The School of Design Way

โดย จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์
Photo by ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์
เผยแพร่ 17.05.2024
capitalread
https://capitalread.co/practical-school-of-design/

The School of Design Way
PRACTICAL School of Design โรงเรียนสอนออกแบบสำหรับคนทุกอาชีพ ที่เชื่อว่าทุกคนออกแบบได้

โรงเรียนแห่งนี้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นๆ ที่ผมรู้จักในชีวิต

โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2019 โดยนักออกแบบ 6 ชีวิต ที่ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่การงานรัดตัว หลายคนเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนต่อเนื่องมายาวนานหลายปี ได้แก่ ติ๊ก-สันติ ลอรัชวี, เบล-กนกนุช ศิลปวิศวกุล, เต้-อรรฆพงศ์ ผลประเสริฐ, นัด-ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร, เติร์ก-จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์ และรมิ-รมิตา บุราสัย

โรงเรียนแห่งนี้แม้จะก่อตั้งโดยกลุ่มนักออกแบบ แต่พวกเขากลับเชื่อว่า “ใครๆ ก็ออกแบบได้” ไม่ใช่เฉพาะนักออกแบบ

โรงเรียนแห่งนี้จึงนิยามตัวเองว่าเป็นโรงเรียนสอนออกแบบ แต่ไม่ใช่สำหรับนักออกแบบเท่านั้น

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งใจสร้างมายด์เซตในการออกแบบให้ผู้คนในทุกสาขาวิชาชีพ ทุกช่วงวัย ทุกความสนใจ ได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน ด้วยเชื่อว่ามายด์เซตนี้จะทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้เรียนดีขึ้นได้–ไม่มากก็น้อย

โรงเรียนแห่งนี้จึงมีผู้มาเรียนหลากหลาย ตั้งแต่นักออกแบบ ศิลปิน นักเขียน นักธุรกิจ คนที่เรียนจบทางด้านกฎหมาย วิศวกรรม จิตวิทยา ฯลฯ และมีตั้งแต่ผู้ใหญ่วัยเกษียณจนกระทั่งถึงเด็กวัยประถม

“โรงเรียนเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่รวมของคนที่สนใจบางอย่างใกล้ๆ กัน แล้วก็มาพัฒนาตัวเองผ่านกระบวนการออกแบบ ประสบการณ์ทางการออกแบบ” สันติว่าไว้อย่างนั้น

โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนมาแล้วหลากคอร์สหลายคลาส โดยคอร์สหลักที่กำลังเปิดรับสมัครชื่อ EveryONE-O-ONE ซึ่งเปรียบเสมือนวิชา 101 ที่จะปลูกฝังวิธีคิดและทัศนคติในการออกแบบให้กับทุกคน โดยที่ไม่ต้องมีพื้นฐานทางการออกแบบมาก่อน

โรงเรียนแห่งนี้ไม่ต้องกลัวถูกตัดสิน เพราะไม่มีการประเมินผลและไม่มี certificate หากแต่มีหนังสือรวบรวมกระบวนการเรียนมอบให้ รวมถึงการประมวลผลที่เป็นรูปธรรมอย่างการจัดนิทรรศการแสดงผลงานให้กับผู้มาเรียน

โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีตัวอาคารที่ระบุตำแหน่งแห่งหนได้ชัดเจน เพราะมันเป็นที่ไหนก็ได้ที่เหมาะกับวิชาที่เปิดสอน อย่างคอร์ส EveryONE-O-ONE ก็เรียนกันที่ Mana Craft ซึ่งด้านล่างเป็นคาเฟ่ ส่วนด้านบนก็เป็นพื้นที่บรรยายรวมถึงจัดแสดงงาน และผมก็นัดสนทนากับคณะผู้ร่วมก่อตั้งที่นี่

โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีรั้วกั้นกันคนหนีเรียน แต่นั่นคงไม่จำเป็น เพราะนักเรียนของที่นี่หลายคนบอกว่า “ทุกวันเสาร์ที่มาเรียนคือช่วงเวลาที่รอคอย”

โรงเรียนแห่งนี้ชื่อ PRACTICAL School of Design

โรงเรียนแห่งนี้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นๆ ที่ผมรู้จักในชีวิต

ในภาพ cover ของเพจ Practical School of Design มีประโยคที่เขียนว่า “ใครๆ ก็ออกแบบได้” ในฐานะนักออกแบบทำไมพวกคุณเชื่อแบบนี้

สันติ : มันมาจากตอนที่ผมอ่านหนังสือเล่มนึงชื่อ The Design Way ของ Harold G. Nelson, Erik Stolterman หนังสือเล่มนี้เขียนตั้งแต่ปี 2002 มันคือหนังสือปรัชญาทางการออกแบบที่พูดถึงวิถีของการออกแบบอย่างคมคายมาก หนาปึ้กเลย ผมก็อ่านวนไป

สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ convince ผมได้ก็คือประโยคนำที่บอกว่า “Human did not discover fire but design it” มนุษย์ไม่ได้ค้นพบไฟ แต่มนุษย์ดีไซน์มัน มันทำให้พบว่า essence หรือแก่นแท้ของดีไซน์คือ purpose เมื่อคุณมีจุดมุ่งหมายและคุณทำทุกอย่างเพื่อให้คุณบรรลุถึงจุดมุ่งหมายนั้น กระบวนการตรงนั้นเขาเรียกว่าการออกแบบ แต่ถ้าคุณไม่มีจุดมุ่งหมาย คุณทำอะไรก็ตาม ต่อให้มันสวยงาม ลีลาดีแค่ไหน มันก็ไม่ใช่การออกแบบ เพราะฉะนั้นการออกแบบจึงสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้

