PS±D โรงเรียนสอนออกแบบที่อยากให้คนทุกแบบได้ออกแบบ
โดย วิภว์ บูรพาเดชะ
Photo by นภัส นกน่วม
เผยแพร่ 21.09.2022
Happening and Friends
https://happeningandfriends.com/article-detail/409?lang=th&fbclid=IwAR2986haNsTXflUsy841FWKv_cMbmfkrczn6lI76CeHuZuDvVI1QnUqJOfY
PRACTICAL school of design (PS±D) เป็นโรงเรียนสอนออกแบบ แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่อยากเป็นนักออกแบบเท่านั้น …หากแต่เป็นโรงเรียนสำหรับทุกคน
เรื่องราวของโรงเรียนเล็กๆ ที่ไม่พื้นที่ประจำ ไม่มีหลักสูตรตายตัว และยังปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนไปเรื่อยๆ แห่งนี้ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มพี่ๆ น้องๆ ดีไซเนอร์ที่หลายคนก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ด้วย และบางคนก็เป็นเจ้าของสตูดิโอออกแบบหรือแบรนด์ดีไซน์ด้วย ประกอบไปด้วย ติ๊ก-สันติ ลอรัชวี, เบล-กนกนุช ศิลปวิศวกุล, เต้-อรรฆพงศ์ ผลประเสริฐ, นัด-ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร, เติร์ก-จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์ และ รมิ-รมิตา บุราสัย (ในวันสัมภาษณ์ รมิตา ติดธุระจึงไม่ได้มาร่วมพูดคุยด้วย) ทั้งหมดมองเห็นปัญหาบางอย่างในแวดวงการศึกษาและแวดวงการออกแบบ
แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มองเห็นทางออกอยู่รำไรด้วยเช่นกัน
บทเรียนที่หนึ่ง: เปิดห้องเรียน แล้วเปลี่ยนให้เป็นคลับ
“พวกเราอยู่ในแวดวงเดียวกัน ทำกิจกรรม ทำเวิร์กช็อปด้วยกันอยู่แล้ว พวกเราเคยรวมตัวกันในหลายๆ บทบาทอยู่แล้ว” เบลเล่าถึงที่มาที่ไป “อย่างตัวเบลเองก็รักที่จะสอน มีช่วงหนึ่งที่รับงานออกแบบน้อยลง แล้วก็มาโฟกัสกับการสอนมากขึ้น แล้วเบลก็คุยกับอาจารย์ติ๊กว่า อนาคตเราอยากจะทำโรงเรียนขึ้นมาเอง อยากทำพื้นที่นอกเหนือจากในมหา’ลัยที่เรายังสอนอยู่ ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ที่เราสามารถโฟกัสกับเรื่องนี้เต็มๆ เลยดีไหม เพราะเราทำทั้งการสอนในระบบและสอนแบบเวิร์กช็อปมานาน เรามองว่ามันก็ส่งเสริมกัน แต่ละพื้นที่การเรียนรู้มันก็จะมีจุดแข็งจุดอ่อนของมัน แล้วสิ่งที่พวกเราทุกคนมองตรงกันคือเรามองว่างานออกแบบหรือกระบวนการคิดด้านการออกแบบมันอยู่ในตัวทุกคนได้ หรือแม้กระทั่งมันสามารถช่วยส่งเสริมคนได้ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพอะไร วัยอะไร เพศอะไรก็ตาม จากจุดเริ่มต้นนี้เรามาคุยกันว่ามันเป็นไปได้อย่างไรบ้าง พอมันเป็นเรื่องการดีไซน์สำหรับทุกคนมันก็เลยเหมือนกับเราไม่ได้โฟกัสไปแค่ปลายทางที่ต้องสำเร็จเป็นงานดีไซน์ แต่เรามองถึงกระบวนการการเรียนรู้ด้วยค่ะ” เบล ดีไซเนอร์ คิวเรเตอร์ และอาจารย์ผู้มีประสบการณ์มาไม่น้อยกล่าว
