Round table : EP4, When Everybody Designs
บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564
มีคนไม่น้อยที่คิดว่า การออกแบบขึ้นอยู่กับทักษะเฉพาะ แค่กับคนบางคน หรือแค่เพียงในสาขาศิลปะเท่านั้น แต่โดยส่วนตัวเริ่มเชื่อแล้วว่า “การออกแบบ” ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ
ทุกคนล้วนกำลังออกแบบอยู่เสมอ
ไม่เว้นแม้แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ สงคราม การเมือง สภาพสังคมบ้านเมืองในยามนี้เป็นแบบใดคงไม่ต้องบอก ใครที่ไม่ได้ปิดตาคงเห็นภาพใกล้เคียงกัน
เป็นสถานการณ์ที่เรียกหาผู้นำประเทศให้ทำการช่วยคิดช่วยกันปลุกเร้าและกระตุ้น ให้กระทำการออกแบบ นำพาประเทศให้อยู่รอดในช่วงสภาวะวิกฤตเช่นนี้
เท่าที่สืบค้นได้นั้น มนุษย์เริ่มกระบวนการออกแบบมาตั้งแต่การผลิตหินกะเทาะ ไว้ใช้ ตัด สับ ตลอดจนเริ่มมีการก่อกองไฟ และออกแบบผังเมืองในสมัยเมโสโปเตเมีย การออกแบบจึงทำให้มนุษย์เด่นชัดกว่าสิ่งมีชีวิตแบบประเภทอื่น ๆ เกิดการพัฒนาจากสิ่งเดิมให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ด้วยการ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้ดียิ่งขึ้น
การออกแบบจึงเป็นกิจกรรมที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปดูรากศัพท์ในภาษาอังกฤษ คำว่า Design มีที่มาจากคำกริยา แต่เดิมมีความหมายที่ว่าการคิดและการวางแผนในใจ หรือ การคิดค้นเพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ บางทีก็หมายถึงการวางแผน บางทีก็หมายถึงการสร้างสรรค์เพื่อที่จะบรรลุอะไรบางอย่าง โดยมีการวางแผนที่สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ (Purpose) ของตน
เพื่อให้เห็นการออกแบบชัดเจนยิ่งขึ้น อีกหนึ่งตัวอย่างจากคำกล่าวที่ว่า
มนุษย์ไม่ได้แค่ค้นพบไฟจากไฟป่าหรือการบังเอิญจุดติดเท่านั้น หากแต่มนุษย์ยังคิดต่อว่าจะนำสิ่งนี้มาใช้อย่างไรในชีวิตประจำวันของตนเอง ทั้งการใช้แสงสว่าง จนถึงการทำให้อาหารสุก
มนุษย์จะทำอย่างไร เมื่อมนุษย์ต้องการใช้ไฟ
นี่จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญของการออกแบบ
ในหนังสือ The Design Way, Second Edition ของ Harold G. Nelson & Erik Stolterman นิยามว่า การออกแบบ ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น การออกแบบอยู่ในสัญชาตญาณ ติดตัวพวกเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษ และในอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจความว่า เรามักจะ To Design the world to be what it would like it to be (เรามักจะออกแบบโลกให้เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็นเสมอ) จะเห็นได้ว่าทักษะเหล่านี้มาก่อนการมีนักออกแบบเสียอีก และจะเห็นได้แจ่มชัดว่าการออกแบบสำคัญต่อมนุษย์อย่างไร แต่การออกแบบนี้เอง กลับยังไม่ถูกจัดการให้เข้ากับพื้นฐานการใช้ชีวิตของมนุษย์และทำให้พวกเขาตระหนักได้ถึงความสำคัญของการออกแบบเท่าที่ควร
ในบทเริ่มต้นของเล่ม The Design Way ผู้เขียนต้องการนำการออกแบบเข้าถึงทุกคนและสามารถใช้งานได้จริง จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมการมีวัฒนธรรมการออกแบบ (Design culture) ซึ่งจะทำให้เกิดการนิยามและการขยับขยายแนวคิดด้านการออกแบบ และได้พูดถึงการที่คนทั่วไปมักคิดว่าการออกแบบเป็นผลพวงมาจากความคิดสร้างสรรค์
แต่ผู้เขียนกลับเสนอว่า ความคิดสร้างสรรค์เองทำให้การออกแบบมันวิเศษขึ้น การกลับกันของคำพูดนี้ จะทำให้เห็นนิยามของการออกแบบขยายไปไกลมากกว่าแค่ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังสามารถรวมถึงการคิดในแนวอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่การจำกัดในขอบเขตของความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นการออกแบบไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์เสมอไป หากแต่ยังสามารถแสวงหาแนวทางในการปฏิบัติให้บรรลุตามจุดประสงค์ที่เราต้องการได้
เพราะฉะนั้นแล้วการออกแบบจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพและประสิทธิผล การออกแบบจะเป็นการนำพาผู้คนจากตำแหน่งแห่งที่หนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ตำแหน่งในที่นี้ไม่ใช่แค่ทางกายภาพ หากแต่หมายถึงตำแหน่งในจินตภาพด้วย เช่น อารมณ์ ความรู้สึก
การออกแบบจึงเป็นภาวะความเป็นผู้ ‘นำ’ ผู้คนจากตำแหน่งแห่งที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
ภาวะความเป็นผู้นำ เรียกหาผู้กระทำเสมอ
ภาวะความเป็นผู้นำ เรียกร้องการประยุกต์ การตัดสินใจ การทำงานและการสื่อสาร
นักออกแบบ(Designer) กับผู้นำ(Leader) จึงไม่แตกต่างกันมากนัก
ผู้นำ(Leader) ที่ดีจึงต้องนำเอาวิธีการออกแบบมาใช้เพื่อการตัดสินใจได้ดีมากขึ้นต่อปัญหาแบบต่างๆได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้ผลจากการออกแบบที่ดีนำพาให้พวกเราผ่านพ้นจากสภาวะวิกฤตไปได้