เราค้นพบไฟก็เท่านั้น รู้ว่ามันร้อนก็เท่านั้น แต่ทำยังไงเราถึงจะจุดมันได้เวลาที่เราต้องการ ทำยังไงที่เราจะใช้มันทำอาหารให้สุก ทำยังไงที่เราจะใช้มันเพื่อให้แสงสว่าง คุมมันแค่ไหน เพราะฉะนั้นดีไซน์จึงเกี่ยวข้องกับ feasibility ก็คือคุณมีเป้าหมายในการใช้งาน อย่างในยุคโมเดิร์นก็มีเป้าหมายชัดเจน ที่เป็นปรัชญาของยุคก็คือการทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น ดีไซน์เกิดขึ้นมาเพื่อให้เรายกระดับตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วตรงนี้แหละที่ทำให้โฮโมเซเปียนส์ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ เราจะเรียกว่าดีไซน์หรือไม่เรียกว่าดีไซน์ก็ได้

กนกนุช : จริงๆ คำว่าดีไซน์สำหรับเรามันติดมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ตอนเราเรียนทฤษฎีพื้นฐานด้านการออกแบบอาจารย์จะสอนว่า ดีไซน์คือการวางแผน แก้ปัญหา และจัดองค์ประกอบ ตั้งแต่วันนั้นเราก็เริ่มสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว อย่างเราเป็นคนชอบแต่งตัว เราก็เลยรู้สึกว่ามันอยู่ตั้งแต่การแต่งตัวในแต่ละวัน วันนี้เราอยากได้รูปแบบไหน อากาศเป็นยังไง แล้วเรากำลังจะไปร่วมงานอะไร คือมันอยู่ในชีวิตประจำของทุกคน

เวลาคนถามว่าดีไซน์สำหรับเราคืออะไร เราก็จะเปรียบเทียบเรื่องการแต่งตัวนี่แหละว่าทุกวันเวลาเราลืมตาตื่นมา แค่การเลือกเสื้อผ้าออกมาข้างนอกมันก็คือการได้ดีไซน์แล้วนะ รวมถึงพอเรามองไปในรายละเอียดที่ทุกคนใช้ชีวิตในแต่ละวัน เราจะเห็นว่ามันอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ ซึ่งที่ผ่านมาก่อนจะมาทำโรงเรียนเราก็ไม่ได้คิด

สันติ : จากหนังสือ The Design Way ข้อนึงที่เราพบคือทักษะในการดีไซน์มันไม่ใช่ของนักออกแบบเท่านั้น แต่เป็นสกิลที่ทุกคนมีอยู่แล้ว พวกคำที่เราใช้เรียกอาชีพ ที่เอา -er มาใส่ข้างหลังมันเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 200 กว่าปีเอง มันเลยทำให้เกิดความเข้าใจว่าศาสตร์นี้ ความเข้าใจตรงนี้ มันเป็นของนักออกแบบ แต่กิจกรรมนี้ ความสามารถนี้ อยู่มา 30,000-40,000 ปีแล้ว พวกเราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจมากที่เราจะคืนสกิลนี้ให้กับทุกคน

การทำให้เชื่อว่าทุกคนออกแบบได้จะเป็นการลดทอนความสำคัญของนักออกแบบไหม

สันติ : ทุกวันนี้เราก็ถูกรุกเร้าโจมตีจากยุคสมัยอยู่แล้วใช่มั้ย คนเขียนหนังสือได้ดีขึ้นเพราะมี chatGPT ช่วย ร่างพล็อตนิยายได้เลย คนทั่วไปก็ออกแบบได้ มี AI มี Canva คนทั่วไปก็ถ่ายรูปได้เพราะมีกล้อง มีตัวช่วย ทุกวันนี้ทุกอาชีพล้วนถูกท้าทาย จริงๆ มันถูกเรียกคืน ถูกมั้ย คุณยึดไว้ประมาณสัก 100-200 ปี แต่ตอนนี้อาชีพคุณกำลังถูกเรียกคืน ซึ่งคนที่เรียกคืนไม่ใช่ AI นะ แต่คือคนทั่วไปที่ยืมเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพราะเขามีทางเลือก

บันได The Design Ladder ของ Danish Design Center แบ่งงานออกแบบเป็นบันได 4 ขั้น ขั้นแรก Non-Design คือแค่ทำตามโจทย์ ขั้นที่สองคือ Design as Styling คืองานออกแบบที่ตอบความงาม สไตล์ รูปแบบ ขั้นที่สามคือ Design as Process เหมือนคุณใช้ดีไซน์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจ เป็นส่วนประกอบสำคัญ เป็นฟันเฟือง เป็นระบบอันหนึ่งที่ทำให้ทำงานได้ดีขึ้น และขั้นที่สี่คือ Design as Strategy คือการใช้ดีไซน์เข้าไปช่วยในแผนกลยุทธ์ มีผลได้-เสียกับการประกอบธุรกิจ ทุกวันนี้ถ้าไม่จำเป็นผมก็อาจจะยังไม่ยกหูจ้างก๊อบปี้ไรเตอร์ ผมขอคุยกับ chatGPT อีกสัก 2 วันก่อน ว่าทิศทางการเขียนมันจะเป็นยังไง หรือจะทำอะไร ทั้งการรีเสิร์ช การทำภาพ ตอนนี้ก็ทำภาพเคลื่อนไหวได้ด้วย ถ่ายรูปก็ง่ายขึ้น คือถ้าคนทั่วไปถ้าเขาไม่ได้ใช้แบบซีเรียสเขาก็ทำเองได้ เพราะฉะนั้นงานที่เป็นขั้นบันไดแรกมันจะถูกสึนามิเข้าหมดแล้ว

คราวนี้ในแง่ของระดับขั้นที่สูงขึ้นก็ต้องการคนที่เข้าใจมากขึ้น คนเข้าใจในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ แต่มันคือ ecosystem ผมคิดว่าพวกเราสนใจในการสร้าง ecosystem ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง 

ถามว่าการทำให้ทุกคนเชื่อว่าตัวเองออกแบบได้มันลดทอนความสำคัญของนักออกแบบไหม ยกตัวอย่างช่วงโควิด-19 ผมหันมาทำอาหารเพราะเราว่าง ผมก็ไปเสิร์ชยูทูบแล้วลองทำ ผมก็ทำได้ทุกอย่างเลย หลายคนก็เหมือนกัน เห็นเพื่อนๆ ในไอจีทำเมนูนั้นเมนูนี้ได้ แล้วพอถึงจุดนึงที่เราทำมันออกมาได้ ผมไม่ได้คิดว่าเห็นแค่นี้ใครๆ ก็ทำได้ แต่ผมกลับรู้สึกทึ่งในตัวเชฟมากขึ้นเมื่อได้ลองทำอาหาร