“โดยหลักๆ มันไม่ใช่แผนการที่ชัดเจนมาก” อาจารย์ติ๊กกล่าวเสริม “เพราะว่ามันก็เป็นเรื่องใหม่ของเราด้วย น่าสนใจที่หลังๆ ผมก็คืออ่านหนังสือบางเล่มที่พูดถึงเรื่องกระบวนการออกแบบที่มีความหมายใหญ่กว่าอาชีพ แล้วก็ชอบกัน เราคิดว่ามันใช่ มันเหมือนว่าศักยภาพที่เราสอนมันถูกจำกัดอยู่ในดีกรี อยู่ในอาชีพ แต่จริงๆ แล้ว เวลาเราสังเกตว่าพอรัฐจะพัฒนาตัว Creative Economy จริงๆ นักสร้างสรรค์มันเป็นแค่ภาคีเดียวนะ แต่มันต้องการความเข้าใจของคนอื่นๆ ด้วย ถ้าเรียกง่ายๆ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยเราใหญ่ขึ้น คือมันเป็นมหาวิทยาลัยที่ ‘จริง’ ขึ้น หมายถึงว่ามันไม่ได้ถูกครอบด้วยรั้วหรือสังกัดสถาบัน เราเป็นทีมเล็กก็จริง แต่ในภาพมันกว้างมากว่าใครจะมาเรียนก็ได้ เราจะเจอใครก็ได้ มันเลยไม่มีแผนที่ชัดว่าต้องทำอย่างไร มันเลยเป็นการเหมือนทดลอง”
กลุ่มเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทั้ง 6 คนตั้งโรงเรียน PS±D แล้วเริ่มออกแบบวิธีการทำงานร่วมกัน พวกเขาประชุมกันทุกอาทิตย์ จัดคลับเฮาส์กันทุกอาทิตย์ในช่วงที่โควิด 19 กำลังหนักหน่วง และค่อยๆ วางแผนร่วมกันอย่างจริงจัง
คอร์สแรกของ PS±D คือการสอนเรื่อง Creative Drawing ที่สอนโดย รศ. ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ และร่วมดำเนินการสอนโดยอาจารย์ติ๊ก-สันติ ลอรัชวี โดยมีห้องเรียนเป็นแกลเลอรี่เล็กๆ ย่านสุขุมวิทที่กำลังจัดแสดงงานศิลปะอยู่ด้วย ถือเป็นการทดลองครั้งแรกที่ชวนคนที่สนใจเรื่องการวาดภาพแต่อาจจะวาดเป็นหรือวาดไม่เป็นมาลองเรียนด้วยกัน โดยในคอร์สมีการผสมผสานทั้งเวิร์กช็อปและเลกเชอร์
“เหมือนในแง่หนึ่ง ตัวคอร์สมันพยายามเข้าไปนิยามคำว่า Drawing หรือว่าความ Creative Drawing มันจะออกมาเป็นในรูปแบบไหนได้บ้าง” ณัฐพงศ์ ซึ่งมีบทบาทเป็นนักวาดภาพประกอบชื่อ NUT.DAO เล่าให้ฟังบ้าง “อย่างในความคุ้นชินของในมหา’ลัย หรือว่าแม้กระทั่งตัวผมบางทีดรอว์อิ้งมันก็ฝังอยู่ในหัวเลยว่ามันคือวาดเส้นแน่นอน แต่ในคอร์สนี้มันถูกระเบิดออกว่า จริงๆ มันเป็นร่องรอยหรืออะไรอย่างบางอย่างก็ได้ เช่นมีการเอารอยร้าวของแก้วมาเป็นเส้นดรอว์อิ้ง หรือว่าร่องรอยที่มันถูกจากการซ่อมแซมแล้วมันทิ้งร่องรอยอะไรไว้ สิ่งๆ นั้นมันก็สามารถเรียกเป็นดรอว์อิ้งได้นะ มันก็เลยสนุกตรงนี้ที่ได้เห็นการขยายตัวของความหมายของดรอว์อิ้งครับ”
“ในอีกเลเยอร์หนึ่ง เรากำลังนิยามรูปแบบของห้องเรียนหรือรูปแบบของวิธีเรียนใหม่ด้วยเหมือนกันครับ” เต้ อรรฆพงศ์ ขยายความต่อ “ว่าห้องเรียนที่มันไม่ใช่ห้องเรียนแบบเดิม ไม่ได้มีครูหรืออาจารย์ เราไม่ได้เรียกตัวเองว่าเราเป็นผู้สอน แต่เราจะนิยามตัวเองเป็น Facilitator บทบาทของเรามันไม่เหมือนกับบทบาทที่เป็นอาจารย์ในคลาสเรียนทั่วไป มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราตั้งคำถามแล้วเราก็ทดลองนิยามมันด้วย ไม่ใช่แค่เนื้อหาแต่เป็นในเชิงรูปแบบด้วย”
ข้อสรุปจากคอร์สแรกคือพวกเขาค้นพบว่าการออกแบบคอร์สให้มีความเป็นคลับ ที่คนเรียนก็อยากมาเรียน คนเตรียมงานก็สนุกกับการเตรียมงาน แล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ถือเป็นบรรยากาศแบบที่พวกเขาอยากได้ เป็นเหตุผลที่คอร์สของพวกเขาเลยมีของกินอร่อยๆ ให้ทานตอนพักครึ่งด้วย
