ (Discover) แบบแผนความคิดและธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคน การให้ผู้เรียนได้รู้สึกนึกคิด (Feel) ใคร่ครวญ ไตร่ตรองในสิ่งค้นพบ แสวงหาแนวทาง ทดลองทำ (Do) ผ่านการปฏิบัติจริง และได้แสดงออก (Show) ถึงผลงานและสิ่งที่ได้เรียนรู้

กระบวนการเช่นนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ที่สะท้อนคุณค่าแท้จริงของการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ผลลัพธ์สุดท้ายปลายทางเพียงอย่างเดียว หากแต่รวมถึงประสบการณ์และกระบวนการค้นพบด้วยตนเองของผู้เรียนแต่ละคน ผ่านการซึมซับเก็บรับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง ซึ่งเมื่อนำมาออกแบบ จัดวางตำแหน่งแห่งที่ ผ่านกระบวนการสร้างความหมายใหม่ จึงทำให้ผลประกอบการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้ง 11 คน เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และแรงสั่นสะเทือนใจ

±

ทิ้งร่องรอย

การออกแบบเป็นเหมือนลมหายใจที่แนบสนิทกับชีวิต

เมื่อหายใจเข้า…เราได้สำรวจและรับรู้โลกรอบตัว เปิดใจกว้างรับประสบการณ์ใหม่ๆ

เมื่อหายใจออก…เราได้สะท้อนคิดเพื่อการเข้าใจตนเอง

อาจารย์ติ๊ก-สันติ ลอรัชวี หนึ่งในผู้ร่วมเรียนรู้และทีม PS±D Facilitator เคยเปรียบเทียบว่า การทำงานสร้างสรรค์ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ที่ไม่มีเส้นชัยความสำเร็จหรือยอดเขาที่แท้จริง และการนำเสนอผลงานประกอบการเรียนรู้ในรูปแบบของนิทรรศการ ก็เป็นเพียงแค่การหายใจออก เพื่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ในการปะทะสังสรรค์ ระหว่างเรากับโลก

นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับไปทบทวนความหมายของคำว่า Leave Your Mark ถ้อยคำนี้นอกจากเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการออกแบบ ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนลองขยับออกจากตำแหน่งที่ตั้ง ในอีกแง่หนึ่ง ความหมายยังกินความถึง การทิ้งร่องรอยบางอย่าง เอาไว้ด้วย

การหายใจออกแต่ละครั้ง…ก็เหมือนกับการทิ้งร่องรอยระหว่างทาง

ร่องรอยเหล่านั้นหาได้เป็นแต่เพียงสิ่งบันทึกเรื่องราวในอดีต เพื่อนำมาตอกย้ำอัตตา หรือรื้อฟื้นความเจ็บปวดในระหว่างทางของการเติบโต

หากคุณค่าที่แท้จริงของการทิ้งร่องรอย คือ บทเรียนและประสบการณ์ที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอนาคต

และในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ร่องรอยที่แต่ละคนได้ทิ้งไว้ในชั้นเรียนแห่งนี้ อาจกลายเป็นเรื่องราวสำคัญในกระบวนการของการเปลี่ยนผ่าน โดยมีการออกแบบเป็นพลังสร้างสรรค์ที่แทรกซึมอยู่ในการดำรงชีวิต.-

±

LEAVE YOUR MARK 03
กนกนุช ศิลปวิศวกุล

คุณเคยตั้งคำถาม สังเกต และสงสัยกับสิ่งที่คิด ทำ และดำเนินอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันหรือไม่ กิจวัตร บทบาท ภาระ หน้าที่บางครั้งทำให้เราต้องทำภายใต้ข้อจำกัด ภายใต้กรอบความคิด และหลายครั้งเกิดการทำซ้ำวนเป็นวงจร ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในส่งผลกระทบกับความคิด การกระทำ และส่งต่อไปถึงผลลัพธ์

หากมีเวลามากขึ้นอีกนิดช่วงลมหายใจเข้าต่อมาก็มาสู่การลงลึก สำรวจสิ่งรอบตัว ปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่จะชวนให้เราคิด เห็นความเป็นไปได้ที่มากมายในรูปแบบและวิธีการปล่อยลมหายใจออก

หลังจากอ่านข้อความด้านบนจบ อยากชวนให้ใช้เวลาไม่กี่นาทีก่อนลุกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในการสำรวจปัจจุบัน และมองย้อนไปในอดีตว่ามีสิ่งไหนที่เคยสนใจแต่ยังไม่ได้ลองไปต่อ . . .

จากช่วงเวลาเมื่อสักครู่ เพียงแค่ไม่กี่วินาทีที่ได้ไปต่อทางความคิด คุณก็ได้ลอง LEAVE YOUR MARK ไปกับเราแล้ว

ขอให้จุดเริ่มต้นของการเดินทางทางความคิดเมื่อสักครู่ นำพาอากาศใหม่ๆ และทำให้คุณมีความสุขกับประสบการณ์ระหว่างทาง และพาคุณไปสู่ปลายทางที่คุณไม่คาดฝันในอนาคต

หวังว่าจะได้พบกันอีกในจักรวาลใหม่และอากาศใหม่ที่สะอาดสดชื่นทางความคิด

±

Realated Content

11 Apr 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note – Epilogue
02 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #3
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #2
01 Mar 2024
Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #1
HASHTAG