ทำไมเป็นแบบนั้น

สันติ : พอเราได้มาลอง ครั้งแรกเราอาจประสบความสำเร็จ คนที่บ้านกินแล้วบอกว่าเปิดร้านได้เลย เราก็ภูมิใจ เขาก็เชียร์กัน แต่พอทำอีกทีปรากฏว่าเละ หรืออยากส่งไปให้รุ่นน้อง พอลองทำเพิ่มปริมาณอีกหน่อยก็พัง คือเราทำตามสูตร เราไม่ได้เข้าใจว่าอันนี้ต้องเพิ่มมากหรือน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่าซื้อกินดีกว่า อร่อยกว่า ง่ายกว่า

ซึ่งก็เหมือนกัน ถ้ามีมุมมองที่ทำให้คนเข้าใจดีไซน์ ทำให้เขาได้มีประสบการณ์ในการออกแบบมากขึ้น เขาน่าจะเห็นค่าดีไซเนอร์มากขึ้นด้วย แต่เป็นดีไซเนอร์ในความหมายใหม่ที่ทุกคนหา ไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่เพียงแค่ตอบสนองเทคนิคบางอย่างที่คนอื่นเริ่มทำได้แล้ว มันก็จะสร้างจุดยืน หรือว่าความต้องการ requirement ใหม่ๆ ของการออกแบบ

อย่างงาน Bangkok Design Week ครั้งที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องให้งานเข้ามายกระดับความเป็นอยู่ในชุมชน เราจะเห็นว่ามีกระแสที่ถกเถียงกัน ซึ่งสำหรับผม ผมรู้สึกว่าดีจังที่เริ่มมีคนที่หวังว่างานดีไซน์จะทำอะไรต่างๆ ให้เขาแล้ว แสดงว่าเขาเห็นแล้วว่ามันสำคัญ ทำไมทำแค่นี้ เขากำลังคาดหวัง ซึ่งเมื่อเขาคาดหวัง วันนี้เราอาจจะยังตอบรับเขาไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเขาเห็นเราสำคัญ เขาเลยคาดหวัง เริ่มมีคนเรียกร้องบางอย่างจากดีไซน์ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สวยงามมาก น่าสนใจมาก แล้วก็น่าดีใจมาก แสดงว่างานดีไซน์วีคมันเวิร์ก แสดงว่าสิ่งที่คุณทำมาหลายปีมันได้ผล สังคมคาดหวังแล้ว ปีหน้าก็เอาอีกสิ ให้มันตอบสนองความคาดหวังนี้ ผมคิดว่า ecosystem แบบนี้มันสำคัญ

ตอนนี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่เราจะทำเพียงแค่มานั่ง develop กันใน chamber ตัวเอง แจกรางวัลกันเอง ชื่นชมกันเอง มางานกันเอง เปิดงานกันก็มีแต่พวกเรามา ไอ้คนอยู่นอกตึกก็ไม่รู้เราทำอะไรกัน ตรงนี้มันเยอะแล้ว สำหรับเราจุดที่น่าสนใจมันไปอยู่อีกฟากนึง แล้วเราไม่ได้ทำแค่ฟากนั้น แต่เราทำให้ทั้งสองฝั่งอยู่รวมกันได้ เพราะถ้าดีไซน์เป็นของทุกคนจริงๆ มันต้องอยู่ด้วยกันได้ ต้องคุยด้วยกันได้

ในมุมมองของคุณ การที่คนนอกวงการออกแบบไม่เข้าใจคุณค่าของการออกแบบเป็นปัญหายังไง

สันติ : ผมจะเลี่ยงพูดในแง่วิชาชีพ ผมขอพูดในภาพรวม มีบางเรื่องบางสิ่งในสังคมเราที่มันอาจจะดีกว่านี้ได้ แต่ยังไม่ดีขึ้น เพราะว่าเขาอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการออกแบบ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการขึ้นลิฟต์ บางที่ระบบการสื่อสารถ้ามันดีจะทำให้คนทำงานกับพื้นที่สะดวกขึ้น ซึ่งอันนี้มันไม่ได้อยู่ในอาณัติของดีไซเนอร์ บางทีมันอยู่ในการตัดสินใจแค่ของคนบริหาร นิติบุคคลของอาคาร 

บางเรื่องดีไซเนอร์ไม่สามารถเข้าถึงในรายละเอียดของชีวิตทุกคนได้ ซึ่งรายละเอียดตรงนั้นมันดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางหรืออะไรที่คำนึงถึงสิ่งต่างๆ ทั้งความปลอดภัย ความเรียบง่าย ความเป็นระเบียบ การสร้างประสบการณ์การรอคอยที่ดี พวกนี้มันอยู่ในชีวิตเราหมด แต่ปัญหาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ปัญหาขยะ หรือสิ่งที่มันดีกว่านี้ได้ในโลกทั้งหมดเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากรของนักออกแบบแล้วมันไม่พอหรอก มันต้องการทุกคน คุณต้องมีดีไซเนอร์ในครัวเรือนที่จะออกแบบการแยกขยะโดยที่ไม่จำเป็นต้องจ้าง

ในหนังสือ The Design Way เขาบอกว่า หนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือเขาอยากสร้าง design culture เพราะฉะนั้นมันไม่ได้แปลว่าเขาอยากสร้างดีไซเนอร์ เขาอยากสร้างวัฒนธรรมทางการออกแบบที่อยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเราใช้คำนี้ให้ง่ายขึ้นได้ เช่น แม่หรือพ่ออาจจะพูดว่า “ทำไมไม่มีใครออกแบบการทิ้งขยะที่บ้านสักทีวะ” ก็ได้ นี่คือ design culture ที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน คือคุณไม่ต้องเป็นดีไซเนอร์หรอก แต่คุณใช้คำว่าดีไซน์ได้กับเรื่องต่างๆ อย่างวันนี้ฝนตก พวกเราจะดีไซน์วิธีเดินทางไปที่ทำงานกันยังไง อาจจะไม่ต้องเอาคำนี้ออกมาใช้ตลอดเวลา แต่ว่ามันมีคัลเจอร์นี้