“คลับมันเลยกลายจิตวิญญาณของคอร์สของเรา ไม่ว่าจะวิชาอะไรก็ตาม คำว่าคลับจะยังอยู่ ของกินพร้อม พูดคุยเฮฮา และอีกข้อหนึ่งคือจะไม่เกิดความถูกผิด ไม่ฆ่าความคิดของใคร ประคับประคอง หามุมมองอะไรต่างๆ นานากัน มันก็เลยกลายเป็นคุณสมบัติที่ว่า เป็นคอมฟอร์ตโซนให้ได้ ทุกคนก็จะยอมรับว่าคุณอยากจะอวดอะไรสักอย่างก็อวดได้ นั่นก็คือสิ่งที่พยายามสร้างนะฮะ ตอนนั้นน่าจะพบสองอันนี้นะครับในช่วงแรก”
“อีกเรื่องที่เราค้นพบคือการเก็บโปรเซส (Process) ทั้งหมด โดยที่สุดท้ายมันจะถูกจัดแสดงในนิทรรศการด้วย เราเรียนรู้ว่า นิทรรศการมันไม่ต้องยาวก็ได้ แต่ว่าให้มันจัดกระชับๆ แล้วก็เกิดการแลกเปลี่ยนกันให้มันมากที่สุดภายในไม่กี่วันที่มันแสดง มันก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งคนเรียนและคนที่มาดู เขาก็เกิดการแลกเปลี่ยนกัน” นัดเสริมอีกครั้ง
จากจุดเริ่มต้นนี้เอง PRACTICAL school of design ก็สร้างคอร์สที่มีคาแรกเตอร์ของตัวเองได้อย่างชัดเจนขึ้น คือมีความเป็นคลับ เป็นพื้นที่ปลอดภัย และปิดท้ายด้วยการจัดนิทรรศการ
และอีกประเด็นหนึ่งที่ PS±D ทดลองทำดูแล้วได้ผลที่น่าสนใจคือการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาเรียนฟรี และทำหน้าที่ Note Taker หรือคนจดบันทึกการเรียนรู้ไปด้วย โดยตั้งแต่คอร์สแรกๆ เด็กๆ ที่พวกเขาคัดเลือกมาให้ทำหน้าที่นี้ก็ทำงานได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็กลายเป็นอีกบทบาทสำคัญในคอร์สของพวกเขาเลยทีเดียว
บทเรียนที่สอง: ก้อนหินในจิตใจ
คอร์สต่อๆ มาของ PS±D ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อาทิ Check ± Shift ± Change™ : LEAVE YOUR MARK คอร์สต่อเนื่องจากงาน Bangkok Illustration fair 2021 ที่ชวนเหล่านักวาดมาพัฒนาผลงานของตัวเองโดยลองเดินออกจากความคุ้นชิน (เหมาะสำหรับนักวาดภาพที่รู้สึกตันๆ เป็นอย่างยิ่ง) โดยในคอร์สนี้ชาว PS±D จะร่วมกันปลุกปั้น แนะนำ และเพิ่มพลังให้กับนักวาดที่มาร่วมคอร์สอย่างเต็มที่
“เวลาเราทำหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ยิ่งใส่มันก็ยิ่งให้มันดูมีอะไร แต่บางทีมันมีแต่ความเพ้อในสิ่งที่อยากให้มีน่ะ” อาจารย์ติ๊กอธิบาย “เราพบว่าในแต่ละคอร์สเราเล็งเป้าหมายอะไรดีกว่าไหม ดังนั้นมันเลยไปถึงการร่างหลักการของเรา คือถามว่ากลับไปที่เป้าหมายที่เราทำอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้ทักษะดีไซน์ไปอยู่กับทุกคนใช่ไหม เรามีหลักอะไรบ้างที่คิดว่าทำให้คนพัฒนาตัวเองได้ ก็เลยนั่งลิสต์ๆ กันขึ้นมา ก็ได้คำว่า Leave Your Mark ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักของเรา เพราะว่าการที่คุณจะพัฒนาตัวเองออกไปได้ คุณอาจจะต้องเสี่ยงที่จะออกจากที่คุณคุ้นๆ ก่อน แล้วจะกลับมาก็ได้ หรือไม่กลับก็ได้ อันนี้ก็เป็นไอเดียหนึ่งของเรา แล้วมันก็กลายเป็นคอร์สสำหรับคนที่วาดรูปเก่งๆ หรือชอบวาดรูป …คือวาดรูปจนไม่รู้จะสอนอะไรให้มึงแล้วอะ” เขาหัวเราะ “วาดซะเป็นเทพขนาดนี้ แต่ว่าที่เราได้พบมาทุกคน ไม่ว่าผมเองหรือคนที่อายุเท่าไหร่ มันจะมีจุดติดขัด (Struggle) อยู่ เป็นเรื่องจังหวะของแต่ละชีวิต แล้วการเสี่ยงออกมาจากจุดเดิมๆ มันน่าจะช่วยได้”
หรืออีกคอร์สที่ชื่อว่า A Stone in Your Mind ของ สันติ ลอรัชวี ซึ่งเป็นโปรแกรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติที่เสริมความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของสัญศาสตร์กับการออกแบบ สื่อสารเชิงภาพ (Visual Communication) ผ่านการสํารวจ ‘ก้อนหินหนึ่งก้อน’ ในมิติต่างๆ ที่อาจจะฟังแล้วงงๆ ว่าเรียนอะไรกัน แต่คนที่ได้ร่วมคอร์สหลายคนพบว่ามันเป็นประสบการณ์เปิดความคิดที่ดีเยี่ยมเลยทีเดียว
“คลาส A Stone in Your Mind ต้องขอบคุณคนชุดแรกที่มาเรียนกับเรานะ” อาจารย์สันติกล่าวพลางหัวเราะ “คือคนที่ลงเรียนรุ่นสองอาจจะเห็นภาพแล้ว รุ่นสามยิ่งง่ายเลย แต่ว่ารุ่นแรกก็ต้องขอบคุณคนที่เชื่อในความเป็นเรา เชื่อว่าคอร์สของเราน่าจะมีความน่าสนใจ”
A Stone in Your Mind เป็นคอร์สหนึ่งที่นิทรรศการตอนจบคอร์สน่าสนใจมากๆ ในรุ่นแรกจัดแสดงที่สำนักงานของ PS±D ย่านซอยสวัสดี ในขณะที่รุ่นที่สองจัดที่บ้านกึ่งสตูดิโอของณัฐพงศ์ ปรากฎว่านิทรรศการทั้งสองครั้งได้งานศิลปะและเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัญศาสตร์กับการออกแบบที่หลากหลายมากๆ มีตั้งแต่งานภาพถ่าย ภาพวาด และงานศิลปะจัดวาง ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดล้วนมีที่มาจาก ‘ก้อนหินหนึ่งก้อน’ เท่านั้น!
แต่พอโรงเรียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง พวกเขาก็พบว่าความเคร่งเครียดอาจไม่ใช่คำตอบ
“ทุกคนมีเส้นทางของตัวเอง มีงานประจำของตัวเองอยู่แล้ว” อาจารย์ติ๊กเล่าต่อ “เราก็แค่กลับมารวมกัน การกลับมารวมกันครั้งนี้มันควรจะเฮลตี้ (Healthy) คือตอนแรกๆ ก็คิดนะว่าต้องมีอะไรบ้าง เราจะทำออนไลน์ ออฟไลน์ แค่ไหน คือคิดใหญ่โตมาก แต่เอาเข้าจริงๆ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเวลา อย่างน้องๆ เขากำลังเป็นช่วงวันที่กำลังเป็นขาขึ้นของการงาน แล้วก็การทำสตูดิโอย่อยๆ พวกนี้ผมก็เคยผ่านมา มันต้องใช้เวลา จนกระทั่งมีน้องที่รู้สึกผิดที่ไม่ค่อยมีเวลา เราก็มาคุยกัน ยอมรับกันว่ามันเป็นงานที่สองของทุกคนนะ พอเรายอมรับว่ามันเป็นงานที่สองเราจะผ่อนคลายลง แต่กว่าจะถึงจุดนี้เราก็ใช้เวลาเป็นปีเหมือนกันนะ” เขาหัวเราะ
ผ่านไปเป็นปี แผนงานชัดเจน แต่ก็ผ่อนคลายขึ้น พวกเขายกเลิกสัญญาเช่าสำนักงานย่านซอยสวัสดีเพราะทีมตัดสินใจว่าจะไม่เคร่งเครียดกับเรื่องสถานที่อีกแล้ว และหยุดการทำคลับเฮาส์ แต่ยังคงเจอกันทุกสัปดาห์ และคอร์สต่างๆ ยังมีแผนการอย่างต่อเนื่อง
และหากใครได้มีโอกาสไปแอบฟังพวกเขาประชุมกัน จะพบว่าการพูดคุยของทีม PS±D เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ การอำและแซวกัน ในขณะที่จุดหมายก็ค่อยๆ แจ่มชัดขึ้นทุกที
บทเรียนที่สาม: ไปสู่ความลื่นไหลในระหว่างทาง
หลังจากเปลี่ยนที่เรียน ปรับรูปแบบ จำนวนคอร์สที่มากขึ้นทำให้พบผู้เรียนหลากหลายมากขึ้น พวกเขาก็ค้นพบคำอีกคำที่กลายมาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ
“พอทำไปทำมา เราพบคำอีกคำหนึ่งที่กลายเป็นคุณสมบัติของเรา คือคำว่า Dynamic ครับ” อาจารย์ติ๊กเล่าถึงสิ่งที่ได้ค้นพบอีกอย่าง “ตอนนี้เราอยากทำคอร์สที่ไดนามิก หมายถึงสอนใครก็ได้ ยาวแค่ไหนก็ได้ สั้นแค่ไหนก็ได้ มีพื้นฐานอะไรก็ได้ นี่คือ Dynamic Course อย่างคอร์ส A Stone in Your Mind คิดว่าเราทำได้แล้วนะครับ ที่ว่าคุณมีพื้นฐานอะไรมาเรียนก็ได้ คุณอายุเท่าไหร่ก็ได้ ผมสอน 3 ชั่วโมงก็ได้ 1 ชั่วโมงก็ได้ 30 ชั่วโมงก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ก็ประกอบกับของเดิมที่ว่า มันจะเป็นคลับ มันจะไม่มีถูกผิด แล้วก็จะมีนิทรรศการปิดคอร์สนะครับ ซึ่งจริงๆ ก็ต้องขอบคุณความใจเย็นของพวกเรานะ” เขาหัวเราะ “คือถ้าใจร้อนมันจะรีบกำหนด พอมันกำหนดปุ๊ปแล้วเราจะนำไปตามที่เรากำหนด เราจะไม่ค่อยได้ค้นพบว่า เราพบอะไรระหว่างทาง แต่พอเราไม่รีบ เราจะค่อยๆ พบแต่สิ่งที่ใช่ ค่อยๆ เอามันมาประกอบกัน”
แล้วความลื่นไหลของ PS±D ก็พาพวกเขาจัดคอร์สสอนออกแบบโปสเตอร์ ไปร่วมงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ปัตตานี่เพื่อสอนเด็กๆ ที่นั่น และไปสอนดีไซน์ให้กับนักดนตรีที่สถาบันกัลยาณิวัฒนา
“อย่างที่ไปสอนนักดนตรี โจทย์คือสิ่งที่เรียกว่า Notation Literacy หรือการอ่านออกเขียนได้ของโน้ตดนตรี เรื่องโน้ตดนตรีมันเป็นกราฟิก เป็นโค้ด เป็นวิชวลอยู่แล้ว แต่พอมันกลายเป็นระบบภาษานี่สุดท้ายแล้วเหมือนที่เราคิดเป็นภาษาไทยน่ะ พอเราคิดเป็นภาษาไทยเรื่อยๆ ภาพเราก็จะเป็นไทยๆ อย่างนี้ เราลองคิดเป็นภาษาอังกฤษภาพมันก็จะมีมู้ดอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้านักดนตรีคิดดนตรีเป็นภาษาวิชวล วิธีประพันธ์มันอาจจะเปลี่ยนไป เดิมทีเขาอ่านโน้ตดนตรีด้วยไวยากรณ์ แต่ถ้าเขาอ่านโน้ตดนตรีที่มันเป็นภาพที่มันไม่มีหลักไวยากรณ์เดิม แล้วเขาต้องพยายามจะศึกษา มันคือการฝึกให้เด็กศึกษาจากวิชวล ซึ่งแต่ว่าในสายดนตรีมันมีอยู่แล้ว มันมีคอมโพสเซอร์ที่เขียนโน้ตแบบนี้อยู่แล้ว เราก็เอางานกราฟิกไปให้เขาลองตีความ เมื่อวานก็มีเด็กมาบอกว่าชอบคลาสนี้นะ บอกว่าชอบตอนตัดกระดาษมาวาง มันเหมือนเขาคอมโพสต์เสียง แล้วมันก็ทำให้เป็นช่องทางในการคิดท่วงทำนองที่นอกเหนือจากการคิดเป็นกรอบเดิมอะไรของเขา” อาจารย์ติ๊กเล่าให้ฟังเรื่องคอร์สที่ไปสอนนักดนตรี
“ที่น้องๆ เขาบอกว่าได้ใช้มากๆ ก็คือเวลาเขาจะต้องมีงานแสดง เขาจะต้องทวิชวลประกอบดนตรี พวกความรู้ชุดนี้ก็สามารถไปทำแบบประกอบได้ จะทำให้มันเป็นไปในทางเดียวกันกับดนตรีของเขาหรือว่าเป็นการเล่าเรื่องที่เป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ ก็คือทำให้เขามีพื้นที่ในการแสดงออกได้มากขึ้น เหมือนเราไปเพิ่มอะไรบางอย่างให้เขา” อาจารย์เบลกล่าวเสริม
และหนึ่งในความไดนามิกของทีม PS±D คือการที่พวกเขามาร่วมงานกับ happening ในงาน happening exhibition ซึ่งเป็นงานนิทรรศการที่ผสมผสานกิจกรรมต่างๆ จนเรียกว่าเป็นอีเวนต์ทางศิลปะยาว 24 วันรวด เป็นงานที่แบ่งงานของเหล่าศิลปินออกเป็น 9 ห้อง และแต่ละห้องมีกิจกรรมแตกต่างกันไป ตั้งแต่นิทรรศการภาพวาด ภาพถ่าย วงเสวนา ร้านเครื่องดื่ม เล่นดนตรี มุมเครื่องหอม ไปจนถึงห้องหนึ่งห้องที่เป็นของ PS±D โดยเฉพาะ ซึ่งพวกเขาจะมาจัดคอร์ส Check ± Shift ± Change™ : LEAVE YOUR MARK ครั้งที่ 2 ทุกๆ วันเสาร์ในงานนี้ โดยรับคนร่วมเรียนเป็นนักวาดราว 12 คน ส่วนคนที่เข้ามาชมงาน happening exhibition ก็สามารถมาร่วมฟังหรือแอบสังเกตการณ์ได้
“ความพิเศษของรอบนี้คือที่มุมหนึ่งของห้องเรียนเรายังมี PS±D Bookmark ซึ่งก็คือไลบรารี่ที่รวมหนังสือซึ่งเลือกให้คุณมาลองอ่าน ถ้าคุณจะมาศึกษาหรือว่ามาพัฒนาเรื่องงานออกแบ ห้องสมุดเล็กๆ นี้จะรวมหนังสือไว้นี้ มีการคั่นหน้าที่เราอยากแนะนำไว้ให้เรียบร้อยหมดแล้ว ไม่ให้คุณต้องเปิดหา” อาจารย์ติ๊กเล่าแล้วหัวเราะเบาๆ “มันก็จะเหมาะกับการที่เรามาใช้เฉพาะกิจ เช่นมาเข้าคอร์สเพราะอยาก Leave Your Mark หรือหลุดจากความจำเจ พวกเราเองก็จะชวนเพื่อนๆ ในวงการ คนรู้จัก นักเขียน อะไรต่างๆ นานา ให้เอาหนังสือมาร่วมด้วย”
และอาจารย์เบลก็กล่าวเสริมถึงความพิเศษของคอร์สนี้อีกอย่าง
“ปกติแล้วคอร์สนี้จะเป็นเวิร์กช้อป มีบรรยาย มีแลกเปลี่ยนทุกวันเสาร์ แต่ระหว่างสัปดาห์ นักวาดที่มาร่วมเรียนกับเราก็อาจจะทำอะไรทิ้งไว้หรือแม้กระทั่งเขาอาจจะมาเติมต่อในระหว่างวันธรรมดาก็ได้ มันกลายเป็นพื้นที่ที่เขาใช้ได้ และในแต่ละสัปดาห์งานที่จัดแสดงรอบๆ ห้องเรียนของเราก็จะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เกิดขึ้น และเสาร์สุดท้ายเราก็จะจัดนิทรรศการแสดงถึงกระบวนการเรียนรู้ของพวกเขาด้วยค่ะ”
จากห้องเรียนในแกลเลอรี่ ไปสู่โรงเรียนดนตรี ไปถึงงานอีเวนต์ทางศิลปะ น่าสนใจว่าต่อไปคอร์สของพวกเขาจะปรับเปลี่ยนและลื่นไหลไปได้อีกขนาดไหน
บทเรียนที่สี่: ยังเรียนอยู่
PS±D เดินทางมาร่วม 2 ปี โรงเรียนออกแบบแห่งนี้ยังคงออกแบบวิถีของตัวเองต่อไป ในขณะที่พวกเขาก็ได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรมาแล้วไม่น้อย
แต่ละคนมีล้วนบทเรียนดีๆ จากงานนี้
“ผมคิดว่าเราได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์กับเวลาที่น่าจะสำคัญมากๆ เลย” เต้-อรรฆพงศ์ ซึ่งมีอีกบทบาทเป็นผู้บริหารสตูดิโอออกแบบ และอีกบทบาทเป็นคุณพ่อลูกหนึ่งขอเล่าก่อนบ้าง “เพราะว่ามันมีหลายๆ จังหวะที่เราทั้งเร่ง ช้า หรือหยุด แต่ว่าทุกๆ จังหวะมันทำให้เราได้เข้าใจเวลา ทั้งของทุกคนและของตัวเราเองด้วย รวมถึงเส้นเวลาที่เหมาะสมของโรงเรียนนี้ด้วย เราได้รู้ว่าจังหวะการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ของโรงเรียนเราเองก็มีจังหวะในลักษณะหนึ่ง แล้วก็พอเราเข้าใจมันมากขึ้นเราก็จะค้นพบจังหวะของเรา แล้วก็พอมันเป็นจังหวะที่เฮลตี้กับทุกคน การทำงานนี้มันจะไม่หยุดเพราะว่ามันค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ บางทีเราก็เร็วได้ บางทีเราก็ช้าได้ แต่ว่าเราจะเคลื่อนไหวไปได้เรื่อยๆ แค่เราเข้าใจจังหวะเวลาและไม่ฝืนมันครับ”
“ผมได้เรียนรู้เรื่องบรรยากาศการเรียนรู้ครับ” ณัฐพงศ์ หรือ NUT.DAO นักวาดภาพงานชุกแสดงความเห็นบ้าง “จริงๆ คือผมอาจจะเคยชินการเรียนรู้ที่อีกแบบที่ผ่านมา ที่มันอาจจะต้องตึงหน่อย มีความเครียด แล้วก็ต้องเค้นหน่อย” เขาหัวเราะเบาๆ “แต่การทำงานนี้ทำให้ผมพบว่ามันเกิดการเรียนรู้ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นแบบนั้น มันไม่ต้องฆ่างานใคร มันสามารถส่งเสริมกันไปได้เรื่อยๆ แล้วทุกคนจะเปิดใจมากกว่า ถ้าเรามัวแต่บอกว่า ‘อันนี้ไม่ดีนะ อันนี้ไม่เวิร์กนะ’ ทุกอย่างจะค่อยๆ ปิด แต่พอมันเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ทุกคนก็กล้าแชร์กัน สุดท้ายผลงานมันอาจจะไม่ได้ยอดเยี่ยม แต่ว่าทุกคนจะได้อะไรมากกว่าผลลัพธ์สุดท้าย มันได้แลกเปลี่ยนกัน มันเกิดการไหลเวียนของเนื้อหาครับ”
“มันเป็นความรู้สึกดีที่เวลาใกล้ๆ จะหมดคอร์ส” อาจารย์ติ๊กเสริมบ้าง “แล้วคนเรียนบอกว่า ‘โห อาทิตย์หน้าไม่ได้มาแล้วทำไงดี’ สำหรับคนจัดมันก็รู้สึกดีที่เห็นเขาโหยหา มันแสดงว่าเขาอยากมา ถ้าห้องเรียนเป็นที่ที่คนเรียนอยากมามันถึงเป็นห้องเรียนครับ มันก็ทำให้เราสดชื่น เป็นอารมณ์ที่เราไม่ค่อยพบในมหา’ลัยเท่าไหร่”
เติร์ก จักรพันธ์ นักออกแบบและอาจารย์มหาวิทยาลัยพูดต่อบ้าง
“ผมมองว่า ในความเป็น Practical มันมี Identity ของตัวเอง แล้วมันไม่ใช่ Identity ที่ต้องเป็นสถานที่ ต้องเป็นเนื้อหา หรืออะไรบางอย่าง ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของแต่ละคนในทีมเราแหละ การที่เรามาอยู่ด้วยกันไม่ว่าเป็นการประชุมหรือว่าการเรียนการสอน แล้วมันมีเซนส์ของความที่มาคุยสนุกกัน หรือมาแซวพี่เบลกัน” เขาหัวเราะ และคนอื่นๆ ก็หัวเราะด้วย “หรือมากินอะไรต่างๆ ด้วยกัน อะไรอย่างนี้ มันมีความเป็นธรรมชาติแบบหนึ่ง แล้วเวลาที่มีคอร์สต่างๆ ที่มีคนภายนอกเข้ามาอยู่ในกลุ่มพวกเราด้วย เขารับรู้ได้ถึงธรรมชาตินั้น รับรู้ได้ถึงความสัมพันธ์แบบนั้น มันก็อาจจะเป็นคาแรกเตอร์ที่มันไม่ได้เหมือนที่อื่น มันคือการที่ทุกคนก็มีความสะดวกสบายใจในการอยู่ร่วมกันครับ”
“ส่วนผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี เพราะว่ามันเป็นระบบการเรียนการสอนที่เราอยากทำ ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง แล้วถ้าไม่มีพวกน้องๆ ที่มาร่วมหัวจมท้ายด้วยผมก็น่าจะไม่มีบั้นปลายแบบนี้” เขาหัวเราะ “จะเห็นว่าผมค่อนข้างแฮปปี้ แล้วผมก็ทยอยยกเลิกการสอนในมหา’ลัยไปทีละที่ เพราะว่าเราพบที่ๆ เราโอเค คราวนี้มันก็สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือการเกิดการเรียนรู้เกิดที่ไหนก็ได้ แล้วเราก็อยากจะไปต่อ อยากจะดูว่าพื้นที่เรียนรู้มันกว้างแค่ไหน แล้วการที่เป็นโค้ชหรือเป็นคนเตรียมการสอน เราต้องไปรับด้วย แสดงว่าเราต้องออกแบบคอร์สที่เราได้รับอะไรบางอย่างด้วย แล้วมันก็จะส่งกลับได้ นี่คือสิ่งที่เรียนรู้”
ปิดท้ายด้วย เบล กนกนุช ที่บอกกล่าวด้วยความกระตือรือล้น
“สำหรับเบลก็คือไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเรา ในมหา’ลัย หรือเวิร์กช็อป นอกเหนือจากเนื้อหาที่เราต้องการจะให้เขา เราก็ต้องปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน แล้วก็ต้องปรับให้เข้ากับผู้เรียนแต่ละคนด้วย แต่เบลว่าคลาสของเรา สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าจบกระบวนการก็คือ เขาได้จัดแสดงแล้วเขาได้รับฟีดแบ็กจากผู้ชม อันนี้เป็นจุดที่มาเติมเต็มได้เหมือนกัน ตรงที่บางทีถ้าเรารับรู้แค่พวกเราก็ตัดสินในแค่มุมมองของพวกเรา แต่การที่มันถูกเผยแพร่ออกไปแล้วคนอื่นๆ ที่มาเห็น ว่าเขาคิดเหมือนเราไหม มันยิ่งได้แลกเปลี่ยนและต่อยอดได้อีกเรื่อยๆ ในวงกว้างขึ้นด้วย”
เรายังคงพูดคุยกันต่ออีกพักใหญ่ ในสถานที่นัดหมายประชุมซึ่งวันนั้นพวกเขานัดกันที่บ้านของ เบล กนกนุช (ซึ่งสถานที่นัดในแต่ละสัปดาห์จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม) เราพากันเดิน พร้อมจูงเจ้าโซซู – สุนัขของอาจารย์ติ๊ก ไปถ่ายภาพหมู่ที่สนามหญ้าภายในหมู่บ้าน แล้วกลับมานั่งคุยกันต่อ ระหว่างนั้นเราเห็นความคุ้นเคยสนิทสนมระหว่างพวกเขาที่มีมากมาย เห็นเป้าหมายที่มีร่วมกัน และเห็นความทรงจำดีๆ ที่มีให้รำลึกร่วมกัน และยังจะก่อตัวขึ้นอีกในอนาคต
“เบลชอบโมเมนต์ที่คนมาก่อนเวลาเรียนนะ” เบลเล่าอย่างภูมิใจในช่วงหนึ่ง “แล้วพอหมดเวลาเรียนก็ยังอยู่ต่อ คือถึงแม้ว่าเขาไม่ได้อยู่เพื่อคุยกับเราก็จริง แต่ว่าการที่เขาอยู่กันต่อ หรือว่ามากันเร็วมันคือพื้นที่แลกเปลี่ยนน่ะ มันเหมือนเป็นสังคมน่ารักๆ เล็กๆ เบลชอบจังหวะนี้แหละ บางทีมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรา อาจจะเกี่ยวกับคนร่วมเวิร์กช้อปด้วยกันเอง แต่เราก็ชอบเห็นอะไรแบบนี้”
“มีคลาสหนึ่งผมลองไปเรียนเป็นนักเรียนด้วยเต็มๆ คลาสเลยครับ คือคอร์ส A Stone in Your Mind ครั้งแรกของอาจารย์ติ๊ก” เติร์กพูดถึงประสบการณ์อีกแบบที่เขาได้จากโรงเรียนนี้ โดยการลองสลับบทบาทไปเป็นนักเรียนบ้าง “ผมได้มองในมุมมองของคนที่มาเรียน ก็เลยจับเซนส์ได้ว่า ปกติผมอาจจะเป็นอาจารย์สอนมหา’ลัยใช่ไหม พอกลับมาเรียนแล้วมันเปลี่ยนบรรยากาศ พอเปลี่ยนบรรยากาศแล้วไอ้โมเมนต์ของการที่มีเพื่อนร่วมคลาสแล้วแต่ละคนโชว์งานมา แล้วมันต้องแบบ ‘เฮ้ย เรายอมไม่ได้ พี่เขาถ่ายรูปออกมาสวยขนาดนั้น’ อะไรแบบนี้” เติร์กหัวเราะ หลายคนหัวเราะตาม “พอบรรยากาศแบบนั้นมันกลับมา ผมก็รู้สึกว่ามันก็น่าจะเป็นบรรยากาศที่คนมาเรียนหลายๆ คนเขาก็ต้องการให้กลับมาในชีวิตของเขาเหมือนกัน บางคนปัจจุบันเขาอาจจะเป็นหัวหน้า เขาอาจจะเป็นอาจารย์ เขาอาจจะเป็นพนักงานประจำ แล้วประสบการณ์ที่ได้กลับมาเป็นนักเรียนใหม่ ในบรรยากาศแบบนี้ ผมว่ามันก็เป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างดีเลยล่ะ”
หลังจากวันที่เราได้คุยกันแล้ว เชื่อว่าบทสนทนาของพวกเขายังดำเนินต่อไป การเรียนรู้ยังไม่สิ้นสุด และการออกแบบห้องเรียน ความสัมพันธ์ และชีวิตของพวกเขาก็ยังคงลื่นไหล
และมันจะ PRACTICAL หรือ ‘ใช้ได้จริง’ มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน