Review : EP9, Lesson Learned from Fragility Exhibition
PRACTICAL school of design จะมาชวนสนทนาถอดบทเรียนมุมมองการออกแบบชีวิตจากนิทรรศการ Fragility ที่เพิ่งจัดแสดงผ่านไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนิทรรศการเดี่ยวของ บอลล์ ปิยลักษณ์ เบญจดล ที่สร้างสรรค์ชิ้นงานแต่ละชิ้นอย่างละเอียดอ่อนเพื่อเยียวยาร่างกายและจิตใจในระหว่างที่รักษาตัวจากอาการป่วย เราอยากชวนท่านผู้ฟังที่ได้มีโอกาสมาชมนิทรรศการและท่านอื่นๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันแสนเปราะบาง ทว่าแฝงไปด้วยความเข้มแข็งระหว่างการใช้ชีวิตกับศิลปะและการออกแบบ ผ่านผลงานศิลปะแต่ละชิ้นจากนิทรรศการ Fragility
เมื่อชีวิตนั้นเปราะบาง และแสนสั้น อีกทั้งเรายังไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตบ้าง ปัญหาต่างๆ ความท้าทายใหม่ๆ บททดสอบมากมายผ่านเข้ามาและมอบบทเรียนล้ำค่าให้กับชีวิต
บทนำของหนังสือ Designing your Life ของ Bill Burnett และ Dave Evans บอกกับเราว่า นักออกแบบคือกลุ่มคนที่สามารถจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และหาทางสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาเพื่อให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลง เราจึงสามารถใช้ทักษะการออกแบบที่เราเชื่อว่ามีอยู่ในตัวทุกคนนั้นในการออกแบบชีวิตของเราได้เช่นกัน
อาจารย์บอลล์ ปิยลักษณ์ เบญจดล คือตัวอย่างของคนที่ออกแบบชีวิตตัวเอง ด้วยบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว ไปจนถึงปัญหาด้านสุขภาพที่พบเจอ แต่อาจารย์บอลล์ก็สามารถออกแบบวิธีการบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้เป็นอย่างดี
ในงานนิทรรศการ Fragility ที่จัดขึ้นที่ PS±D Space ในช่วงวันที่ 17 เมษายน ถึง 7 พฤษภาคม 2564 ได้จัดแสดงผลงานของอาจารย์บอลล์ ที่ออกแบบวิธีรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพผ่านการสร้างสรรค์ผลงานที่อาจารย์บอลล์เรียกว่า 3D Collage เป็นการประกอบสร้างขึ้นจากชิ้นส่วนของเล่นที่สะสมไว้ อุปกรณ์เครื่องใช้รอบตัว ไหมพรม โครเชต์ และ เส้นผม มาสร้างสรรค์เป็นผลงานจัดแสดงจำนวน 69 ชิ้น ที่ชวนทุกคนตีความทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ นำเสนอผ่านผลงานสีสันสดใสที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันและความเจ็บปวดที่แสดงออกมาพร้อมๆ กันได้อย่างกลมกล่อม
ตลอดช่วงเวลาการเตรียมงานและการจัดแสดงนิทรรศการ Fragility ในครั้งนี้ อาจารย์บอลล์ได้มอบบทเรียนหลายๆ อย่างให้กับพวกเราและผู้ที่มีโอกาสได้มาชมนิทรรศการไปจนถึงผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านบทความต่างๆ
บางคนได้ย้อนอดีตกลับไปนึกถึงของเล่นในวัยเด็ก บางคนได้เริ่มสะสมงานศิลปะเป็นครั้งแรก บางคนได้รับกำลังใจในการต่อสู้กับเรื่องต่างๆ ที่พบเจอ บางคนได้รับการเยียวยา บางคนได้รับกำลังใจ บางคนได้ทบทวนชีวิต หลายคนได้แรงบันดาลใจ หลายคนได้แบบอย่างในการออกแบบวิธีการรับมือกับปัญหา และหลายคนได้รับพลังงานชีวิตที่ตัวศิลปินส่งออกมา
ไม่ใช่ทุกงานที่จะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ และส่งแรงสั่นสะเทือนต่อความรู้สึกได้มากขนาดนี้ นั่นก็คงเป็นเพราะความละเอียดของทั้งกระบวนการคิดและกระบวนการทำในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นที่ล้วนเป็นภาพตัวแทนของความคิด ความทรงจำ และสภาวะภายในของตัวศิลปิน ผสานกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและสิ่งของรอบตัว หลอมรวมกันด้วยความจริงและส่งออกไปสู่ใจของผู้ชมแต่ละคน
บทเรียนมากมายที่แต่ละคนได้รับถือเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่เกิดขึ้นในการจัดนิทรรศการ Fragility พวกเราขอเป็นตัวแทนทุกคนขอบคุณอาจารย์บอลล์ ปิยลักษณ์ เบญจดล สำหรับบทเรียนล้ำค่าที่มอบให้กับพวกเรา
…
สามารถติดตามผลงานใหม่ๆ ของอาจารย์บอลล์ได้ที่ Facebook : Ball Piyaluk