เพราะฉะนั้นพวกเราจะบอกกับคนที่มาเรียนทุกคนว่า ผมหรือพวกเราไม่ได้คาดหวังว่าจบคอร์สแล้วพวกคุณจะไปเป็นดีไซเนอร์ คุณไปเป็นแบบเดิมนี่แหละ แต่คุณจะเป็นนักกฎหมายหรือเป็นนักธุรกิจที่มี design way มี design culture เมื่อคนหมู่มากไปในทิศทางเดียวกัน เห็นอะไรร่วมกัน ดีไซเนอร์ก็จะเติบโตด้วย เพราะว่าในบางโอกาสที่เขาไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ เขาก็รู้ว่าโปรเฟสชันนอลต่างจากที่ตัวเองทำอยู่ยังไง เรารู้ว่าเชฟต้องบริหารจัดการทั้งต้นทุน วัตถุดิบ การรักษาความเสถียรของรสชาติ เราทำไม่ได้หรอก แต่เราทำกินเล่นได้

กนกนุช : เรามองว่าสิ่งที่เรากำลังทำ คนที่มีประสบการณ์จากการเรียนกับเราน่าจะใช้ชีวิตได้อย่างละเมียดมากขึ้น เห็นคุณค่าในสิ่งรอบตัวมากขึ้น มองเห็นว่าอันนี้เป็นอย่างนั้นก็ได้ แล้วทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ เขาได้ตั้งข้อสังเกตกับสิ่งรอบตัวอย่างมีความสุขมากขึ้น

ย้อนกลับไปในบทบาทของคุณทั้งสองก็เป็นอาจารย์อยู่แล้ว มีพื้นที่การสอนในมหาวิทยาลัย อะไรทำให้ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำโรงเรียน

สันติ : จริงๆ มันมีภาพที่ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นข้อสงสัย สมมติฐาน หรือภาพฝันอยู่คละเคล้ากัน เราอยากจะเห็นว่ามันเกิดขึ้นได้มั้ย 

อย่างแรก–ผมเห็นพ้องกับเบลเรื่องปริมาณผู้เรียนในคลาส เรารู้สึกว่าการพูดคุยเรื่องดีไซน์ การเรียนการสอนหรือการแลกเปลี่ยนมัน take time มันไม่ใช่แค่สั่งงานแล้วจบ เรารู้สึกว่าปริมาณของคนต่อการสร้างบทสนทนาควรจะมีข้อจำกัด อย่างเช่นที่ Practical School of Design เรารับไม่เกิน 10 คน ซึ่งอันนี้อาจจะมีปัญหาในแง่ของ business ก็จริง มันก็ทำให้ราคาคอร์สนึงค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องยอมรับ ผมคิดว่าเราไม่สามารถจะทำวิธีนี้ด้วยไซส์ที่ใหญ่กว่านี้ แล้วทำให้คุณภาพเท่าเดิม มันก็ยังจำเป็นจะต้องเป็นแบบ chef’s table อยู่

สอง–ชาลเลนจ์หรือเป้าที่เราตั้งขึ้นมาสำหรับการเรียนการสอนแบบที่ผู้เรียนมาจากพื้นเพแตกต่างทั้งอาชีพแล้วก็เพศวัย ผมคิดว่าบ้านเรายังไม่มีพื้นที่นี้ มหาวิทยาลัยก็ยังไม่ใช่คำตอบ 

สาม–แพสชั่นของคนที่มาเรียน ที่สมัคร 10 มาเรียน 10 อันนี้จริงๆ ไม่ใช่ปัญหาแต่นี่คือภาพฝัน สมมติเราสอนในมหาวิทยาลัยเด็ก 30-40 คน แล้วมีเด็กที่ใส่เต็มสัก 5 คนเราก็รักมากแล้ว แล้วมันจะเป็นยังไงถ้าคนที่มาเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์เขาใส่เต็ม คือสอนหนังสือมันไม่ได้ยากนะถ้าทุกคนเป็นแบบนี้ อาจารย์โคตรสบาย 

และข้อสุดท้ายคือความสนุกตื่นเต้นที่เราได้มาสอน ได้มาอยู่ร่วมกับสังคมสังคมนึง ไม่ใช่ในฐานะผู้รู้มาถ่ายทอด แต่เราตื่นเต้นร่วมกับเขาไปทุกครั้งว่าวันนี้เราจะได้มารู้อะไร ได้เจออะไร ได้มาฟังอะไร ผมว่านี่คือสิ่งสำคัญมาก ที่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าสถาบันการศึกษาในระบบจะรักษาสิ่งนี้ให้กับอาจารย์ตัวเองยังไง ทุกครั้งที่คุณตื่นเช้ามา แล้วคุณรู้สึกว่าคุณอยากร่วมคลาสนี้มาก สอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าคุณก็ยังอยากจะมาสอน คุณยังอยากจะรู้ว่าคุณได้ยินอะไร คุณยังอยากจะขับรถไป ไม่ได้โม้นะ ทุกคนพูดว่าเสาร์ที่มีเรียนคือเสาร์ที่รอคอย นี่คือฟีดแบ็กของผู้เรียน ผมเองก็เหมือนกัน เบลก็เหมือนกัน นี่คือเสาร์ที่รอคอย ไม่ใช่ว่านี่วันเสาร์อีกแล้วเหรอ

ผมคิดว่าสามสี่ข้อที่พูดมาก็เพียงพอให้เราทดลองสร้างมันดู แล้วก็ถึงวันนี้ที่คิดว่าจะสเกลยังไง จะ maintain ยังไงมากกว่า

พวกคุณนิยาม Practical School of Design ไว้ยังไง

สันติ : ตอนหลังผมยอมรับคําว่า ‘โรงเรียน’ แต่เราแค่ไม่ได้ยอมรับรูปแบบโรงเรียนที่จํากัด คือคําว่าโรงเรียนสำหรับเรามันไม่ใช่กายภาพ มันไม่ใช่สถานที่ที่มีรั้วกั้น แต่โรงเรียนมันประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์หรือกิจกรรม บรรยากาศ เราอยากให้มันเป็นที่รวมของคนที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน สนใจเรื่องใกล้ๆ กัน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองกัน โดยวงเล็บว่าผ่านกิจกรรมทางการออกแบบ โรงเรียนเราเลยเป็นแบบนี้

คนที่มาที่นี่ไม่ได้บังคับกันมา ทุกคนจ่ายเงินมาด้วยเรื่องเดียวกัน เขาก็ควรจะรู้สึกปลอดภัย เราก็เลยคิดว่าที่นี่ควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัย เป็นที่ที่ทุกคนสบายตัว เพราะว่าจุดที่สําคัญมากๆ ต่อการเรียนคือการกล้าลอง กล้าลองถูกลองผิดลองนู่นลองนี่ เพราะฉะนั้นสิ่งนึงที่ที่นี่ไม่เหมือนโรงเรียนคือเราไม่ต้องประเมินผล เราไม่มี certificate เรามีแต่หนังสือรวบรวมกระบวนการเรียนมอบให้ รายละเอียดอื่นๆ ของโรงเรียนเราก็อย่างเช่นว่า มีอาหารดี มีเครื่องดื่มดี แล้วก็มีที่ให้เขาแสดงออก ซึ่งก็คือการจัดนิทรรศการตอนเรียนจบ เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ เราไม่ต้องการห้องที่ปิดแล้วก็มีแต่เสียงพวกเรา นี่คือนิยามของโรงเรียนเรา

กนกนุช : ตอนตั้งชื่อ กว่าจะมาเป็น School of Design เราก็คิดนิยามไว้หลายคำ ลิสต์ออกมาหลายสิบชื่อเลย พยายามคิดคําที่เข้าถึงคนอื่นได้ ดูแล้วไม่เกร็งเกินไป เป็นชื่อที่ทุกคนได้ยินแล้วรู้สึกว่าสบายตัว กล้าเข้ามาอยู่กับพวกเราทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เรียนดีไซน์ สุดท้ายก็ใช้คำว่าโรงเรียน

สันติ : เราพอใจกับคําว่า ‘โรงเรียน’ แหละ เพียงแต่ว่าเป็นโรงเรียนในความหมายที่ไม่ได้มีรูปกาย มีแต่กระบวนการ มี ingredient ของมัน ก็พูดถึงจิตวิญญาณของโรงเรียนเราว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ตอนแรกผมกลัวหลายคำ กลัวคําว่าสอน กลัวคําว่าเรียน

ฟังดูก็เป็นคําเชิงบวก ทําไมกลัว

สันติ : เพราะเราก็ไม่ได้พยายามจะสอน กระบวนการคิดของเรามันเหมือนกับดีไซเนอร์กลุ่มนึงที่มาออกแบบกิจกรรมนึง แล้วก็สร้างประสบการณ์ให้กับคนที่เข้ามาร่วม มันถูกดีไซน์ไว้แล้วว่าคุณต้องทําอันนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ มันก็เลยไม่ใช่การสอน

กนกนุช : ยิ่งเราอยู่ในวงการสอน เวลาพูดถึงคําว่า ‘สอน’ คนที่มาเรียนเขาก็จะคาดหวังว่า วันนี้ฉันต้องมีอาจารย์มาบอกอย่างนี้แล้วฉันต้องเชื่อ พอนิยามว่าตัวเองเป็นผู้สอน มันก็จะมาพร้อมกับชุดคำและความรู้สึกที่ทำให้เขาไม่กล้าออกจากกรอบ แต่ตั้งแต่เราเปิดตัว เราบอกว่าเดี๋ยวเราเรียนรู้ไปด้วยกัน มันก็จะสบายตัวและรู้สึกว่าสิ่งที่เขามีมันก็ใกล้ๆ กับสิ่งที่เรามีนะ

สันติ : แต่อย่างที่บอก เราพยายามเลี่ยงแต่สุดท้ายก็ไม่เลี่ยง อย่างคําว่าโรงเรียนที่อยากจะเลี่ยง สุดท้ายก็ไม่เลี่ยง ชนมันเลย แต่ว่าให้นิยามกับมันด้วยตัวเองใหม่ คำว่าสอนกับคำว่าเรียนก็เหมือนกัน ตอนแรกไม่อยากใช้คําว่า ‘ผู้เรียน’ อยากเรียกว่า ‘ผู้เข้าร่วม’ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ซับซ้อนเข้าไปอีก สุดท้ายก็เรียกว่าผู้เรียน แต่เราแค่นิยามกันใหม่

กนกนุช : เราก็ทำให้คนเรียนเข้าใจนิยามคำว่า ‘สอน’ ของเรา ว่ามันคือการมาแบ่งปันประสบการณ์ เราเตรียมข้อมูลชุดนี้มาให้ ซึ่งคุณอาจจะยังไม่เคยเห็น

สำหรับคุณ ความท้าทายในการทำโรงเรียนแบบที่พวกคุณทำอยู่ตรงไหน

สันติ : มันชาลเลนจ์เราตรงที่ว่าเราจะสอนคนหรือเราจะเอาประสบการณ์ทางการออกแบบ หรือวิถีทางการออกแบบใส่เข้าไปให้ผู้คนต่างสาขา ต่างประสบการณ์ ต่างทักษะได้ยังไง

ย้อนกลับไป ถามว่าสาเหตุที่วิถีของ creative economy ในบ้านเรามันไม่ค่อยไปไหนเพราะอะไร เพราะว่าเราทำกันเอง เข้าใจกันเอง แต่จริงๆ แล้วพอลงไปถึงผู้คนโดยทั่วไปมันไม่สามารถที่จะคอนเนกต์หรือเอนเกจกับเรื่องนี้ได้มากนัก ดูการประกอบการของนักธุรกิจ ของผู้ประกอบการ ที่เอาดีไซน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีของการทำงานก็ยังไม่ได้มีมากนัก เรารู้สึกว่าพอยต์นี้เป็นพอยต์ที่ชาลเลนจ์พวกเรา

โจทย์สำคัญคือเราอยากเห็นคอร์สที่เรียนรวมกันได้ ตั้งแต่ดีไซเนอร์ระดับพระกาฬจนกระทั่งคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย เราสามารถบรรจุผู้คนในคลาสได้ตั้งแต่ผู้ใหญ่วัยเกษียณ จนถึงเด็กวัยประถมได้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2019 ที่เราเริ่มทำ จนถึงปี 2022 มันคือการทำเพื่อที่จะหาวิธี 

ปีนี้ก็เป็นคอร์สที่ 9-10 ของเราแล้ว ซึ่งคอร์สก่อนหน้านี้ถือเป็นคอร์ส pioneer ที่ทำแล้วมีทั้งที่ไม่เอาหรือเปลี่ยนแก้ proposal ของพวกเรานี่เขียนกันไม่รู้กี่ร้อยรอบแล้ว จนกระทั่งปีที่แล้วเริ่มนิ่งในแง่เป้าหมาย แล้วก็โชคดีที่เราก็ได้เจอกับเตย ซึ่งเขามาเรียนกับเราสองคอร์ส เราเชื่อว่าเขาก็เห็นอะไรบางอย่าง แล้วอาชีพเขาคือ facilitator ที่ทำเกี่ยวกับการศึกษาอยู่แล้ว เราก็เลยชวนเขามาช่วยเพราะเราอยากมีเมนคอร์ส จากตอนแรกใครอยากทําอะไร ใครอยากจะสอนอะไร ใครถนัดอะไร ก็ทำไป ซึ่งมันทำให้สะเปะสะปะเกิน แต่ถ้าเราจะพูดว่าเราจะนําทางทุกคน มันต้องมีหลักสูตรที่เป็น 101 คือเรียนเรื่องเบสิกก่อน ก่อนที่จะมาเรียนแบบยิบๆ ย่อยๆ เพราะฉะนั้นวิชาหลักของเราตอนนี้มีคอร์สเดียว นั่นคือคอร์สที่ชื่อ ‘Eveyone-O-One’ คือหลักสูตร 101 สําหรับทุกคน คือเป็นใครมาเรียนก็ได้ จะเป็นนักธุรกิจ นักกฎหมาย หรือเด็กก็ได้

การออกแบบวิชาสําหรับใครก็ได้ ต่างจากการออกแบบวิชาให้นักศึกษาที่เรียนในคณะที่สอนเรื่องการออกแบบยังไง

สันติ : ต่างกันตรงที่ว่าเราไม่ได้ทําให้เขาออกไปประกอบอาชีพนักออกแบบ เพราะฉะนั้นมันคงไม่ได้มาเป็นคอร์สแบบเรียนทำโปสเตอร์ ผู้ใหญ่จะมาเรียนทำโปสเตอร์ทำไม หรือคนเป็นทนายจะมาเรียนทำโปสเตอร์ทำไม คอร์สเราจึงต้องมานั่งคิดว่า เมื่อเสนอออกไปแล้วจะทำยังไงให้ทุกคนรู้สึกว่าฉันเกี่ยวข้องกับมันได้ เราจึงจะมองว่าเขาจะเอามันกลับไปใช้ยังไง ไม่ใช่การต้องทําให้เป็น แต่ว่าช่วยนำสิ่งนี้กลับไปผสมกับสิ่งที่ตัวเองมี คือเราจะค่อนข้าง concern กับสิ่งที่เขามีอยู่มากกว่า

ยกตัวอย่างถ้าเกิดเป็นเด็กมหาวิทยาลัยแล้วเราต้องสอนให้เขาดรอว์อิ้ง เราก็อยากให้เขาดรอว์อิ้งทุกอย่างได้เก่ง แต่อันนี้เราอาจจะดูว่าดรอว์อิ้งแบบไหนที่เขาจะได้นำไปใช้ ใช้ตอนที่ทำงานหรือใช้ตอนไหน เพราะฉะนั้นมันจะค่อนข้าง specific แล้วเราก็อาจจะสอนเขาหลายๆ อย่าง ให้เขาได้ทดลองหลายๆ อย่าง เพื่อเขาจะค้นพบว่าเขาเอาอันนี้ไปใช้งานได้

กนกนุช : มันขึ้นอยู่กับตัววัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นๆ ด้วย อย่างเช่นคอร์ส Eveyone-O-One ที่เป็นคอร์สเวอร์ชั่นเต็มของเราที่เรียน 12 ครั้ง ถ้าใครอยากเรียนรู้ประสบการณ์เวอร์ชั่นเต็มก็มาลงคอร์สนี้ เป็นไซส์ L แต่ถ้าสมมติว่าคุณมีเวลาแค่ไม่กี่ครั้ง เราก็มีคอร์สที่เป็นไซส์ M หรือเวลาน้อยเหลือเกินเราก็มีคอร์สที่เป็นไซส์ S 

เราจะใช้เวลาในการสื่อสารช่วงต้น ตอนที่เราปล่อยโพสต์ไปว่าคนที่มาเรียนจะได้เรียนรู้อะไร พอเรามีเป้าหมายที่ชัด กลุ่มคนที่มาเรียนก็จะรู้แล้วว่าเขากําลังทําอะไรอยู่ แล้วจะไปประยุกต์กับสิ่งที่เขาทําได้ยังไง รวมถึงเราก็จะมีแบบฟอร์มให้เขากรอกกลับมาว่าแต่ละคนมีพื้นฐานยังไง เขาคาดหวังอะไร เราสามารถทําการบ้านกับแต่ละคนก่อน พอเรารู้ข้อมูลเราก็จะปรับสิ่งที่สอนให้เข้ากับแต่ละคน เตรียมชุดเครื่องมือที่เหมาะกับเขา ตัวอย่างงานที่เหมาะกับเขา 

สมมติว่าเป็นนักธุรกิจ เราก็ตั้งสมมติฐานกับทีมงานว่าเขาอาจจะเอาไปใช้ ไปไกด์ทีมงานเขา หรือเขาอาจจะเคยปล่อยสื่อออกมาแล้วมันอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายเพราะอะไร ก็คือมีรายละเอียดการสอนที่จะแมตช์กันไประหว่างสิ่งที่เขาทำกับสิ่งที่เขาจะได้มีประสบการณ์กับเรา

ความยากของการสอนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีทักษะการออกแบบเป็นทุนคืออะไร

สันติ : จุดแรกๆ ที่ยากเพราะว่าเราต้องไม่สอนเทคนิค ต้องไม่สอนสิ่งที่เป็นปลายน้ำ เราต้องพยายามกลับเข้ามาว่าหัวใจสําคัญของการออกแบบมันเหลือแค่ไหนที่จะพอดี เข้ากับทุกคนได้ แล้วจากนั้นก็จะไม่ยากแล้ว 

ผมคิดว่าที่ยากมากๆ ก็คือมายด์เซตของพวกเรา เราต้องยอมรับหรือให้ความสําคัญกับสิ่งที่เขาติดตัวมา แล้วเราทําหน้าที่แค่เป็นบางอย่างที่เข้าไปหล่อเลี้ยงหรือเข้าไปเติม ผู้สอนจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่แบบไปบอกว่าฉันรู้ คุณต้องเป็นแบบนี้ มันจึงยากในแง่ของการทําความเข้าใจเนื้อหาและสิ่งที่จะสอนให้ดี แม่นยํา เพื่อที่จะได้ด้นอย่างถูกจังหวะ คุยๆ อยู่เราต้องหาให้พบว่ากระบวนการออกแบบเรื่องไหนที่เกี่ยวกับเขา และเราต้องเดาหรือสืบค้นให้ได้ด้วยว่าเขามาเรียนทําไม เพราะนั่นมันเป็น purpose ของเขา แล้วมันเป็นงานดีไซน์ของเรา งานดีไซน์เราต้องตอบ purpose เขา ไม่งั้นก็ล้มเหลว

กนกนุช : มันจะอยู่ในแบบฟอร์มว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร สิ่งที่คุณคิดว่าผู้สอนควรจะรู้คืออะไร อย่างบางคนที่ไม่มั่นใจมากๆ เขาจะบอกว่าเป็นคนอินโทรเวิร์ต เราก็ได้รู้ว่าเราไม่ต้องไปบี้เขามาก แต่ทุกคนที่บอกว่าเป็นอินโทรเวิร์ตพูดเก่งทุกคนเลย กลายเป็นว่าเขาบอกว่าที่นี่ทำให้เขาสบายตัว

นักศึกษาที่เรียนออกแบบยังใช้เวลาเรียนในมหาวิทยาลัยตั้ง 4 ปี ทําไมถึงเชื่อว่าช่วงระยะเวลาเรียนเพียง 12 ครั้ง จะเปลี่ยนคนคนนึงให้มีทักษะในการออกแบบได้

สันติ : สิ่งที่เราขายไม่ใช่ทักษะ แต่คือมายด์เซ็ต เพราะว่ามายด์เซตคือสิ่งสําคัญที่จะนําไปสู่ทักษะ 

ทักษะวันนี้คุณสามารถสร้างได้ด้วยตัวคุณเอง เพราะฉะนั้นมันจึงต่างจากการเรียนในระบบมากๆ ที่เราอาจจะพยายามยัดหรือป้อนทักษะ ซึ่งไม่รู้ว่ามันจะหมดอายุไหม 

จริงๆ ก่อนที่จะสร้างทักษะผมคิดว่ามันต้องสร้างมายด์เซตให้เกิดขึ้นก่อน นักเรียนออกแบบต้องเชื่อก่อนว่าการออกแบบมันมีประโยชน์มากๆ ไม่ต้องกับอาชีพ แต่กับตัวคุณเดี๋ยวนี้เลย ถ้าคุณเชื่อ คุณก็จะไปทําให้คนอื่นเชื่อ ถ้าคุณเชื่อคนอื่นก็จะเชื่อว่ามันมีค่า แต่ถ้าคุณไม่เชื่อว่ามันมีค่าคนอื่นก็จะไม่เชื่อคุณ นี่คือเรื่องพื้นฐาน 

สมมติถ้าคุณจบไปแล้วบอกว่าแม่งโคตรดีเลยนะดีไซน์ มันเห็นเลยว่าไอ้นี่ทําอย่างนั้นได้ ไอ้นั่นทำอย่างนี้ได้ แล้วคุณก็โอบรับมัน เท่านั้นแหละ คุณก็จะได้เริ่มออกแบบแล้ว ส่วนคุณจะออกแบบได้ดีหรือไม่ดี ไม่มีใครการันตีในระยะเวลาอันสั้น ต่อให้คุณเรียนมา 4 ปีก็ตาม แต่คุณโอบรับวัฒนธรรมการออกแบบเข้ามาไว้ในชีวิตประจําวันแล้ว และนี่เป็นเรื่องที่ดีที่สุด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรา concern ไม่ใช่เรื่องสกิลแน่ๆ

เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าผู้ที่มาเรียนกับเราแล้วมีมายด์เซตที่ดีต่อการออกแบบ ผมคิดว่าชีวิตเขาจะเปลี่ยนไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเขาได้ทักษะไป ผมไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่าเขาจะได้ใช้มันหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมีอาจารย์บางคนที่เป็นเพื่อนผมเขาแซวพวกเราว่า พวกเราคือสํานักกําลังภายใน ไม่ได้สอนกระบวนท่า เราสอนลมปราณ

กนกนุช : ตัวพวกเราเองพยายามเน้นเรื่องของคุณค่า แล้วคิดว่าสิ่งที่เราให้เขาก็จะทําให้เขาเห็นคุณค่าของงานออกแบบรอบตัวหรือกระบวนการออกแบบมากขึ้น แล้วหนึ่งในการประมวลผลที่เป็นรูปธรรมก็คือการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่เป็นของเขาเอง ซึ่งเราไม่ได้จํากัดรูปแบบ จากประสบการณ์ระหว่างทางที่เรียน 11 ครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงครั้งที่ 12 เขาได้อะไรไปก็นําเสนอในแบบที่เขาอยากลองทํา

ตอนที่พวกคุณตัดสินใจจะเปิดโรงเรียนได้คิดในมุมการอยู่รอดทางธุรกิจบ้างมั้ย

สันติ : จริงๆ ก็แอบคิดอยู่ตลอด เรามีวิธีดีไซน์การอยู่รอด ยกตัวอย่างเช่นเรามองมันเป็นงานสอง พอปัดไปเป็นงานสองมันก็ไม่ต่างกับการที่เรากําลังใช้เงินก้อนนึงสร้างกิจกรรมบางอย่าง แล้วมันทําให้เราพัฒนาตัวเอง อันนี้คือการบิดมุมมอง การทำโรงเรียนนี้คือ second job แต่เป็นแบบ quality second job

ผมมองว่าคนเราเวลาลงทุนทําธุรกิจด้วยกันก็คงคาดหวังว่าจะได้รับ benefit บางอย่าง ผมคิดว่าพวกเราก็ไม่ต่างกัน ตรงที่ว่าทุกคนมาลงทุนด้วยแรงก็ดี ด้วยเงินก็ดี ด้วยสมองก็ดี benefit ที่ได้รับคือพวกเราอยากได้ learning อยากได้ประสบการณ์บางอย่างที่เติมกลับเข้าไปในวิชาชีพหรืออาชีพหลักของตัวเอง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทําให้ทุกวันนี้ทุกคนยังคุ้มอยู่

ผมว่าในสเตปที่หนึ่งเราต้องตอบตรงนี้ให้ได้ก่อนว่าหุ้นส่วนทุกคนจะต้องได้รับปันผลทางใจ หรือทางความรู้ หรือทางประสบการณ์ มันต้องคืนตรงนี้ให้ได้ก่อน เมื่อคืนตรงนี้ได้ สเตปที่ 2 ก็คือทําให้การทําสิ่งนี้ไม่ต้องควักเนื้อ ก็คือมีเงินที่ดูแลมัน แล้วก็สเตปที่ 3 ก็คือทําให้มันเกิดผลกําไรทางการเงิน นี่คือแผนที่เราคุยกันเมื่อต้นปี

3 ปีที่ผ่านมาเราซื้ออันแรกได้แล้ว ทุกคนยังอยากมาอยู่ คุยเฮฮากัน ยังคิดนู่นคิดนี่ ซึ่งเราหาสิ่งนี้ไม่ได้จากงานประจํา เพราะงานประจํามันตึงมาก แล้วถ้าเรามาตึงเหมือนงานประจํา มันก็กลายเป็นว่าทุกคนจะมาเพื่อเงินเหมือนเดิม ถ้ามาเพื่อเงินปุ๊บมันก็จะไม่เกิดอารมณ์นี้ สุดท้ายทุกคนก็จะกลับมาถามตัวเองว่าฉันจะทําทําไมวะ ในเมื่องานจ๊อบแรกก็ได้เงินเหมือนกัน มันก็จะพัฒนาเป็นสเตปไป ทุกคนก็เห็นด้วยว่า ท้ายที่สุดเราก็ต้องพาโรงเรียนของเราให้ไปถึงจุดที่มันได้ปันผลหรือว่าได้ตัวเลขที่เป็นตัวเงิน เพื่อที่เราจะได้ขยับขยาย ทําให้มันสวยงามขึ้นได้ เพื่อมีอีกเหตุผลนึงให้ตัวเองด้วยว่าทําไมฉันยังทํามันอยู่

จากวันแรกจนถึงวันนี้ ระหว่างทางมีอะไรที่ช่วยตอกย้ำความเชื่อของพวกคุณบ้างไหม

กนกนุช : ตั้งแต่จุดตั้งต้นที่เราอยากเป็นพื้นที่ที่คนได้มาแลกเปลี่ยนกันแล้วก็ไปต่อ ช่วยกันส่งเสริม เรารู้สึกว่าทุกวันนี้มันเป็นสิ่งนั้นแล้ว ตอนแรกเราไม่คิดว่าฐานคนที่มาเรียนมันจะกว้างได้ขนาดนี้ มีตั้งแต่เด็กเล็ก 4-5 ขวบจนถึงคนวัยเกษียณ ในแง่อาชีพก็มีตั้งแต่อาชีพนักออกแบบ ศิลปิน นักเขียน นักธุรกิจ คนจบกฎหมาย วิศวกรรม จิตวิทยา แล้วเวลาฟังฟีดแบ็กจากพวกเขาเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราอยากได้ เรามีความสุขกับมัน

สันติ : มีสองเรื่องที่ตอกย้ำ ก็คือเรื่องที่หลังกลับจากสอนทุกครั้งผมยังแฮปปี้ มันมีความรู้สึกที่บอกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องสําหรับเรา ตอนมาก็สดชื่น กลับไปสดชื่น ไม่มี toxic 

กับอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกพลังให้เราสูงมากก็คือฟีดแบ็กที่ดีมากๆ ที่บอกเราแบบเปิดเผย หลายคําที่เขาใช้มันดี เช่น นี่คือคอร์สเปลี่ยนชีวิต คอร์สที่มอบดวงตาใหม่ เสาร์ที่รอคอย มันเป็นคําที่เราฟังแล้วตื้นตัน เราสอนหนังสือมามันไม่ค่อยมีฟีดแบ็กจากนักเรียนว่าที่ทําไปเป็นยังไงบ้าง แต่พอมาทําตรงนี้เราได้รับพลังกลับคืน นั่นหมายความว่าเราน่าจะกําลังมาถูกทิศแล้ว

ถูกทางหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่หันหน้าถูกทิศแล้ว

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG